การประชุม ABAC ที่เวียดนามเตรียมข้อเสนอเร่งด่วน 5 ข้อต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก 2022 เดือน พ.ย.นี้ เพื่อมุ่งการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตแบบยั่งยืนและยืดหยุ่นในระยะยาวหลังเผชิญกรเปลี่ยนแปลงสารพัด หนุนขับเคลื่อน FTAAP ให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ สร้างความเข้มแข็ง MSMEs แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก 2022 (APEC Business Advisory Council-ABAC) เปิดเผยผลการประชุมครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมได้ยกข้อเสนอเร่งด่วน 5 แนวทางเพื่อมุ่งเป้าการเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและกระตุ้นให้เกิดการพลิกฟื้นสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนครอบคลุม และมีความยืดหยุ่นในระยะยาว” อันเกิดจากผลกระทบที่ยืดเยื้อของการระบาดใหญ่ ความขัดแย้งทางการเมือง ภาวะเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก โดยจะส่งมอบให้กับการประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน
"การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าจากการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา (ประเทศสิงคโปร์ และประเทศแคนาดา ตามลำดับ) ซึ่งคณะทำงานมีความเห็นตรงกันว่าเราจะเรียกร้องให้สมาชิกเอเปกมาร่วมบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกร่วมกระชับการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยสนับสนุนระบบการค้าตามกฎสากล และเร่งให้เกิด FTAAP (เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก) อย่างเป็นรูปธรรม” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับวาระเร่งด่วน 5 ประการ อันเป็นส่วนหนึ่งของ 5 กลยุทธ์หลักของคณะทำงาน ได้แก่ 1. Regional Economic Integration: เส้นทางสู่ FTAAP และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ โดยสภาที่ปรึกษาฯ เห็นว่า FTAAP ควรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งควรเน้นนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคบริการ 2. Digital การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เน้นรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่คณะทำงานขอเรียกร้องให้เอเปกสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาคที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน
3. MSME and Inclusiveness - การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย หรือ MSMEs อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก ซึ่งหมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง 4. Sustainability - ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น คณะทำงานจึงเร่งดำเนินการ ‘แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030’ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา และการดำเนินการตามแผนดิจิทัลความมั่นคงด้านอาหาร ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้
5. Finance and Economics - การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว และการระบุการปฏิรูปโครงสร้างหลัก เพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโต คณะทำงานเห็นความสำคัญของการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาวคณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปกของไทย และประธาน APEC CEO Summit 2022 กล่าวว่า การยกระดับความเข้มข้นในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนทางด้านอาหารที่นำเทคโนโลยีและ BCG มาปรับใช้ไว้ว่า “ข้อเสนอแนะในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปกยังเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และยับยั้งข้อห้ามและข้อจำกัดต่างๆ ในการส่งออกและการร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างกันมากขึ้นในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือด้านนโยบายของเอเปกเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต