xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม ปตท.ตุนกำไรครึ่งปีแรก 1.5 แสนล้านบาท จับตา Q3/65 ศก.ชะลอตัวฉุดค่าการกลั่น-ปิโตรเคมีหด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



7 หุ้นกลุ่ม ปตท.โชว์ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2565 มีหลายบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตขึ้น นำทีมโดย บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่มีกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 สืบเนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย และได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ดีดตัวสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้ออยู่

ขณะที่กลุ่มบริษัทในเครือ ปตท.อย่าง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กลับได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงการบันทึกขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยง ขาดทุนจากการทำสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้กำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ไม่สดใสเท่าไรนัก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2565 กลับพบว่ามีผลประกอบการเติบโตขึ้น เว้นแต่ PTTGC ที่กำไรสุทธิในไตรมาส 2/2565 ต่ำกว่าไตรมาส 1/2565

อย่างไรก็ดี PTT และบริษัทในเครือมีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกปี 2565 รวมทั้งสิ้น 150,382 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9.21% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 137,711 ล้านบาท นำทีมโดย TOP ที่โชว์ฟอร์มทำกำไรได้สูงถึง 32,510 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 493% เช่นเดียวกับ PTTEP มีกำไรสุทธิ 31,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.7% ส่วน OR ก็มีผลงานที่โดดเด่น ทำกำไรสุทธิในช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 10,413 ล้านบาท โตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 44% ขณะที่ PTT มีกำไรสุทธิสูงถึง 64,419 ล้านบาท โตขึ้น 12.7% เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกปี 2564

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/2565 ของกลุ่ม ปตท. แม้ว่าหลายบริษัทในเครือฯ จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงและการขาดทุนจากการทำประกันความเสี่ยง (เฮดจิ้ง) แต่เมื่อรวมผลกำไรสุทธิของหุ้น 7 บมจ.พบว่ามีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 97,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.98% เมื่อเปรียบเทียบจากไตรมาส 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิรวมเพียง 68,978 ล้านบาท โดยบริษัทที่กำไรไตรมาส 2/2565 เพิ่มขึ้นยังคงเป็น PTT, PTTEP, TOP และ OR ขณะที่ PTTGC, IRPC และ GPSC มีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564


 


อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า กำไรในช่วงครึ่งปีแรกของ ปตท.อยู่ที่ 64,419 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 5% ของยอดขายรวม 1.69 ล้านล้านบาท โดยกำไรดังกล่าวมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท.เอง คิดเป็นสัดส่วนเพียง 24% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามราคา LNG ในตลาดโลก ทำให้กระทบต่อกำไรขั้นต้นของธุรกิจจัดหาและจำหน่ายก๊าซฯ

ส่วนที่เหลืออีก 76% มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมคิดเป็นสัดส่วน 31% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่นๆ 17% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 16% สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมีสัดส่วน 12%

ทั้งนี้ ปตท.มีรายได้จากการขายในช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 1,685,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน
674,326 ล้านบาท หรือโตขึ้น 66.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาจากทุกกลุ่มธุรกิจไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก ส่วนกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีรายได้เพิ่มขึ้นตามราคา Pool Gas แต่ปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวที่ผลิตได้ลดลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการในสัมปทานใหม่ของโครงการ จี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้า IPP ปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยเรียกรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมากขึ้น รวมทั้งใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลในการเดินโรงไฟฟ้าทดแทนการใช้ก๊าซฯ เนื่องจากราคา LNG นำเข้าปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ปริมาณขายก๊าซฯ ให้ลูกค้าโรงไฟฟ้าลดลงและปริมาณการขายก๊าซฯ ให้โรงแยกก๊าซฯ ก็ลดลงตามปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวด้วย


ส่วนกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) มีรายได้จากการขายที่สูงขึ้นทั้งราคาและปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่หนุนให้ ปตท.มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 325,469 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.6% โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่เพิ่มขึ้น

อรรถพลมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 3/2565 คาดว่าจะชะลอการฟื้นตัวลงจากไตรมาส 2/2565 สืบเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่อแววจะชะลอตัวตามกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนแอลง และนโยบายการเงินที่เข้มขึ้นหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.75 สู่ระดับร้อยละ 2.25-2.50 ในการประชุมเฟดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รวมทั้งเศรษฐกิจจีนเจอแรงกดดันจากการปิดเมืองภายใต้นโยบายการจัดการโควิด-19 เป็นศูนย์ รวมถึงการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยสหภาพยุโรปสั่งห้ามนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียจะเริ่มมีผลบังคับใช้กลางเดือนสิงหาคม 2565 ทำให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอียูอาจเผชิญวิกฤตพลังงานครั้งสำคัญหากประเทศรัสเซียยุติการส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ผนวกกับโลกยังมีความเสี่ยงจากภาวะการเงินที่อาจตึงตัวอย่างรวดเร็ว และการขาดแคลนอาหารที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในไตรมาส 3/2565 จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนราว 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 100.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยกดดันทำให้หลายประเทศทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทำให้กดดันความต้องการใช้น้ำมัน โดยประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3 นี้อยู่ที่ 101-106 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ PTTEP ยังมีผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ขณะที่ค่าการกลั่นส่อแววลดลงจากไตรมาสก่อน คาดว่าค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เฉลี่ยที่ 11.5-12.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากไตรมาส 2/2565 หลังเผชิญแรงกดดันจากอุปทานใหม่ที่เพิ่มเข้ามา

ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ในไตรมาส 3/2565 ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบและแนฟทา คาดว่าปรับลดราคาลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยราคาเม็ดพลาสติก HDPE และ PP ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,220-1,240 เหรียญสหรัฐต่อตัน และ 1,240-1,260 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ จากกำลังซื้อที่ส่อแววลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะเดียวกันเม็ดพลาสติกจากโรงงาน PRefChem ประเทศมาเลเซียจะเข้าสู่ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ก็จะมีผลกระทบต่อบริษัทในเครือ ปตท.ไม่ว่าจะเป็น PTTGC IRPC รวมถึง TOP แต่ก็โชคดีที่มีบางโรงงานลดกำลังการผลิตเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงฉุดกำไรให้ต่ำลง

ด้านราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์มีแนวโน้มลดลง โดยราคาสารเบนซีน (BZ) คาดว่าเฉลี่ย 1,110-1,130 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาพาราไซลีน (PX) เฉลี่ยอยู่ที่ 1,130-1,150เหรียญสหรัฐต่อตันตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งถูกกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ในจีนเข้ามาเสริม


 ศก.ชะลอตัวฉุดการใช้น้ำมันลด

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3/2565 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่ส่อแววชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตื่นตัวจากกำลังการผลิตส่วนเกินของกลุ่มโอเปกผลิตส่วนเกินในระดับจำกัด รวมถึงความไม่แน่นอนของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศลิเบียและไนจีเรียที่อาจจะปรับลดลงจากสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ขณะที่กำลังผลิตน้ำมันจากอิหร่านคงยังไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ หลังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์

ส่งผลให้ค่าการกลั่นในไตรมาส 3/2565 ส่อแววปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากความกังวลเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และแรงกดดันจากโรงกลั่นน้ำมันหลายประเทศที่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2565 ซึ่ง TOP เองก็มีแนวโน้มถูกกดดันจากค่าพรีเมียมน้ำมันดิบที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่า TOP มีค่าการกลั่นที่อ่อนตัวลงในไตรมาส 3/2565 แต่ก็ยังเป็นระดับที่สูงกว่าปกติ ซึ่งในอนาคต TOP มีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังกลั่นอยู่ที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากโครงการพลังงานสะอาด (CFP) แล้วเสร็จในต้นปี 2567 นับเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งต่อยอดไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดย TOP ได้เข้าไปลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) บริษัทปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต

ล่าสุด TOP จะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนฯ ขายให้แก่ประชาชนและผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อนำเงินบางส่วนไปชำระคืนหนี้ให้ ปตท.และสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อใช้ในการลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ทำให้ TOP มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นรองรับการลงทุนในอนาคตได้


จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า ในปี 2565 IR ทบทวนเพิ่มงบลงทุนในปี 2565 จากเดิม 26,949 ล้านบาท เพิ่มเป็น 40,494 ล้านบาท ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มการร่วมทุนในกลุ่มธุรกิจ Lifestyle และ Global ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาประมาณ 2-3 โครงการ คาดว่าจะทยอยปิดดีลได้ในปีนี้ โดยปีนี้ OR ได้ร่วมทุนกับพันธมิตร เช่น การลงทุนในบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (KNEX) ผู้ประกอบกิจการร้านสะดวกซักภายใต้แบรนด์ Otteriwash&dry และการลงทุนใน Loka Holdings (Traveloka) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ OR ยังได้ลงทุนใน บริษัท โพลาร์ แบร์ มิชชั่น จำกัด (“freshket”) ซึ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร (Food Supply Chain Service) รวมทั้งบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม
อีกทั้งยังเร่งขยายเครือข่ายสถานี EV Station PluZ การติดตั้ง Solar Rooftop ด้วย

ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2565 OR มีรายได้ขายและบริการ 211,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและมีกำไรสุทธิ 6,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.65% จากไตรมาส 2/2564 เป็นการเติบโตในทุกกล่มธุรกิจตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global เพิ่มจากปริมาณการขายน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเตาในตลาดพาณิชย์เป็นหลัก รวมทั้งผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่ม เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ก็มีรายได้ขายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ทั้งในส่วนของกลุ่มค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และอื่นๆ

สำหรับครึ่งหลังปี 2565 OR มีรายได้ของกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global เติบโตต่อเนื่องหลังการใช้น้ำมันฟื้นตัวและปลายปีเป็นช่วงวันหยุดยาวทำให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ที่ OR มีแผนร่วมลงทุน (JV) และควบรวมกิจการกับพันธมิตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีในครึ่งปีหลังนี้ ส่อแววที่ราคาผลิตภัณฑ์พลาสติกจะอ่อนตัวลงได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาด การล็อกดาวน์ในจีนเพื่อสกัดโควิด-19 รวมทั้งมาตรการสกัดเงินเฟ้อจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวกระทบความต้องการใช้เม็ดพลาสติกที่จะมีผลกระทบต่อ IRPC และ PTTGC แต่คงไม่มาก เนื่องจากการขาดทุนจากการทำประกันความเสี่ยงน่าจะลดลงในครึ่งหลังปี 2565 ขณะเดียวกัน ทั้งสองบริษัทได้ดำเนินการต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษที่มีมาร์จิ้นสูงขึ้น รวมทั้งพัฒนาสินค้าไปสู่การใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งใช้ในอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์และอื่นๆ ด้วย


ลุ้น GPSC โชว์ฟอร์มดีขึ้นในครึ่งหลังปี 65

ด้าน GPSC แกนนำธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่ม ปตท.ที่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง โดยกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า SPP ลดลง 4,889 ล้านบาท ขณะที่กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มขึ้น 613 ล้านบาท จากรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment: EP) สอดคล้องกับแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. และได้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเพิ่มขึ้น จากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้ครึ่งปีแรก GPSC มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 997 ล้านบาท ลดลง 77% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2564

คาดว่าครึ่งหลังปี 2565 GPSC จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นหลังจากมีการปรับขึ้นค่า Ft แบบขั้นบันไดและรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีที่เป็นช่วงไฮซีซัน นอกจากนี้ GPSC มุ่งมั่นเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 50% ในปี ค.ศ. 2030 พร้อมกับมองหานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น แบตเตอรี่ที่จะมาเพิ่มประสิทธิภาพของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และศึกษาความเป็นไปได้ในการนำก๊าซไฮโดรเจนเข้ามาเป็นส่วนผสมในตัวเชื้อเพลิง เพื่อทำการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ ลดการเกิดคาร์บอนฯ โดยคาร์บอนที่สามารถลดได้จะนำไปสู่การซื้อขายในตลาด (Carbon Credit) ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น