xs
xsm
sm
md
lg

“วราวุธ” เผยจัดประชุม TCAC ประสบความสำเร็จทะลุเป้า มีผู้เข้าร่วมกว่า 3 พันคน ชี้เป็นการส่งข้อความถึงทุกประเทศทั่วโลกถึงบทบาทไทยต่อการแก้โลกร้อนที่ต้องร่วมหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว The Way Forward ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand’s Climate Actions: The Way Forward) ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ส.ค. 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ TCAC ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เป็นเวทีสร้างพลังการขับเคลื่อน สร้างพลังการรับรู้ และการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ภายใต้กิจกรรมต่างๆ ที่มาจากพลังของคนไทยที่ตนเชื่อมั่นในศักยภาพ เชื่อมั่นในความสามารถของคนไทยกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอดการประชุมตลอดทั้ง 2 วัน

"การประชุมในครั้งนี้ทำให้เกิดความชัดเจนในส่วนของการขับเคลื่อนของหน่วยงานภาครัฐ ถึงการนำเป้าหมายที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการมุ่งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ในงาน COP26 ไปสู่นโยบาย แผนชาติ และแผนพัฒนารายสาขาทำได้อย่างไร โดยในส่วนของ ทส.จะมีการส่งร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhous Gas Emission development Strategy) รวมถึง NDC ฉบับปรับปรุงให้ UNFCCC ภายในปลายปีนี้ ก่อนที่ทาง ทส.จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุม COP 27 ในช่วงเดือน พ.ย.ที่ประเทศอียิปต์"

รมว.ทส.กล่าวต่อไปว่า ขณะที่การขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ระดับจังหวัดและท้องถิ่น ได้เห็นความชัดเจนของจังหวัดต่างๆ ไม่ว่า เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ภูเก็ต และ กทม. ในการนำนโยบายไปสร้างความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนทั้ง 67 ล้านคนทั่วประเทศ ไปสู่แนวทางและกำหนดเป้าหมายการลด GHG ระดับจังหวัด และเตรียมพร้อมปรับตัวต่อผลกระทบ ซึ่ง ทส.และตนเองนอกจากจะอยู่ในฐานะ รมว.ทส. ยังเป็น ส.ส.ของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเข้าใจและรู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง สุพรรณบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ เช่น การเกิดน้ำท่วม ดังนั้นจึงขอกล่าวว่า ทส.พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด และการขยายผลไปสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศตามคำประกาศของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พร้อมกันนี้ รมว.ทส.ยังได้กล่าวถึงประเด็นความร่วมมือจากต่างประเทศว่า ต้องขอขอบคุณเอกอัครราชทูต และอุปทูตจาก 50 กว่าประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือรัฐออสเตรเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ญี่ปุ่น สมาพันธรัฐสวิส และสหรัฐอเมริกา ที่พร้อมยืนเคียงข้างประเทศไทยในฐานะพันธมิตร รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศกว่า 20 องค์กร ที่สนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย เช่น ด้านพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ถือว่าวันนี้เป็นวันที่ประเทศไทยจะส่งข้อความไปทุกประเทศทั่วโลกว่าจะต้องมาทำตามข้อสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประเทศไทย ไม่ว่าเรื่องของงบประมาณสนับสนุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างศักยภาพให้เกิดขึ้นในประเทศ ด้วยวันนี้ประเทศไทยเราเริ่มแล้ว ทุกประเทศต้องทำตามในสิ่งที่ได้สัญญาไว้ ถึงเวลาที่ต้องมาช่วยประเทศไทย
 
“เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งอีกประการจากการประชุมในครั้งนี้ นั่นคือ การตอบรับเป้าหมายของประเทศจากผู้บริหารระดับ CEO ของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ที่ได้เห็นความสำคัญ และกำหนดให้มีการตั้งเป้าหมาย Net-zero ขึ้นในระดับองค์กร ซึ่งผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นความตื่นตัว และนำมาซึ่งการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่า (Added Value) ให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน”

นายวราวุธกล่าวอีกว่า แต่สิ่งที่ตนเองถือว่าเป็นกลุ่มพลังที่สำคัญมากที่สุด คือ เยาวชน ที่พร้อมเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีความเข้าใจ มีความตื่นตัว ซึ่งต้องช่วยสนับสนุนตามที่เยาวชนได้นำเสนอ เช่น การเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ สร้างความตระหนักแก่เยาวชน ผ่านการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันในส่วนของพี่น้องประชาชนสามารถมีส่วนร่วมง่ายๆ จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และเริ่มได้ในวันนี้ เช่น การประหยัดพลังงาน การคัดแยกขยะ การรีไซเคิล การเดินทางโดยรถสาธารณะ และการร่วมปลูกต้นไม้ เป็นต้น          
 
“งาน TCAC ที่จัดขึ้น และสำเร็จลงได้เป็นการสะท้อนความมุ่งมั่นของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน องค์กรต่างๆ กว่า 500 แห่ง เพื่อการบรรลุเป้าหมายของประเทศ และประโยชน์สูงสุดของประชาชนจากกิจกรรมจัดนิทรรศการกว่า 30 บูท และมีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้ง 2 วันมากกว่า 3,000 คน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะนำผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมไปประกาศต่อที่ประชุม COP27 ซึ่งหวังว่าการจัดประชุม TCAC จะสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องขอบคุณทุกท่านที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้าน climate change เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นในปัจจุบัน และส่งต่อโลกที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกหลานของเราในอนาคต” นายวราวุธกล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น