xs
xsm
sm
md
lg

พลาสติก ยังมีโอกาสโต! ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พลาสติก ยังมีโอกาสโต! ทีม PRISM Experts สะท้อนทิศทางและโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหลังยุคโควิด ชี้..ความต้องการใช้พลาสติกยังโตต่อเนื่อง ทั้งโพลีโพรพิลีน และ โพลีเอทิลีน แนะผู้ผลิตต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนไป


ต้องยอมรับว่า โลกหลังยุคโควิดแพร่ระบาด มีความเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก รวมทั้งเทรนด์ใหม่ ๆ ในด้านเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปซึ่งใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องหันมาสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ถือว่าเป็นต้นน้ำสำคัญในการป้อน Raw Materials หรือวัตถุดิบอย่างเช่นพลาสติกไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เป็นดาวน์สตรีมเพื่อนำไปขึ้นรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน

ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม PRISM Experts ได้มีการจัดงานสัมมนาออนไลน์ 2022 PTT Group The Petrochemical Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ “Moving forward in the Post-COVID era” เพื่อสะท้อนทิศทาง ผลกระทบ และโอกาสในการเติบโตหลังยุคโควิดของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีว่ามีสิ่งใดบ้างที่ต้องรู้และปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับเทรนด์ของโลกและเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป


จากการให้ข้อมูลโดย เดชาธร ฐิสิฐสกร Marketing Strategy and Data Science บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ระบุว่า ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการใช้พลาสติกสูงถึง 4.9 ล้านตัน ขณะที่ทั่วโลก Demand Growth ในกลุ่มของ Polyolefins ทั้งเม็ดพลาสติก PP (Polypropylene) หรือเม็ดพลาสติก PE (Polyethylene) มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมี Impact Factor อยู่หลายอย่างที่จะเข้ามาสร้างผลกระทบและเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ที่น่าสนใจ คือหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โลกได้เปลี่ยนไปในหลาย ๆ ด้าน ผู้บริโภคเองก็มีพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีในด้าน Food Delivery Application กันมากขึ้น จากวิถีชีวิตแบบ New Normal ไม่ว่าจะเป็น Work from Home หรือ Study from Home ทั้งหมดส่งผลให้การพัฒนาเรื่องพลังงานมีการ Speed Up เพิ่มขึ้นไปด้วย ทั้ง Internet of Things (IoT) A.I. รวมถึงบล็อกเชน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มขึ้นและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ในด้านของสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป (Global Climate Change) ซึ่งนำไปสู่การประชุม COP26 เพื่อให้นานาประเทศร่วมมือกันในการดูแลโลก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ธุรกิจปิโตรเคมีต้องคำนึงถึงสำหรับการก้าวต่อไปในโลกยุคใหม่ถัดจากนี้


“ในมิติของสิ่งแวดล้อม เราจะเห็นว่า ด้วยการเติบโตของประชากรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุก ๆ ปี อัตราการบริโภคก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่เรื่องวัตถุดิบ หรือ Natural Resources มีจำกัด ดังนั้นถ้ายังมีการบริโภคที่เติบโตไปเรื่อยๆอย่างนี้ ทรัพยากรธรรมชาติจะหมดไปใน 20 ปี แต่ถ้าเรานำเอา Waste พลาสติกที่อยู่ในระบบกลับมาใช้ใหม่ได้ผ่านกระบวนการรีไซเคิล ก็จะทำให้เราสามารถนำ Waste นั้นมาใช้เป็นวัตถุดิบวนได้ต่อเนื่องต่อไป จึงเป็นที่มาของเรื่องเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือที่เรียกว่า Post-Consumer Recycled Resin ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้นทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น ยูนิลีเวอร์ มีการประกาศว่าจะใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบในบรรจุภัณฑ์ในช่วงปี 2025 เป็นต้นไป ตรงนี้คือทิศทางของ Recycle Content บนโลกของเราซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2040 สัดส่วนการเติบโตของอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลทั้งโลกจะโตประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์”

ในมิติที่ 2 คือ S-Curve เดชาธร บอกว่ามีการเติบโตค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี IoT หุ่นยนต์ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีความจำเป็นในการใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบ และนี่ก็คือสิ่งที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะต้องมองและมุ่งไป

“ใน 2 มิติที่กล่าวมา ทั้งสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม S-Curve จะเป็นตัวผลักดันในการทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมุ่งหน้าไปสู่จุดเปลี่ยนถ่าย โลกเดิมวันนี้จะเข้าไปสู่โลกใหม่ที่ Petrochemical Demand จะเติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งเราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยน Direction มุ่งหน้าสู่โลกใหม่ด้วยเช่นกัน”

แน่นอนว่า หลังจากโลกเข้าสู่ยุค New Normal ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม กลายเป็นโจทย์สำคัญอีกหนึ่งข้อที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง และมีคำถามมากมายเกี่ยวกับบทบาทของพลาสติกบนเส้นทางความยั่งยืนว่าพลาสติกจะสามารถช่วยโลกอย่างไรได้บ้าง ขณะที่ความต้องการใช้พลาสติก ดูจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง


ธีรัช ศฤงคารินทร์ Marketing Analyst บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ให้ข้อมูลว่า ณ ปัจจุบัน ความต้องการใช้พลาสติกในเมืองไทย ถือว่าใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับระดับโลก โดยที่พลาสติกโดยส่วนใหญ่ประมาณ 38% เป็นพลาสติกที่มาจากโพลีเอทิลีน (Polyethylene หรือ PE) โดย 41% นำไปใช้ในเรื่องแพ็คเกจจิ้ง 16% นำไปทำเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 15% นำไปใช้เป็นอุปกรณ์ก่อสร้าง 6% ใช้ในส่วนยานยนต์และเส้นใยอุตสาหกรรมสิ่งทอ อีกประมาณ 2% นำไปใช้ในวัสดุทางการแพทย์ และที่เหลือจะเป็นเซ็กเมนท์อื่น ๆ

ในปีที่ผ่านมา ประมาณการณ์ว่า มีความต้องการใช้พลาสติกและโพลีเอทิลีนมากกว่า 7 ล้านตัน และความต้องการก็จะเติบโตขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านตันในปี 2026 แต่เมื่อกระแสของโลกที่มีความพยายามที่จะลดขยะ จึงมีการผลักดันให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต Polyethylene และ Brand Owner ทั้งหลายก็ต้องปรับตัว ทั้งเรื่องของบรรจุภัณฑ์ต้องที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล และการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล


“พลาสติกที่เราเห็นในปัจจุบัน คือ Multilayer Film เป็นพลาสติกหลายประเภทมาประกบเป็นชั้นฟิล์ม แต่ว่ากระบวนการนี้ทำให้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ยาก จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาปรับปรุงการออกแบบ เป็นแบบ Mono Material คือใช้วัสดุเพียงชนิดเดียว ซึ่งจะทำให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างถุงขนมกรุบกรอบที่อยู่รอบตัวเรา ที่ผลิตมาจากพลาสติก 3 เลเยอร์ด้วยกัน ก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนมาเป็นวัสดุชนิดเดียว เพื่อให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น”

แล้วเราจะสามารถช่วยโลก ไปสู่ความยั่งยืนอย่างไรได้บ้าง ในมุมนี้ ธีรัช กล่าวสรุปอย่างรวบรัดว่า “ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถช่วยกันบนเส้นทางสู่ความยั่งยืนได้ เพียงแค่ หนึ่ง นำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด สอง คัดแยกขยะอย่างถูกประเภท โดยสังเกตหมายเลขชนิดพลาสติกภายใต้บรรจุภัณฑ์พลาสติก รู้จักการคัดแยกขยะ เพื่อที่จะช่วยให้นำไปรีไซเคิลได้ง่าย เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถช่วยโลกได้แล้ว”

สำหรับพลาสติกอีกชนิดที่พูดได้ว่ามีความผูกพันกับวิถีชีวิตของเราอย่างมาก นั่นก็คือ โพลีโพรพิลีน (Polypropylene หรือ PP) ที่สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภท เช่น สิ่งของเครื่องใช้ส่วนบุคคล แพ็คเกจจิ้งใส่อาหาร อุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยในรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือแม้แต่หน้ากากอนามัย


ด้วยเหตุนี้ นิรมล วุฒิพฤกษ์ Manager, Business Planning and Risk Management บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด ให้ความเห็นว่า พลาสติกมีข้อดีมากมาย พลาสติกจึงไม่ใช่ผู้ร้าย และที่สำคัญ กระบวนการผลิตพลาสติก สร้าง Carbon Footprint ต่ำด้วย นอกจากนี้แล้ว เรายังสามารถพัฒนารูปแบบพลาสติกด้วยการ Upcycling ทำเป็นพรม เป็นเก้าอี้ เป็นของใช้ที่สวยงาม เพิ่มมูลค่ามากขึ้น หรือการ Downcycling ทำเป็นถัง เป็นกะละมัง เป็นกระถางต้นไม้ที่เราพบเห็นได้ทั่วไป

สำหรับโอกาสทางธุรกิจของพลาสติกชนิด PP นิรมล กล่าวว่า มีการเติบโตต่อเนื่อง ผู้ผลิตต้องก้าวตามให้ทันเทรนด์อยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป บรรจุภัณฑ์ที่สะอาด สามารถรีไซเคิลได้ จะเข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนี้ ยุค Aging Society ก็กำลังมาถึง ผ้าอ้อมหรือแผ่นรองซับสำหรับผู้สูงวัย จะมีความต้องการใช้มากขึ้น นอกจากนี้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่ต้องการวัสดุที่มีน้ำหนักเบาเป็นส่วนประกอบ พลาสติกหลายชิ้นหลายชนิด จึงถูกเลือกมาเป็นส่วนประกอบของรถ EV รวมทั้งแบตเตอรี่ของรถ EV ก็ล้วนประกอบมาจากพลาสติกเช่นกัน ดังนั้น ผู้ผลิตพลาสติก จึงไม่ควรพลาดที่จะพัฒนาพลาสติกสำหรับใช้ในธุรกิจรถ EV


“พวกเราต้องปรับพอร์ตการผลิต พอร์ตการขาย เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป การค้นคว้าจะต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เราทุกคนจะต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ สมัยก่อน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ปัจจุบัน ปลาเร็วกินปลาช้า เราช้าไม่ได้ และเราจะต้องหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน” นิรมล กล่าวย้ำ


อย่างไรก็ดี ยังมีตลาดอีกกลุ่มที่ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือตลาดกลุ่มสารอะโรเมติกส์ (Aromatics) สิรวิชญ์ สมรัตนกุล นักวิเคราะห์การพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ให้ข้อมูลว่า Aromatics Chain มีทั้งพาราไซลีน (Paraxylene หรือ PX) และเบนซีน (Benzene หรือ BZ) โดยในส่วนของพาราไซลีนนั้น มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับเทรนด์ Bio Materials ที่อาจเข้ามาแทนที่การใช้ Fossil Base แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน เช่นเรื่องต้นทุนสูง เรื่อง Economic of scale ที่อาจจะยังไม่สามารถแข่งขันกับการผลิตแบบเดิม ๆ ได้ ขณะที่ฝั่งของเบนซีนดูจะมีความหวังมากกว่าจากเทรนด์การเติบโตรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้เบนซีนเพิ่มสูงขึ้น


กล่าวโดยสรุป เทรนด์ในปัจจุบันที่จะเป็นทั้งผลกระทบและโอกาสใหม่ ๆ สำหรับตลาดกลุ่มนี้ ก็คือ โรงกลั่นใหม่ ๆ มีแนวโน้มที่จะผลิตเชื้อเพลิงน้อยลง แต่มีสัดส่วนการผลิตปิโตรเคมีที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับ Bio Material ที่อาจเข้ามาแทนที่การใช้ Fossil Base อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน ทั้งการแบน Single Use Plastic ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันการใช้พลาสติกในกลุ่มแพคเกจจิ้ง ทั้งนี้ กลุ่มยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ยังคงเติบโตตามทิศทางของธุรกิจ ที่ต้องใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบอย่างต่อเนื่องในอนาคต

“จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) เคยกล่าวเอาไว้ว่า “Change is the law of life, and those who look only to the past or present are certain to miss the future” นอกจากเราจะต้องมองหรือเรียนรู้อดีตและปัจจุบันแล้ว เรายังคงต้องคาดการณ์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตด้วย เพื่อทำให้เรา เป็น The Last Man Standing ในอุตสาหกรรมของ Oil & Petrochemical ต่อไป” สิรวิชญ์ กล่าวย้ำในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น