xs
xsm
sm
md
lg

Executive Talk by ShareInvestor: RAM ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่ Digital Healthcare เพื่อคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•RAM ชูนวัตกรรมการแพทย์หลังยุคโควิดที่มี Digital Healthcare เป็นแกนหลักของการส่งมอบบริการแก่ผู้ป่วย ตอกย้ำศักยภาพ และความพร้อมสู่การเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของไทยด้วยแผนขยายธุรกิจ ผนวกความร่วมมือกับ partners มากมาย

•นายแพทย์พิชญ สมบูรณสิน กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ โรงพยาบาลรามคำแหง จะมาเล่าถึงความท้าทาย การปรับตัว และแผนกลยุทธ์พัฒนาโรงพยาบาลเพื่อส่งมอบบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดแก่คนไทย


1.คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อประชาคมโลกในทุกมิติ ดังนั้น ในมุมมองของคุณ การแพทย์หลังยุคโควิด-19 จะดำเนินไปในทิศทางใด และโรงพยาบาลรามคำแหงมีการวางแผนกลยุทธ์อย่างไรบ้าง

สำหรับวงการแพทย์ ก็จะเห็นว่าโควิด-19 ได้ให้บทเรียนหลายอย่าง หลังจากผ่านพ้นเรื่องนี้ไป โดยเพราะหลักๆก็คือเรื่องของความยืดหยุ่น เราต้องมีความฉับไวในการปรับเปลี่ยนเรื่องของกลยุทธ์และการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งต้องเปลี่ยนไปในสถานการณ์โรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลที่อาจจะต้องมีการแยกโซนที่เป็นส่วนโรคติดเชื้อ การควบคุม การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อที่ดี เพื่อยังคงให้บริการผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคอื่นๆได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคระบาด หรือโควิด-19 ได้ เราเป็นเจ้าแรกที่ริเริ่มเรื่องของการตรวจโควิด-19 แบบ Drive through ซึ่งสร้างความสบายใจให้กับคนที่มาตรวจว่าไม่ต้องเข้ามาในตัวอาคารโรงพยาบาล แล้วก็สามารถตรวจได้อย่างรวดเร็ว กลับบ้านไปรอผลได้เลย หลังจากนั้น โควิด-19 เข้ามา มีคนป่วยเยอะขึ้น เราก็ต้องร่วมมือกับภาครัฐนะครับในการรับมือสถานการณ์โรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับผู้ป่วยเข้ามาดูแลในโรงพยาบาล การร่วมมือกับโรงแรมในการจัดตั้งสถานกักตัวที่ เรียกว่า ASQ หรือ Hospitel สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อที่อาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการนะครับ ซึ่งด้วยความพร้อมในเรื่องของการบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ แล้วก็เทคโนโลยีของโรงพยาบาล จึงทำให้เราจัดตั้ง ตลอดจนปรับเปลี่ยนเรื่องการบริการเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพครับ



2.โรงพยาบาลรามคำแหงมีการดำเนินงานอย่างไรบ้างเพื่อรองรับ Digital Healthcare (IT Infrastructure)

ถ้าพูดในมุมมองของทุกๆธุรกิจ เราจะเรียกว่าเป็น Digital Transformation นะครับ ซึ่งต้องขอบคุณผู้บริหารรุ่นก่อตั้ง ที่ท่านมีวิสัยทัศน์ในการปูพื้นฐาน และรากฐานเรื่องเหล่านี้มามากกว่า 10 ปีแล้ว อย่างในยุคก่อนๆเวลาที่คุณหมอดูแลผู้ป่วย ก็คือต้องมีการบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยลงในแฟ้มกระดาษใช่ไหมครับ จากนั้นก็เอาไปเก็บ พอถึงเวลาที่เราต้องการข้อมูลนั้น ก็ต้องให้คนไปค้น ซึ่งจุดนี้เป็นจุดแรกที่เราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนะครับ คือเปลี่ยนจากระบบการบันทึกลงกระดาษเป็นการบันทึกข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เราเรียกในวงการแพทย์ว่า EMR: Electronic Medical Records ซึ่งตัวนี้ก็จะเป็นการบันทึกข้อมูลการดูแลรักษาผู้ป่วย ผลการตรวจรักษาต่างๆ รวมถึงภาพทางการแพทย์ เช่น ภาพ X-ray หรือภาพถ่ายในการผ่าตัด เข้าไปในฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่ถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัย ข้อดีของเรื่องเหล่านี้ อันที่หนึ่ง คือเรื่องของความรวดเร็ว เวลาที่คนไข้มาพบคุณหมอ คุณหมอสามารถดึงข้อมูลของผู้ป่วยท่านนั้นมาได้ทันที นอกจากนั้นก็คือเรื่องความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลครับ เรามี Data center ซึ่งได้ทำการ backup ไว้อีก 2-3 ชั้นนะครับ อันดับสอง คือเรื่องของความแม่นยำครับ การเก็บข้อมูลที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มีระบบความปลอดภัยหลายชั้น มีการทวนสอบ ซึ่งก็จะช่วยลดความผิดพลาดจากตัวบุคคลได้ครับ

ยุคต่อมา เราจะเห็นว่าทุกคนเปลี่ยนจากการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ มาเป็นแท็บเลต หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ซึ่งวงการแพทย์ก็เช่นกัน ถ้าเราเข้ามาที่โรงพยาบาลรามคำแหง เราจะเห็นว่าทั้งคุณหมอ ทั้งคุณพยาบาล คุณเจ้าหน้าที่ ถือแท็บเลตหรือสมาร์ทโฟนเพื่อทำงานเต็มไปหมด คุณหมอสามารถดูประวัติการรักษาของผู้ป่วยได้เลย สามารถนำภาพ X-ray นำวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเนี่ย มาให้ผู้ป่วยและญาติดู รวมถึงเมื่อคุณหมอกดสั่งการรักษาปุ๊บ คำสั่งการรักษา การสั่งยาก็จะเข้าไปที่ระบบห้องยาทันที ซึ่งก็จะมีคุณพยาบาลที่ห้องยาทำการทวนสอบคำสั่งการรักษาของคุณหมออีกครั้ง ขั้นตอนเหล่านี้จะรวดเร็วมากค รวมถึงระบบการจัดยาผู้ป่วยในของเรา ส่วนใหญ่เราจะใช้เป็นหุ่นยนต์จัดยา หน้าตาจะเหมือนกับ Vending Machine นะครับ ซึ่งก็จะมียาบรรจุอยู่ภายในเต็มไปหมด เมื่อมีคำสั่งยามาถึง ตัวหุ่นยนต์ก็จะทำการจัดยาตามคำสั่ง แล้วก็ทำแพ็คเกจแบบเฉพาะบุคคล สำหรับคนไข้ท่านนั้น หลังจากนั้นยาก็จะถูกส่งขึ้นมาที่หอผู้ป่วย ซึ่งก็จะมีทั้งเรื่องของความสะดวกรวดเร็ว ความปลอดภัย และความถูกต้องนะครับ

รวมถึงในยุคโควิดเนี่ย เป็นยุคที่เราต้องปรับเปลี่ยนอะไรเยอะเลย เราต้องไปดูแลผู้ป่วยนอกสถานที่ อย่างเช่นที่ตัวโรงแรมที่เราไปทำ Hospitel หรือ ASQ แค่เอาแท็บเลตไป ก็เหมือนกับยกโรงพยาบาลไปไว้ ณ จุด ๆ นั้นได้เลยครับ มันสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกลับมาที่โรงพยาบาลได้ทันที

3.นวัตกรรม หรือการบริการทางการแพทย์ที่แตกต่าง ที่คนไข้หรือผู้มาใช้บริการ จะได้รับประสบการณ์จากโรงพยาบาลรามคำแหง

ถ้าเป็นเชิงเทคโนโลยี เนื่องจากโรงพยาบาลรามคำแหงเราเปิดมานานกว่า 30 ปี เรามีคนไข้ประจำมากมาย ดังนั้น ในช่วงโควิดที่ผ่านมา คนไข้หลาย ๆ ท่านอาจจะมีความลำบากในการเดินทางระหว่างช่วงมาตรการล็อคดาวน์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไข้ที่ต้องมารับยาทุกเดือน เราก็ได้จัดตั้งระบบ Telemedicine ขึ้นมา โดยผู้ป่วยสามารถ Video call เข้ามาหาคุณหมอประจำของเราได้ คุณหมอก็สามารถพิมพ์ข้อมูลผู้ป่วยแล้วก็จะจัดยาประจำที่จำเป็นที่สามารถจัดให้ได้ โดยไม่ต้องเจอตัวกันในช่วงนั้น รวมทั้งเราก็มีบริการส่งยาถึงบ้านด้วยครับ

เรื่องที่สอง ปัจจุบัน Mobile technology ทำงานได้ดี เรามีศูนย์ที่ดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คนไข้ที่รักษากับเรา บางท่านอาจจะมีอาการใจสั่น หรือหัวใจเต้นสะดุด แต่พอมาเจอคุณหมอ กลับไม่มีอาการ เราจึงมีอุปกรณ์ตรวจจับการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัวให้คนไข้นำกลับไปบ้านครับ บางท่านที่มีอาการแบบไม่รู้ตัว ก็สามารถจะติดตัวไว้ได้ตลอดเวลา เหมือนกับกล้องติดรถยนต์เลยครับ ถ้าเกิดมีอาการปุ๊บ เครื่องก็จะส่งข้อมูลกลับมาที่ศูนย์หัวใจของโรงพยาบาล และนำคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกตินั้นไปให้คุณหมอตรวจดูได้ทันทีว่าขณะนี้อันตรายแค่ไหน ต้องรักษาอย่างไร ซึ่งถือเป็นการช่วยให้คนไข้ค้นพบสาเหตุของความผิดปกติของตัวเอง แล้วก็รักษาได้ตรงจุด ซึ่งในอนาคตก็จะมีอย่างอื่นตามมาอีกครับ เช่น กลุ่มคนไข้โรคเรื้อรังที่ต้องมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจความดัน เรื่องเหล่านี้เนี่ย อีกหน่อยมันจะไม่ใช่แค่ว่าคนไข้ต้องมาเจอคุณหมอเดือนละครั้งละ แต่ทุกครั้งที่มา จะมีข้อมูลของคนไข้ซึ่งถูกบันทึกไว้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถส่งกลับมาให้ โรงพยาบาลดูแลได้ทันทีครับ

               

4. อัพเดทความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างโรงพยาบาล 4 แห่ง จะมีโปรเจคใดพร้อมให้บริการภายในปี 2022 นี้หรือไม่ อย่างไร

สำหรับโครงการที่ใกล้เปิดดำเนินการอีกไม่นานนี้ก็จะเป็นโรงพยาบาลรามคำแหง 2 นะครับ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด 560 เตียง คาดว่าน่าจะพร้อมเปิดให้บริการราวไตรมาส 4 ของปีนี้ หรือไตรมาส 1 ของปี 2023 ครับ โรงต่อไปก็น่าจะเป็นโรงพยาบาลธนบุรี-รังสิต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเครือโรงพยาบาลธนบุรี โรงพยาบาลรามคำแหง โรงพยาบาลวิภาวดี แล้วก็กลุ่มอื่นๆนะครับ โรงพยาบาลนี้จะตั้งอยู่บนจุดที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการที่มีคุณหมอที่อยู่ใกล้กันจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หรือเรื่องพื้นที่ ซึ่งบริเวณนั้นคือเขตที่อยู่อาศัย โครงการนี้ก็น่าจะเปิดในลำดับต่อไปอีกประมาณปี 2024 นะครับ นอกจากนี้ เรายังมีโปรเจคโรงพยาบาลรามคำแหง 3 ตัวนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลคำแหง โรงพยาบาลวิภาราม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพนะครับ โครงการตั้งอยู่บนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย บริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นจุดที่เรียกว่าเป็นย่านธุรกิจเลย ก็ใกล้ๆกับถนนสาทร โครงการนี้มีโอกาสทางธุรกิจหลายเรื่องครับ อันที่หนึ่ง โรงพยาบาลมีศักยภาพในการดูแลทั้งบุคคลที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น หรือคนที่เข้ามาทำงานบริเวณนั้น เรื่องที่สอง คือการส่งเสริมซึ่งกันและกันระหว่างตัวโรงพยาบาลกับมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยสามารถออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานของโรงพยาบาลได้ จากนั้นเมื่อนักศึกษาเรียนจบมาแล้ว ก็จะมีงานรองรับทันทีครับ

จริง ๆ เรื่องธุรกิจโรงพยาบาล ผมมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้ความสำคัญ แล้วก็พยายามจะทำให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์นะครับ เมืองไทยมีจุดเด่นหลายเรื่อง อันที่หนึ่ง คือเรื่องราคา เราอาจจะไม่ใช่ประเทศที่มีค่าบริการทางการแพทย์ถูกสุด แต่ก็เป็นราคาที่เหมาะสม อันที่สอง คือเรื่อง Thai hospitality ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกชาติยอมรับว่าเรามีการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี อันที่สาม คือเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว แน่นอนอยู่แล้ว เมื่อคนต่างชาติมารักษาตัวที่นี่ ก็ย่อมต้องพาญาติ และผู้ติดตามมาด้วย เขาก็สามารถไปเที่ยว ไปชอปปิ้ง อะไรกันต่อได้ ซึ่งอาจจะต่างจากบางประเทศที่แม้จะมีการดูแลทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสูง แต่ว่าเรื่องของ Hospitality หรือการท่องเที่ยวอาจจะสู้เราไม่ได้ นี่เป็นจุดแข็งเลยครับ

5. เป้าหมายทางธุรกิจในระยะ 1 ปี และ 5 ปีต่อจากนี้

สำหรับระยะใกล้นี้ อันที่หนึ่ง เราเริ่มลงตัวแล้วกับการจัดการเรื่องโควิด เรามีโครงสร้างปัจจัยพื้นฐานต่างๆที่พร้อมรับมือแล้ว อันที่สอง คือเรื่องของการดูแลผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เริ่มมั่นใจ และคุ้นเคยกับการมาโรงพยาบาลที่มีการดูแลผู้ป่วยโควิด ว่ามันไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป ส่วนโครงการต่าง ๆ ที่อาจจะเคยชะลอไปในช่วงที่มีโรคระบาด เรื่องการพัฒนาศักยภาพการดูแลรักษาพยาบาลต่าง ๆ ก็เริ่มกลับมาเร่งสปีด เพื่อดูแลผู้ป่วยในส่วนนี้ให้ดียิ่งขึ้น อันนี้ก็คือเป้าหมายระยะสั้นนะครับ

แต่ถ้าระยะยาวอีก 5 ปี ก็คงน่าจะเป็นภาพกว้างมากกว่า ภาพแรกก็อย่างเช่น เรื่องการขยายจำนวนโรงพยาบาล หรือจำนวนเตียงผู้ป่วยในเครือข่ายโรงพยาบาลรามคำแหง เราคงขยับขยายไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป้าหมายก็ต้องขึ้นอยู่กับว่ามีโอกาส หรือมีความเหมาะสมในการสร้างโรงพยาบาลเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน เรามีความยึดสูงมากในการที่จะขยายโรงพยาบาลครับ เรามีทั้งการสร้างโรงพยาบาลใหม่ขึ้นมาเลย และการเข้าไป synergy กับโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ศักยภาพ อย่างเช่นที่ผ่านมาอาจจะมีข่าวเรื่องโปรเจคโรงพยาบาลเชียงรายราม คือเขาเป็นโรงพยาบาลเชียงรายอินเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมืองจังหวัด เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพครับ แล้วพอได้มาคุยกันเนี่ย ก็ทำให้เรามีโครงการที่จะขยายตัวโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีมากขึ้นนะครับ เนื่องจากว่าเครือข่ายของโรงพยาบาลรามคำแหงในภาคเหนือเนี่ย เราเรียกได้ว่าแทบจะครอบคลุมทุกจังหวัด ในภาคเหนือละ เมื่อมีจังหวัดเชียงรายมาเพิ่มนี่ก็น่าจะครบแล้วครับ

6. คุณค่าสำคัญที่โรงพยาบาลรามคำแหงยึดถือเป็นหัวใจของการประกอบธุรกิจ

คุณค่าสำคัญของเรา ที่เรายึดมั่นมาตั้งแต่ก่อตั้งโรงพยาบาลเลยก็คือ การส่งมอบบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงแล้วก็มีราคาที่เหมาะสม เพื่อดูแลคนไทยทุกคน ในทุกระดับนะครับ รวมถึง หากมีผู้ป่วยต่างชาติ เราก็มีศักยภาพ พร้อมที่จะดูแล นอกจากนี้ เราก็ไม่หยุดพัฒนาทั้งในด้านการแพทย์ ด้านเทคโนโลยี ตลอดจนเรื่องอื่นๆครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น