กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.เผยความต้องการใช้เหล็กไทยครึ่งปีแรกปีนี้อยู่ที่ 8.78 ล้านตัน ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลัง ศก.และการลงทุนก่อสร้างชะลอตัว โอดยังเจอทุ่มตลาดซ้ำเติม แนะรัฐเร่งไต่สวนกรณีที่ยังค้างอยู่ และเร่งทบทวนเก็บอากรทุ่มตลาดอย่างจริงจัง
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยครึ่งปีแรกของปี 2565 มีปริมาณความต้องการใช้สินค้าเหล็กสำเร็จรูปทั้งหมด 8.78 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ประมาณ 13% จากภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนก่อสร้างในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตจริงของอุตสาหกรรมเหล็กไทยอยู่ที่เพียง 33.3% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำมากๆ ในขณะผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยต้องเผชิญกับต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจาก (1) ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น 39.97% และ (2) ราคาวัตถุดิบที่ผู้ผลิตได้สั่งซื้อไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตในประเทศไทยได้ปรับราคาขายสินค้าเหล็กให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดเหล็กโลกซึ่งอ่อนตัวลงแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการส่งออกเหล็กในราคาต่ำมากหลังจากจีนมีการล็อกดาวน์เมืองต่างๆ จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อในจีนลดลง ขณะเดียวกันยังมีกรณีที่รัสเซียส่งออกเหล็กสำเร็จรูปราคาต่ำมายังภูมิภาคเอเชียเพราะถูกมาตรการคว่ำบาตรที่ไม่สามารถส่งไปยังยุโรปได้ โดยพบว่าเริ่มมีการทุ่มตลาดแบบไม่เป็นธรรมจึงเห็นควรที่ไทยจะเร่งไต่สวนกรณีที่ยังค้างอยู่และเร่งทบทวนเก็บอากรทุ่มตลาดอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันผลกระทบจากสินค้าเหล็กทุ่มตลาดที่ทะลักเข้ามายังประเทศไทย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก หรือ WTO ระบุว่าในปี 2564 มีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากลุ่มเหล็กและโลหะพื้นฐาน สูงมากที่สุดในรอบ 26 ปี จำนวนมากถึง 122 มาตรการ และหากพิจารณาเฉพาะสินค้าเหล็กสำเร็จรูปในปี 2563 มีการพิจารณาเปิดไต่สวนมาตรการถึง 63 กรณี ซึ่งหลายกรณีได้มีการเร่งบังคับใช้ทันตั้งแต่ปี 2564 และบางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวน โดยปี 2564 ประเทศไทยก็มีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การค้าสินค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรมเพียงแค่ 4 รายการสินค้า และในบางรายการสินค้าเหล็ก กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการเก็บอากรทุ่มตลาด 0% เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ราคาสินค้าเหล็กในตลาดโลกในขณะนั้น แต่ปัจจุบันราคาสินค้าเหล็กได้ปรับลดลงแล้ว และปรากฏมีการทุ่มตลาดที่ไม่เป็นธรรมจริงจึงควรเร่งดำเนินการ
“ราคาสินค้าเหล็กสำเร็จรูปในภูมิภาคเอเชียปรับลดลง 3.2%-4.9% ในเดือนมิถุนายน 2565 และลดลงอีก 5.2%-16.3% ในเดือนกรกฎาคม และพบมีการทุ่มตลาดที่ไม่เป็นธรรมจึงควรป้องกันผลกระทบจากการเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยอยู่ไม่ไกลจากประเทศจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กใหญ่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก โดยสองประเทศนี้ผลิตเหล็กออกมาเกือบ 1,200 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 62% ของการผลิตเหล็กทั้งโลก และจีนมีการส่งออกเหล็กรวมถึง 34.25 ล้านตันและส่วนใหญ่มีราคาต่ำมาก” นายนาวากล่าว
นายนาวากล่าวอีกว่า ขอสนับสนุนรัฐบาลที่ได้ริเริ่มและดำเนินนโยบายให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต้องใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศเป็นลำดับแรกก่อน และขอเสนอให้มีการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กที่มีกำลังการผลิตเกินความจำเป็น (Overcapacity) ที่จะนำไปสู่แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0