การตลาด - เป็นข่าวที่จุดกระแสขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีรายงานว่า บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) เตรียมที่จะขายสิทธิ์หรือไลเซนส์แฟรนไชส์แบรนด์เคเอฟซี (KFC) ในประเทศไทยออก จากสิทธิ์ถือในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้
หลังจากที่เมื่อ 2 ปีที่แล้วช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ใหม่ๆ ก็มีข่าวออกมาจากสื่อต่างประเทศเช่นกันว่า อาร์ดี จะขายสิทธิ์เคเอฟซีในเมืองไทย ด้วยมูลค่าธุรกิจขณะนั้นประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,256 ล้านบาท แต่เรื่องก็เงียบหายไป และกลับมาคราวนี้อีกครั้งด้วยกระแสมูลค่าที่เพิ่มเป็น 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว
ทั้งๆ ที่หัวเรือใหญ่ของอาร์ดี คือ นายแอนดรูว์ นอร์ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (อาร์ดี) อดีตผู้บริหารเคเอฟซีที่เพิ่งกล่าวอย่างมั่นใจต้นปี 2565 นี้เองว่า บริษัทฯ วางแผนว่าในปี 2565 นี้จะเปิดร้านเคเอฟซีใหม่กว่า 28 สาขา และปรับปรุงร้านเดิมอีก 28 สาขา ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด แต่บริษัทยังลงทุนต่อเนื่อง เพื่อเปิดสาขาใหม่จากที่มีอยู่ 236 สาขา
โดยมั่นใจเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากมาตรการเปิดเมืองและคลายล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารเคเอฟซีของอาร์ดีสร้างอัตราการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะสร้างยอดขายอย่างแข็งแกร่งจากการลงทุนในครั้งนี้
เขากล่าวด้วยว่า จากยอดขายที่ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 นี้ ยังมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา อาร์ดีทำยอดขายสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในช่วงเทศกาลอีกด้วย
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 นายแอนดรูว์ นอร์ตัน เคยกล่าวว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราถือเป็นแฟรนไชส์เคเอฟซีที่เติบโตเร็วที่สุด ใน 3 ปีเต็มของการบริหารร้านเคเอฟซี อาร์ดีสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายได้ถึง 24% เทียบกับยอดขายเมื่อ 3 ปีก่อน
การเติบโตต่อเนื่องที่ผ่านมาเป็นผลสำเร็จจากการลงทุนของเรารวมถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์เคเอฟซี ภายในปีนี้เราจะเพิ่มการลงทุนอีก 2 พันล้านบาทเพื่อที่จะเพิ่มจำนวนสาขาภายใต้การบริหารของเรา รวมถึงการปรับปรุงร้านที่มีอยู่แล้วให้ใหม่ทันสมัย สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าที่เข้ามารับบริการ ใน 3 ปีที่ผ่านมาอาร์ดีเปิดร้านใหม่รวม 85 ร้าน และจะเปิดอีก 100 ร้านภายในต้นปีหน้า รวมปัจจุบันอาร์ดีมีร้านเคเอฟซีภายใต้การบริการรวม 207 ร้าน (เดือน ก.ค. 2563)
แล้วทำไม อาร์ดี จึงตกอยู่ในวังวนของการขายสิทธิ์นี้ต่อเนื่อง ต่างจากผู้ถือสิทธิ์ไลเซนส์เคเอฟซีในไทยอีก 2 รายที่คงดำเนินธุรกิจปกติ ท่ามกลางสถานภาพที่ อาร์ดี บอกว่า ดี
ตลาดไก่ทอดแม้จะเป็นตลาดคิวเอสอาร์ (Quick Service Restaurant /QSR) ที่ใหญ่ที่สุดในไทยด้วยมูลค่ามากกว่า 28,000 ล้านบาทต่อปี และเติบโตดี แต่ก็แน่นอนว่าท้าทายผู้ประกอบการไม่น้อย เพราะการแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดรวมไก่ทอดที่มีผู้เล่นรายใหญ่ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมโดยเฉพาะที่มาเร็วและมาแรงอย่าง “เท็กซัส ชิกเก้น” ที่เป็นแบรนด์ใหญ่จากอเมริกาโดยมี ปตท.รับไลเซนส์ หรือแม้แต่เดอะไมเนอร์ฯ ที่ให้ทางเดอะพิซซ่าคอมปะนี ปั้นแบรนด์ใหม่อย่าง “ชิกอะบููม” ที่สร้างสีสันได้ไม่น้อยในช่วงปีเศษที่ทำมา ยังไม่นับรวมแบรนด์เล็กแบรนด์กลางอีกมาก
แต่ปัญหาที่หนักกว่าการแข่งกับแบรนด์อื่นแล้วก็คือ การที่ อาร์ดี ต้องแข่งกับเคเอฟซีด้วยกันเอง จากผู้ถือสิทธิ์อีก 2 ราย คือ 1. บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ที่เป็นพันธมิตรกับยัมฯ สร้างเคเอฟซีมาตั้งแต่เริ่มแรก เปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อปี 2528
2. บริษัทคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ในเครือไทยเบฟ ที่รับสิทธิ์ไลเซนส์แฟรนไชส์เมื่อปี 2560 ด้วยจำนวนร้านเคเอฟซีที่รับมาขณะนั้น 240 สาขา ด้วยมูลค่าประมาณ 1.13 หมื่นล้านบาท
ส่วนอาร์ดีเองนั้นก็เข้าซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ KFC เมื่อปี 2559 จำนวน 120 สาขาในกรุงเทพมหานคร และภาคใต้ จาก ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กว่าหมื่นล้านบาท
เป็นศึกหนักที่กดดัน อาร์ดี อย่างเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะประเด็นการหาพื้นที่เปิดร้าน เพราะยุทธศาสตร์ที่สำคัญของธุรกิจรีเทลทั้งค้าปลีกและอาหารก็คือ ทำเล ทำเล และทำเล
สองรายใหญ่มีความได้เปรียบมากและเห็นได้ชัดในเรื่องการหาทำเลพื้นที่ดีๆ
ซีอาร์จี อยู่ในเครือข่ายของเซ็นทรัลกรุ๊ป ซึ่งมีทั้งธุรกิจค้าปลีก พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทย ซีอาร์จีจึงสามารถที่จะเปิดสาขาใหม่ๆ ได้อย่างง่ายดายแบบนอนมาทุกแห่งที่เป็นศูนย์การค้าในเครือ เรียกว่าได้สิทธิ์ไปโดยปริยายไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ และอื่นๆ หรือคอมมูนิตีมอลล์หลายแห่งของสยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ ในเครือซีพีเอ็น
ส่วนคิวเอสเอ ก็เป็นของเครือไทยเบฟ ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ที่มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกมากมายไม่แพ้กัน แน่นอนว่าเมื่อมีศูนย์ฯ ใหม่หรืออาคารใหม่เกิดขึ้น ก็ต้องให้พื้นที่กับธุรกิจในเครือก่อนอยู่แล้ว
แม้แต่เท็กซัสชิกเก้น ก็ได้เปรียบกับพื้นที่ในปั๊มน้ำมันของ ปตท.เช่นกันมีทำเลรองรับอยู่แล้วแม้จะมีแบรนด์อื่นเปิดบ้างก็ตาม และช่วงหลังบุกนอกปั๊มอย่างหนักด้วย ส่วนชิกอะบููมในเครือไมเนอร์ฯ ก็พ่วงไปกับร้านเดิมของเดอะพิซซ่าคอมปะนีทำให้สามารถกระจายช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในเวลาไม่นาน
อีกประเด็นคือ ความเป็นฟูดเชนของทั้ง ซีอาร์จี ที่มีมากเกือบ 20 แบรนด์ เช่น มิสเตอร์โดนัท อานตี้แอนส์ โอโตยะ โคลด์สโตน เทนยะ โยชิโนยะ เป็นต้น, คิวเอสเอ ในเครือไทยเบฟ เช่น โออิชิ ชาบูชิ สตาร์บัคส์ เป็นต้น, ปตท.ที่มีธุรกิจร่วมทุนและเทกโอเวอร์ในกลุ่มอาหารมากขึ้น และไมเนอร์ฯ ที่มีเครือข่ายร้านอาหารมากมาย เช่น ซิซซ์เล่อร์ สเวนเซ่นส์ แดรี่ควีน บอนชอน เบรดทอล์ก ชิกอะบูม เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาผนึกกำลังกันทำโปรโมชันแคมเปญ ทำเมนูร่วมกัน หรือร่วมกันเป็นช่องทางจำหน่ายซึ่งกันและกันได้ดี จึงมีความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพที่ดีเมื่อจะทำอะไรสักอย่างก็มาร่วมมือกันทำ เช่น ปีที่แล้วซีอาร์จีร่วมมือกับแบรนด์อะริกาโตะ ที่บริหารโดยท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือเซ็นทรัล ที่นำเครื่องดื่มชา กาแฟ มาจำหน่ายในร้านเคเอฟซีของตัวเอง นี่แค่ตัวอย่างซึ่งยังมีความร่วมมือกับในเครืออีกมากมาย
ล่าสุดทางคิวเอสเอก็นำแบรนด์ KFC ร่วมสร้างโอกาสทางธุรกิจกับพันธมิตรในเครือ เปิดตัว KFC Café by SO COFFEE สร้างสรรค์เครื่องดื่มเอาใจลูกค้าด้วยกาแฟ จำหน่ายในร้านเคเอฟซีของตัวเองเช่นกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 สร้างยอดขายเติบโต โดยมีสัดส่วน 40% ของกลุ่มเครื่องดื่ม ตั้งเป้าขยายการให้บริการ KFC Café by SO COFFEE ในสาขาของเดอะ คิว เอส อาร์ ออฟ เอเชีย จำนวน 250 สาขาภายในปี 2565 เน้นสาขาที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เกต คอมมูนิตีมอลล์ และร้านไดรฟ์ทรู กว่า 50 จังหวัด
ทว่า อาร์ดี ไม่มีทั้งสองประเด็นหลักนี้เลย หรือมีก็น้อยมากแทบจะเทียบกันไม่ได้เลย
การเติบโตด้านจำนวนสาขาก็ยังคงบ่งบอกได้ดี
โดยเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2562 KFC ในประเทศไทยมีทั้งหมด 826 สาขา โดยแบ่งเป็น CRG จำนวน 283 สาขา, RD จำนวน 207 สาขา และ QSA จำนวน 336 สาขา
ขณะที่ช่วงปี พ.ศ. 2564 CRG ขยับขึ้นมามีกว่า 300 สาขา, คิวเอสเอ มีประมาณมากกว่า 378 สาขา, ส่วน RD ก็ยังอยู่ที่ระดับเกินกว่า 200 สาขา
ทางซีอาร์จีขยายสาขา KFC ปีที่แล้วประมาณ 20 สาขา ทั้งในศูนย์การค้าฯ ทั้งในเครือเซ็นทรัล ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา ท็อปส์ และโรบินสัน ซึ่งสาขาลำดับที่ 300 เปิดที่เซ็นทรัล ศรีราชา และยังมีที่เซ็นทรัล อยุธยา และเปิดสาขานอกห้างฯ เช่น สถานีบริการน้ำมัน
ส่วนปี 2565 แผนเดิมนั้นกำหนดจะเปิดใหม่ 30 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ และรีโนเวตสาขาเก่า 10 สาขา ล่าสุดเดือนกรกฎาคมนี้ซีอาร์จีมีร้านเคเอฟซีอยูู่ที่ 307 สาขา
ส่วนคิวเอสเอ วางเป้าหมายที่จะเปิดสาขาใหม่ปีนี้ 30 สาขา และภายในสิ้นปี 2565 นี้จะมีร้านเคเอฟซีรวม 430 สาขา
อาร์ดีก็ว่าไปแล้วจะเปิด 28 สาขาใหม่ในปีนี้
ปัจจุบันร้านเคเอฟซีมีสาขารวม 953 สาขา ในประเทศไทย
ศสัย ตังเดชะหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจ 5 ปีที่ผ่านมาในฐานะพันธมิตรแฟรนไชส์ของเคเอฟซี บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด มุ่งกลยุทธ์สร้างประสบการณ์ที่ดีและการปรับแผนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ตั้งเป้าสร้างยอดขายเติบโต 20% และเปิดสาขาเพิ่มเติมกว่า 30 สาขาในปี 2565 รวมเป็นจำนวนสาขากว่า 430 สาขา หรือเติบโตกว่า 60% จากปี 2561 ที่ได้รับสิทธิ์เป็นหนึ่งในแฟรนไชซีของ KFC ในประเทศไทย
“ในปี 2565 บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ตั้งเป้าผลักดันยอดขายเติบโตกว่า 20% ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ (1) มัลติ สโตร์ ฟอร์แมต (Multi Store Format) การมีฟอร์แมตของร้านที่หลากหลาย ล่าสุดได้เปิดสาขาแรกในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่อาคารผู้โดยสาร ชั้น 3, (2) การเข้าถึงลูกค้าจากทุกช่องทาง ทั้งในร้าน การจัดส่งอาหาร การบริการแบบซื้อกลับ การบริการ self-pick up รวมทั้ง “เคเอฟซี ฟูดทรัค” ที่มีการเสริมนวัตกรรมต่างๆ และ 3) การขยายการเติบโตผ่านสายผลิตภัณฑ์ พัฒนาเมนูใหม่ การจัดโปรโมชันต่างๆ ล่าสุดเปิดตัว KFC Café by SO COFFEE
ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง ซีอาร์จี ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้ยังไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูลใดๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ อาร์ดี รับสิทธิ์แฟรนไชส์เคเอฟซีมาตั้งแต่แรก พบว่ามีผลประกอบการที่ไม่ดี ขาดทุนตัวเลขแดงมาตลอด
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2558 ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท มีนายแอนดรูว์ เจมส์ นอร์ตัน, นายยง เต็ก ชอง แดเนียล และนายอิชิฮาระ ยาสุทากะ เป็นกรรมการบริษัท
ปีงบการเงิน 2559 มีรายได้รวม 475,738,449.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 80,645,777.00 บาท
ปีงบการเงิน 2560 มีรายได้รวม 3,604,768,373.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 144,459,417.00 บาท
ปีงบการเงิน 2561 มีรายได้รวม 4,066,782,112.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 92,955,837.00 บาท
ปีงบการเงิน 2562 มีรายได้รวม 4,370,425,907.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 127,006,241.00 บาท
ปีงบการเงิน 2563 มีรายได้รวม 4,113,659,679.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 280,725,279.00 บาท
ปีงบการเงิน 2564 มีรายได้รวม 3,856,423,752.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 232,062,089.00 บาท
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูว่า อาร์ดี จะขายสิทธิ์แฟรนไชส์เคเอฟซีที่ถืออยู่จริงหรือไม่ และสองรายเก่าที่ทำอยู่ทั้ง ซีอาร์จี กับ คิวเอสเอ ใครกันที่จะแย่งสิทธิ์นี้ไปครองต่อได้
เพราะทั้งสองรายต่างก็จ้องตาเป็นมันอยู่แล้ว ที่จะแย่งกันซื้อเพื่อให้เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด
บทสรุปคือ เมื่อไก่ KFC จะหลุดจากเล้า RD
CRG กับ QSA ต่างก็จ้องเชือดไก่