xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกับดักหนี้พลังงานกว่า 2 แสนล้าน พิษอุ้มดีเซล-LPG-ค่าไฟ ทำใจทยอยจ่ายคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาน้ำมันตลาดโลกในระยะนี้ยังคงผันผวนสูง โดยช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการอ่อนตัวลงหลังตลาดกังวลถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะก้าวสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยเฉพาะเศรษฐกิจพี่เบิ้มอย่าง สหรัฐอเมริกา .... จึงทำให้ระดับราคาขายปลีกน้ำมันของไทยโดยเฉพาะกลุ่มเบนซินได้เห็นผู้ค้าน้ำมันประกาศปรับราคาลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2565 จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 9 ส.ค. ราคากลุ่มเบนซินจากที่เคยขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดได้ปรับลดแล้วกว่า 8 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมามองราคาขายปลีกดีเซลที่ล่าสุดยังคงทรงตัวระดับ 34.94 บาทต่อลิตรต่อเนื่องมา 8 สัปดาห์นั้น แม้ว่าจะมีข่าวดีที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงควักจ่ายอุดหนุนดีเซลลดลงต่อเนื่องจากราคาดีเซลตลาดสิงคโปร์ที่ลดลงจนทำให้เหลืออุดหนุน ณ วันที่ 9 ส.ค. 65 เพียง 0.24 บาทต่อลิตรจากที่เคยควักจ่ายอุดหนุนสูงสุด ณ วันที่ 23 มิ.ย. 65 ที่อยู่ระดับ 11.67 บาทต่อลิตร ....และวันที่ 10 ส.ค. คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็เห็นชอบให้เรียกเงินเก็บคืนกองทุนในส่วนของดีเซลลิตรละ 0.95 บาท จากระดับราคาดีเซลตลาดสิงคโปร์ที่ร่วงลงแรงกว่า 6 เหรียญต่อบาร์เรล ต่อมามีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากดีเซลเป็น 1.20 บาทต่อลิตร มีผล 11 ส.ค.

อย่างไรก็ตาม หากหันมามองฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 7 ส.ค. 65 ก็กลับติดลบสุทธิแล้วถึง 117,229 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 76,784 ล้านบาท และบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบ 40,445 ล้านบาท…ภาระที่ติดลบดังกล่าวมาจากการที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักจ่ายในการตรึงราคา LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ไม่รวมค่าขนส่งและค่าบริการของแต่ละร้านค้า) โดยเริ่มอุดหนุนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นจึงทำให้กองทุนฯ ต้องเริ่มควักจ่ายตรึงดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรที่รัฐหวังดูแลเศรษฐกิจที่เพิ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางระดับน้ำมันโลกที่ขยับต่อเนื่องและถูกซ้ำเติมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ที่มีสะสมไว้ก้นถุงเกือบ 4 หมื่นล้านบาทต้องหมดไปอย่างรวดเร็วและเริ่มติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปี ณ วันที่ 12 ธ.ค. 2564 กองทุนน้ำมันติดลบ 1,633 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันลบ 20,198 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 21,831 ล้านบาท

ขยับราคา LPG-เพิ่มเพดานดีเซล

ผลจากภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่รัฐใช้ดูแลราคาดีเซลและ LPG ที่ติดลบนำมาสู่การทยอยปรับราคา LPG ในที่สุด โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ไฟเขียวให้ขยับราคาขึ้นเดือนละ 1 บาทต่อ กก. หรือ 15 บาทต่อถัง 15 กก. เป็นเวลา 3 เดือน (เริ่ม 1 เม.ย.-มิ.ย. 65) และมีมติอีกครั้งให้ขยับต่ออีก 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย. 65) โดยจะส่งผลให้ราคา LPG ถัง 15 กก.ในเดือน ก.ย. 65 นี้จะไปอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กก.

ขณะที่การตรึงราคาดีเซลขายปลีกไว้ที่ 29.94 บาทต่อลิตรก็สิ้นสุดลงเมื่อ กบง.เห็นชอบให้กำหนดเพดานใหม่ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2565 เป็นไม่เกินลิตรละ 35 บาท โดยให้ยึดหลักตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ส่วนเกินลิตรละ 30 บาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่งประชาชนจ่ายอีกครึ่งหนึ่งและราคาขึ้นตามจริงครึ่งหนึ่ง โดยระยะแรกได้ขยับเพดานดีเซลขึ้น 2 บาทต่อลิตรเป็น 31.94 บาทต่อลิตรมีผล 1 พ.ค. ต่อมาขยับเป็น 32.94 บาทต่อลิตรมีผล 31 พ.ค. และ 7 มิ.ย.ขยับสู่ระดับ 33.94 บาทต่อลิตร และ 14 มิ.ย.ปรับเป็น 34.94 บาทต่อลิตรและยืนราคาดังกล่าวต่อเนื่องมาสู่สัปดาห์ที่ 8

เมื่อดูการอุดหนุนดีเซลที่ล่าสุดเริ่มดีขึ้นตามลำดับจากที่เคยอุดหนุนระดับสูงเริ่มไต่ระดับลดลงจากพลิกกลับมาเรียกเก็บคืนกองทุนน้ำมันฯ ได้ ณ วันที่ 10 ส.ค. อย่างน้อยก็จะทำให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ดีขึ้น ดังนั้นหากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงมีลุ้นที่จะได้เห็นโอกาสและจังหวะการเก็บเงินสะสมเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่จะทยอยชดใช้หนี้ที่มีอยู่เพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่งจากนั้นคาดว่าทาง กบน.คงจะจัดสรรบางส่วนไปปรับลดราคาขายปลีกให้กับประชาชนได้ในระยะต่อไป .....ขณะที่ LPG ณ 9 ส.ค.ยังคงอุดหนุนอยู่ถึง 9.69 บาทต่อ กก. คงจะต้องติดตามท่าที กบง.ว่าจะขยับราคา LPG ต่ออีกหรือไม่ ....อย่างไรก็ตามนับเป็นสัญญาณที่ดีที่กองทุนน้ำมันฯ จะเริ่มมีสภาพคล่องมากขึ้น




กฟผ.กับภาระแบกค่าไฟแสนล้านบาท

มาดูฟากค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน รัฐโดยการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการบริหารจัดการมาอย่างต่อเนื่องที่จะดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบเพื่อประคองเศรษฐกิจ โดยตลอดปี 2564 มีการเกลี่ยค่าเอฟทีคงที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วยหรือรวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.61 บาทต่อหน่วย จากนั้นค่าเอฟทีประเดิมงวดแรกปี 2565 (ม.ค.-เม.ย. 65) ก็ต้องปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วยรวมค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย และขยับอีกครั้งในงวด พ.ค.-ส.ค. 65 มาสู่ระดับ 24.77 สตางค์ต่อหน่วยหรือรวมค่าไฟฐานจ่ายที่ 4 บาทต่อหน่วย

การบริหารจัดการดังกล่าวไม่ได้สะท้อนต้นทุนทั้งหมด แต่หากให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงบางส่วนไว้โดยเริ่มตั้งแต่งวด 3/64 (ก.ย.-ธ.ค. 64) งวด 1/65 (ม.ค.-เม.ย.) และงวด 2/65 (พ.ค.-ส.ค.) เป็นเงินรวมกับอัตราดอกเบี้ยที่กู้เสริมสภาพคล่องแล้วราว 1 แสนล้านบาท … และล่าสุดเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค. 65 มติบอร์ด กกพ.เห็นชอบเมื่อ 27 ก.ค.ให้ปรับขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วยหรือเอฟทีจะอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมค่าไฟฐานค่าไฟเฉลี่ยรวมจะเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย หลังจากที่สำนักงาน กกพ.เปิดรับฟังความเห็นให้ประชาชนเลือก 3 แนวทางหลักเมื่อ 21-25 ก.ค. ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือเป็นการขึ้นต่ำสุดบนเงื่อนไข กฟผ.ยังต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนจำนวน 83,010 ล้านบาท

ทั้งนี้ กฟผ.ได้ชี้แจงถึงความพยายามในการบริหารจัดการไฟฟ้าซึ่งรวมถึงการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องที่ดำเนินการแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลังจึงจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ รวมไปถึงข้อเสนอแนะการนำกำไรสะสมของ กฟผ. ที่มี 3.29 แสนล้านบาทมาชดเชยค่าเชื้อพลิงที่เพิ่มขึ้นนั้น กฟผ.ก็ยืนยันว่ากำไรสะสมที่ปรากฏในงบแสดงฐานะทางการเงินนั้นไม่ใช่เงินสด แต่เป็นการแสดงตัวเลขสะสมของมูลค่าสินทรัพย์ที่ กฟผ.นำกำไรส่วนที่เหลือจากการนำส่งกระทรวงการคลังในแต่ละปีไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ที่ใช้ผลิตและส่งไฟฟ้าให้แก่ประชาชน เช่น โรงไฟฟ้า สถานีส่งไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเกิดกระแสข่าวที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้หารือกับ กกพ.ขอให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการชะลอการปรับขึ้นและหากจำเป็นต้องปรับขึ้นต้องหามาตรการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบางทำให้ประชาชนสับสนว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นแน่ ..... เพราะหากไม่ขึ้นจำเป็นต้องมีงบประมาณมาอุดหนุนจำนวนมากซึ่งแน่นอนว่าช่วงนี้งบรัฐเองก็มีจำกัด ....

ดังนั้น ล่าสุดจึงเป็นการมอบให้ กกพ.ไปคิดว่าจะส่งเสริมให้ประชาชนประหยัดพลังงานโดยใช้ไฟฟ้าน้อยสุดก็จะได้รับการช่วยเหลืออย่างไร โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการดึงงบกลางปี 2565-66 วงเงินราว 7,000-9,500 ล้านบาทมาอุ้มโดยจะสรุปชัดเจนในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นวางไว้ 2 กรอบหลัก ได้แก่

1. ช่วยเหลือเหมือนกับงวดปัจจุบัน คือหากบ้านใดใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ค่าเอฟทีจะไม่ปรับขึ้น แต่กำลังดูรายละเอียดว่าการไม่ปรับขึ้นจะเปรียบเทียบกับงวดใด ระหว่างงวดที่ 1/65 ที่ค่าเอฟทีอยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย หรือเทียบกับงวดที่ 2/65 ที่เอฟทีอยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย แต่นั่นก็หมายถึงค่าไฟฟ้าเอฟทีของคนกลุ่มนี้ก็จะขึ้นมาราว 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และ 2. การขยายช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในหน่วยที่ 301-500 หน่วยต่อเดือน ในส่วนนี้หากเปรียบเทียบเฉพาะงวด 2/65 ก็จะใช้เงินช่วยเหลือเพิ่มอีกราว 2,900 ล้านบาท ก็คงต้องมารอลุ้นกัน

ชำแหละต้นทุนค่าไฟแพง

การขึ้นค่าเอฟทีในระดับสูงมาจากระดับราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักปรับราคาขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน ประกอบค่าเงินบาทอ่อนค่า และรวมถึงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในระดับราคาสูงเพื่อชดเชยการผลิตก๊าซฯ อ่าวไทยที่มีปริมาณลดลงจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานใหม่ และประเด็นหนึ่งที่ถูกยกมาเป็นปัจจัยที่ทำให้เอฟทีขึ้นสูงขึ้น โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคที่มองว่าเพราะไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก และมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากถึง 40-60% อย่างไรก็ตาม ภาระส่วนนี้ถูกแปลงออกมาเป็นค่าเอฟทีที่บวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน

แต่ที่สำคัญคือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment)’ ภายใต้เงื่อนไข ‘Take or Pay’ คือ ไม่ใช้ก็ต้องจ่ายซึ่งผูกพันระยะยาว 25-30 ปี ซึ่งสัญญานี้ถือว่าไม่เป็นธรรมและทำให้กลุ่มทุนเจ้าของโรงไฟฟ้าทำกำไรมหาศาล ขณะเดียวกันรัฐบาลยังจะคงมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และรับซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น

ดังนั้น ภาระหนี้พลังงานทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันอยู่ระดับกว่า 1.1 แสนล้านบาทในการอุดหนุนดีเซลและ LPG ตลอดเวลาที่ผ่านมานับเป็นตัวเลขที่ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันต่างจากอดีตที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานจากภาวะสงครามรัสเซียและยูเครน โดยเม็ดเงินนี้ยังไม่รวมกับการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาทรวมลด 3 ครั้งที่รัฐเสียรายได้ 57,000 ล้านบาทเพื่อต่อลมหายใจให้กับกองทุนน้ำมันฯ อีกทาง
ประชาชนจึงต้องทำใจว่าเมื่อถึงเวลาน้ำมันและ LPG โลกลดลงราคาของไทยไม่อาจสะท้อนกลไกตลาดโลก 100% เพราะหนี้เหล่านี้คือภาระอนาคตที่เราผู้ใช้ทุกคนต้องทยอยจ่ายคืน ...เช่นเดียวกับภาระค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.แบกรับที่ในที่สุด กกพ.ก็ต้องบริหารจัดการเกลี่ยจ่ายคืนเมื่ออนาคตต้นทุนลดลง ....และภาระเหล่านี้ยังต้องบวกอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไปอีกด้วย....

อนาคตภาระเหล่านี้จะมากขึ้นหรือน้อยลงคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาพลังงานโลกว่าจะกลับไปสู่ภาวะปกติได้เร็วแค่ไหน...ประชาชนในฐานะผู้ใช้ที่มีค่า (ค่าน้ำมัน ค่าไฟ .....) ทางออกดีที่สุดคือประหยัดไว้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น