“ศักดิ์สยาม” เปิดศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางน้ำ (VTS ระยะ 3) งบ 881 ล้านบาท เพิ่มศักยภาพกรมเจ้าท่าติดตามเส้นทางเดินเรือครอบคลุมน่านน้ำไทยและพื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน ป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในทะเล เพิ่มความเชื่อมั่นขนส่ง-ท่องเที่ยว พร้อมรับ IMO ตรวจประเมินในปี 66
วันที่ 5 ส.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า (จท.) ครบรอบ 163 ปี พร้อมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ จท. เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และเตรียมความพร้อมมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวในโอกาสที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จท.ได้ปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงาน รวมทั้งพัฒนาภารกิจมาอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล มุ่งสู่ “MD NEXT 2023” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับความสะดวก ทั่วถึง และปลอดภัย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อการคมนาคมทุกมิติ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำ ด้วยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 และท่าเรือมาบตาพุด เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ (Land brige) ชุมพร-ระนอง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คาดจะแล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในปี 2565 จากนั้นจะนำโครงการไปโรดโชว์สร้างการรับรู้ให้ประเทศที่มีการเดินเรือระหว่างประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงการต่อไป
ในส่วนของ จท. จะต้องเร่งศึกษา พัฒนา และปรับปรุงระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและทันสมัย รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานและตอบสนองต่อความต้องการของเรือและผู้โดยสารทางน้ำที่จะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีปริมาณการจราจรทางน้ำทั้งในแม่น้ำ และการเดินเรืออ่าวไทยและอันดามันรวมประมาณ 40,000-50,000 เที่ยว/ปี
@เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ ควบคุมความปลอดภัยทางน้ำ ยกระดับมาตรฐานผู้นำในอาเซียน
สำหรับการเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำที่กรมเจ้าท่าส่วนกลางนี้ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี งบประมาณ 881 ล้านบาท โดยมีระบบตรวจการณ์ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างและอันดามัน (VTS 3) เป็นศูนย์อำนวยการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย การตรวจตรา ดูแล และติดตามเส้นทางการเดินเรือทั้งในและต่างประเทศในพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน รัศมีถึง 50 กิโลเมตร ป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในทะเล และเป็นศูนย์กลางในการประสานระบบสื่อสารทางทะเล พร้อมบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำเพื่อประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งช่วยสนับสนุนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความมั่นใจและเชื่อมั่นในการกำกับดูแลการขนส่ง การจราจรทางน้ำทั้งในประเทศและพื้นที่ทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ให้แก่ประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งระบบนี้ของไทยถือว่าเป็นผู้นำในอาเซียน
อีกทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือ เชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศไทยและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องตามอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีในอนุสัญญาต่างๆ กับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) โดยในปี 2566 ประเทศไทยจะเข้ารับการตรวจการปฏิบัติจาก IMO ซึ่งมั่นใจว่าศูนย์ปฏิบัติการฯ นี้จะแสดงให้ผู้ตรวจสอบได้เห็นว่าประเทศไทยได้นำระบบมาใช้กำกับ ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติของเรือ ท่าเรือ และการตรวจสอบมาตรฐานคนประจำเรืออย่างต่อเนื่อง ตามมาตรฐาน IMO นอกจากนี้ ให้ จท.บูรณาการกับหน่วยงานทางน้ำ เช่น กรมประมง, กองทัพเรือ เพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ใช้ได้ประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย และอาชญากรรมทางทะเล
ศูนย์ปฏิบัติการฯ นี้มีสถานีลูกข่ายในชายฝั่งอ่าวไทย 12 สถานี สถานีลูกข่ายในชายฝั่งอันดามัน 11 สถานี และศูนย์ปฏิบัติการระบบตรวจการณ์ 2 แห่ง เมื่อเชื่อมโยงกับระบบตรวจการณ์เดิมในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เฉพาะอ่าวไทยตอนบน และมีสถานีลูกข่าย 10 สถานี จะทำให้มีสถานีลูกข่ายตรวจการณ์เป้าในทะเลของประเทศ รวมทั้งสิ้น 33 สถานี
นอกจากการพัฒนามาตรการความปลอดภัยของการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี การพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำแล้ว จท.ยังอยู่ระหว่างการพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง (ไม่รวมท่าเรือของเอกชน) ให้มีความทันสมัย คาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จภายในปี 67 นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ จท.บูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการพัฒนาเรือในคลองแสนแสบ โดยการนำเรือไฟฟ้ามาให้บริการในอนาคต รวมถึงการศึกษาพัฒนาท่าเรือมารีนาเพื่อการท่องเที่ยว รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) โดยจะใช้การลงทุนร่วมกับเอกชน (PPP) เพื่อเร่งรัดการดำเนินการที่เร็วกว่าการรองบประมาณจากรัฐมาลงทุน
@ทุ่มงบ 1.55 พันล้านบาท ตั้งศูนย์ควบคุมความปลอดภัย วางระบบตรวจการณ์ชายฝั่ง 3 สถานี ครอบคลุมชายฝั่งทะเล น่านน้ำไทย
สำหรับศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ เป็นไปตามแผนโครงการระบบตรวจการณ์ชายฝั่งกรมเจ้าท่า สร้างความมั่นใจให้อุตสาหกรรมการเดินเรือและการขนส่งสินค้าทางน้ำของประเทศไทยด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยอย่างเต็มระบบ รวมทั้งสร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศ โดยมี 3 แห่ง คือ ท่าเรือแหลมฉบับ ภูเก็ต และ กทม. แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ
โดยระยะที่ 1 ดำเนินการในปี 2550-2554 ที่แหลมฉบัง ครอบคลุมพื้นที่บริเวณอ่าวศรีราชาและบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เกาะล้าน และสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปากร่องเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ มีสถานีตรวจการณ์ 5 สถานี ใช้งบประมาณดำเนินการ 360 ล้านบาท
ระยะที่ 2 ดำเนินการในปี 2560-2563 ที่แหลมฉบัง เป็นการขยายสถานีสื่อสารและตรวจจับเป้าเรือในทะเล และระบบบริหารจัดข้อมูลและอื่นๆ ครอบคลุมอ่าวไทย ตัว ก ชายฝั่งทะเลตะวันตก ไปถึงปากน้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชายฝั่งพื้นที่ตะวันออกไปถึงเกาะหมาก จังหวัดตราด มีสถานีตรวจการณ์ 5 สถานี ใช้งบประมาณดำเนินการ 314 ล้านบาท
ระยะที่ 3 ดำเนินการปลายปี 2563-2565 ที่สำนักงานกรมเจ้าท่า ส่วนกลาง และภูเก็ต (ลูกข่าย) เป็นการขยายสถานีระบบการสื่อสาร ระบบการตรวจจับเป้าเรือในทะเล และระบบบริหารจัดการข้อมูลและอื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงจังหวัดนราธิวาส มีสถานีตรวจการณ์ 12 สถานี และชายฝั่งอันดามันมีสถานีตรวจการณ์ 11 สถานี รวมสถานีตรวจการณ์ทั้งหมดจำนวน 33 สถานี และอาคารบริหาร 2 แห่ง งบประมาณดำเนินการ 881.72 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน จท.มีระบบตรวจการณ์ชายฝั่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเล และน่านน้ำของประเทศไทย ตลอดจนสามารถติดต่อสื่อสารและเฝ้าติดตามเรือสัญชาติไทยที่เดินเรืออยู่ต่างประเทศได้ทั่วโลก