SCC ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังความไม่แน่นอนสูง มีปัจจัยลบเพียบทั้งเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยสูง กล่าวได้ว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ชู 5 กลยุทธ์รับมือทั้งลดต้นทุนหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน ผลักดันสินค้านวัตกรรมใหม่ คุมเข้มการลงทุน โดยหั่นงบลงทุนปีนี้เหลือ 7 หมื่นล้านบาท การเพิ่มสภาพคล่องและเร่ง ESG มั่นใจปีนี้ยอดขายโตตามเป้า 10% แต่ให้ความสำคัญเรื่องกำไรและสภาพคล่อง หลังกำไร 6 เดือนแรกปีนี้ทรุด 41% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ 18,781 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบธุรกิจเคมิคอลส์สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจเป้าหมายการเติบโตของรายได้จากการขายในปี 2565 เกินกว่า 10% เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบและราคาพลังงาน ซึ่งในช่วงวิกฤตเช่นนี้ยอดขายไม่ใช่จุดที่ต้องเน้น แต่บริษัทจะให้ความสำคัญในการทำกำไรและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน
ผลประกอบการไตรมาส 2/2565 บริษัทมีรายได้จากการขาย 152,534 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกกลุ่มธุรกิจจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตามราคาตลาด โดยมีกำไรเท่ากับ 9,937 ล้านบาท ลดลง 42% จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากต้นทุนวัตถุดิบธุรกิจเคมิคอลส์ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการขาย 305,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 18,781 ล้านบาท ลดลง 41% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบธุรกิจเคมิคอลส์ที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลกที่สูง และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2565 ในอัตราหุ้นละ 6 บาท กำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 26 สิงหาคม 2565
นายรุ่งโรจน์กล่าวยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังนี้มีความไม่แน่นอนสูง ปัจจัยลบมีมาก ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีผลทำให้ราคาสินค้าขยับขึ้นมา รวมทั้งราคาพลังงานที่สูงขึ้น ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย กล่าวได้ว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งบริษัทเห็นสัญญาณมาตั้งแต่กลางปี 2564 เว้นปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ดังนั้น บริษัทจะเร่งดำเนินการภายใต้ 5 กลยุทธ์ คือ 1. การลดต้นทุน เพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนราว 16.4% 2. พัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง 3. เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 4. คุมเข้มการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ โดยทบทวนการลงทุน โดยชะลอการลงทุนใหม่ๆ ที่ไม่เร่งด่วนหรือโครงการที่ให้ผลตอบแทนนาน โดยบริษัทมุ่งเน้นโครงการที่ให้ผลตอบแทนเร็ว ขณะที่โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม (LSP) การก่อสร้างคืบหน้า 96% ก็ยังดำเนินการต่อ คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปลายปีนี้ต่อเนื่องไปต้นปี 2566 และ 5. เดินหน้า ESG โดยครึ่งแรกปีนี้บริษัททียอดขายนวัตกรรมรักษ์โลกภายใต้ฉลาก SCG Green Choice ราว 1.53 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% ของยอดขายรวม
นายรุ่งโรจน์กล่าวต่อไปว่า งบลงทุนในปีนี้บริษัทได้ปรับลดลงเหลือ 70,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 80,000 ล้านบาท โดยบริษัทมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน ซึ่งการตัดสินใจร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) นั้นจะเน้นโครงการที่สร้างรายได้และกำไรทันที
ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีมูลค่าเท่ากับ 22,445 ล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนเป็นของธุรกิจเคมิคอลส์ 58% ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 23% ธุรกิจแพกเกจจิ้ง 14% และส่วนงานอื่น 5% โดยรายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนส่วนใหญ่ใช้สำหรับโครงการปิโตรเคมีครบวงจรของ LSP
ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 EBITDA เท่ากับ 42,468 ล้านบาท ในขณะที่มีกระแสเงินสดจ่ายทั้งสิ้น 44,762 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายลงทุนและเงินลงทุน 22,445 ล้านบาท จ่ายเงินปันผล 13,932 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 4,377 ล้านบาท และจ่ายภาษีเงินได้ 4,008 ล้านบาท