ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดรวมร้านซาลอนแข่งกันหนัก ดึงลูกค้า หลังปิดตัวไปมาก เหตุโควิดทำพิษ ชี้ภาวะช่วงนี้เริ่มดีขึ้น โอซีซีจัดทัพพอร์ตโฟลิโอกลุ่มแฮร์แคร์ หลังคว้าเวลล่าด้วยงบประมาณ 130 ล้านบาทมาทำตลาด เร่งขยายร้านซาลอนเพิ่มอีก 50 แห่ง
นางธีรดา อำพันวงษ์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒนพิบูลย์ เปิดเผยว่า โอซีซีได้ใช้งบประมาณกว่า 130 ล้านบาทเพื่อรับสิทธิ์ไลเซนส์ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับทำสีและดูแลเส้นผมแบรนด์ Wella Professionals จากประเทศเยอรมนีที่มีชื่อเสียงทั่วโลกยาวนานกว่า 140 ปี เข้ามาทำตลาดและจัดจำหน่ายในประเทศไทยเพียงรายเดียวเพื่อมาเสริมทัพพอร์ตโฟลิโอธุรกิจความงามของบริษัทฯ ให้มีความแข็งแกร่งและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มไลน์ธุรกิจความงาม กลุ่มผลิตภัณฑ์สีผมและดูแลเส้นผม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถโชว์ความสวยงามได้ ถึงแม้จะใส่หน้ากากอนามัยก็ตาม อีกทั้งยังเชื่อมั่นถึงศักยภาพของแบรนด์ดังกล่าว ประกอบกับโอกาสในการทำตลาดในประเทศไทยยังมีอีกมาก
นายวรเทพ อัศวเกษม กรรมการ บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมในไทยมีการเติบโตต่อเนื่อง แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ที่ทั่วโลกและไทยต้องเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ระบาดอย่างหนักทำให้ตลาดรวมลดลงตามไปด้วย เหมือนธุรกิจอื่นทั่วไป เนื่องจากกำลังซื้อที่ถดถอยลง การล็อกดาวน์ที่ร้านซาลอนไม่สามารถเปิดบริการได้นานพอสมควร การที่ต้องทำงานอยู่กับบ้านนานๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องแต่งตัวหรือทำผม
อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านช่วงวิกฤตของสถานการณ์โควิด-19 กำลังซื้อต่างๆ ฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นตามลำดับ โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมกลับมาคึกคัก คือ เทรนด์แฟชั่นการแต่งตัวในประเทศไทยและการแต่งหน้าทำผมใหม่ๆ จากต่างประเทศ ทั้งจากยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี มีผลทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านทำผมมากขึ้นทุกวัน รวมทั้งซื้อผลิตภัณฑ์แฮร์แคร์กลับไปใช้ที่บ้านอีกด้วย โดยรายงานระดับโลก ‘On Trend: The evolving beauty consumer’ จาก Kantar บริษัทวิจัยชั้นนำด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก พบว่า ผลิตภัณฑ์ครีมนวดผมและทรีตเมนต์มีมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น 7% ในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) เมื่อเทียบกับปี 2020 และผลิตภัณฑ์พรีเมียมสำหรับดูแลปัญหาผมร่วงและรังแคเติบโตเร็วกว่าตลาดแชมพูโดยรวมถึง 5 เท่า โดยเติบโต 10% ในปี พ.ศ. 2664 (Kantar, 2022)
ดังนั้น การที่บริษัทฯ ได้ไลเซนส์แบรนด์ เครือเวลล่า เข้ามาทำตลาดเพิ่มจะช่วยทำให้ธุรกิจกลุ่มแฮร์แคร์หรือกลุ่มเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในการรุกทำตลาดได้ครอบคลุมวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้กลุ่มนี้ของบริษัทฯ มีทั้งหมด 4 แบรนด์ คือ เดมี่ และ Dex จากญี่ปุ่นเจาะกลุ่ม B2B, บีเอสซีของไทยเจาะกลุ่ม B2C และแบรนด์เครือเวลล่าเจาะกลุ่ม B2B เป็นหลัก
ทั้งนี้ แผนทำตลาดจากนี้บริษัทฯ จะเพิ่มฐานลูกค้าบีทูบีในกลุ่มร้านซาลอนมากขี้น อีกประมาณ 50 แห่งจากเดิมที่มีฐานกลุ่มนี้แล้วกว่า 500 แห่ง จากตลาดร้านซาลอนระดับกลางถึงบนที่มีรวมประมาณ 2,000 แห่ง ขณะที่ตลาดทั่วประเทศมีร้านซาลอน รวมมากกว่า 10,000 แห่ง แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมามีร้านซาลอนปิดตัวลงไปจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านขนาดเล็กทั่วไป เนื่องจากการล็อกดาวน์ทำให้ลูกค้าไม่สามารถมาทำผมที่ร้านได้ ร้านขนาดเล็กสายป่านไม่ยาวก็ต้องปิดตัวเองไป ทำให้ตลาดรวมตกลงจากเดิมที่เคยเติบโตเฉลี่ย 5-10% ต่อปี
ส่วนการทำตลาดแบรนด์เครือเวลล่าจะมีการใช้งบการตลาดมาก ประมาณ 30% ของยอดขายเวลล่า เน้นการอบรม การให้ความรู้ การจัดกิจกรรม กับร้านซาลอนเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางโซเชียลมากขึ้น
สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายของแบรนด์ WELLA PROFESSIONALS ในประเทศไทยกว่า 80-90% จัดจำหน่ายและให้บริการในช่องทางร้านซาลอนระดับ A และ A+ เท่านั้น ส่วนผลิตภัณฑ์แฮร์แคร์ และผลิตภัณฑ์บำรุงหนังศีรษะจะจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ด้วย เช่น Retail Drug Store, Beauty Stores, Online Channel เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายยอดขายปีนี้ของเวลล่า 50 ล้านบาท เป้าหมายปีหน้ายอดขายเวลล่าประมาณ 100 ล้านบาท