xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มลงทุนไทยครึ่งปีหลังต่างชาติเริ่มขยับ เล็งปักหมุด “อีอีซี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เศรษฐกิจไทยปี 2565 ครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีขณะที่ภาพของครึ่งปีหลังกูรูทางเศรษฐกิจหลายส่วนต่างมีมุมมองว่าน่าห่วงจากภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อของภาพรวมทั้งโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวนับตั้งแต่การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กลายเป็นเครื่องยนต์ที่ดับสนิท เมื่อรัฐบาลได้มีการเปิดประเทศรับท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ภาพของเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะมีภาคท่องเที่ยวมาเป็นกำลังเสริมให้ระบบเศรษฐกิจแต่จะมากน้อยเพียงใดก็คงต้องลุ้นตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาเป็นสำคัญ

สำหรับภาพของการลงทุนจากเอกชนถือเป็นอีกเครื่องยนต์หนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยแม้ว่าจะไม่โดดเด่นเท่ากับภาคส่งออก แต่มีส่วนสำคัญต่อการจ้างงานและสร้างรายได้ โดยภาพรวมปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ตั้งเป้าหมายคำขอรับส่งเสริมการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท โดยไตรมาสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 77,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และพบว่าสัญญาณการลงทุนจากต่างชาติยังคงให้ความสนใจไทยต่อเนื่อง

เป้าหมายที่นักลงทุนปักหมุดคือพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนเข้ามายังไทยต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้ก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ...ทำให้ฐานการผลิตของไทยที่พัฒนามายาวนาน 40 ปียังคงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน .... ดังนั้น แนวโน้มการลงทุนของไทยภาพต่อไปจะเป็นอย่างไรท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกจึงต้องมาฟังเสียงสะท้อนจากกูรูผู้อยู่ในแวดวงการลงทุนตัวจริง 


ส.อ.ท.ลุ้นเปิดประเทศฟื้นการค้า-ลงทุน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า การลงทุนไทยภาพรวมครึ่งปีหลังเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นจนทำให้ประเทศต่างๆ หันมาเปิดประเทศรวมถึงไทยการเดินทางที่สะดวกจะส่งผลบวกต่อการลงทุนในครึ่งปีหลังฟื้นตัวมากกว่าเดิมที่มีการล็อกดาวน์ แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ และรวมถึงกรณีพบต่างชาติติดเชื้อฝีดาษลิงในไทยรายแรกที่จะต้องไม่เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มเติม ประเด็นนี้หากควบคุมได้และไม่นำไปสู่การล็อกดาวน์อีก ซึ่งรวมไปถึงประเทศอื่นๆ เชื่อว่าไม่เพียงแต่การลงทุนเศรษฐกิจโดยรวมก็จะฟื้นตัวอย่างแน่นอน

“หากมองในแง่ของคู่แข่งในการดึงการลงทุนย่อมหนีไม่พ้น เวียดนาม ที่ค่อนข้างมาแรง ซึ่งแต้มต่อที่เขามีที่เห็นชัดเจนต่างจากไทยคือสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับประเทศต่างๆ เนื่องจากเวียดนามมีการลงนามภายใต้ข้อตกลงต่างๆ มากกว่าไทยทั้งความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม หรือ EVFTA การเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุม และก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ฯลฯ ไทยเองคงจะต้องมาพิจารณาว่าเราจะสร้างความได้เปรียบลักษณะนี้ได้เช่นไร และต้องคำนึงถึงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไปด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับปัจจัยหนุนการลงทุนไทยคือ อีอีซี ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับที่มีเป้าหมายชัดเจนมากขึ้นในการเสริมสร้างศักยภาพของไทย และวางแนวทางดึงการลงทุนที่มุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย การวางยุทธศาสตร์ดังกล่าวนับว่าไทยมาถูกทาง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าในวิกฤตนั้นเป็นโอกาสของหลายๆ อุตสาหกรรมที่ยังคงต่อยอดการลงทุนให้กับไทยได้อย่างมีศักยภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยที่ในยุคปัจจุบันถือเป็นเรื่องความมั่นคงที่ไทยต้องต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มและให้รายได้กระจายไปยังฐานรากหรือเกษตรกรให้มากขึ้น

ทั้งนี้ จากการที่ ส.อ.ท.ได้จัดงาน FTI EXPO 2022 มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีที่เพิ่งผ่านพ้นไป ภายใต้แนวคิด Shaping the Future Industry for Stronger Thailand I ฉากทัศน์ใหม่อุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิม ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-3 ก.ค. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ โดยตลอด 5 วันของการจัดงาน ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชนและต่างชาติ มียอดผู้เข้าชมงานล้นหลามมากกว่า 60,000 คน และเกิดการเข้าถึงงานบนโลกออนไลน์กว่า 1.4 ล้านคน ถือเป็นการโชว์ศักยภาพของภาคการผลิตของไทยได้เป็นอย่างดี

เมื่อถามถึงเสถียรภาพการเมืองต่อการลงทุน นายเกรียงไกรกล่าวว่า เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญหากการเมืองมีเสถียรภาพก็ย่อมสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนได้ดีกว่า โดยการเมืองไทยขณะนี้คงจะต้องติดตามเพราะเตรียมเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้วจึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายจำเป็นต้องมุ่งเน้นดูแลปากท้องชาวบ้านให้มากขึ้นเพราะไทยเผชิญทั้งเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพสูง จากราคาน้ำมันที่สูงต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจจะไม่ได้รับการยอมรับ

“เงินบาทที่ผันผวนและอ่อนค่าก็อาจจะกระทบต่อการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อการลงทุนใหม่ๆ ให้ชะลอการตัดสินใจได้เช่นกันแต่จะเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แต่ในแง่ส่งออกที่เติบโตก็ยังคงไม่กระทบ ผมคิดว่าทุกประเทศล้วนมีจุดอ่อน จุดแข็ง สุดท้ายอยู่ที่การบริหารจัดการและนโยบายที่ชัดเจน และในทุกวิกฤตก็เป็นโอกาสเสมอ แต่โอกาสย่อมเป็นของคนที่พร้อมกว่า เราจึงต้องเตรียมพร้อมรับกับเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และการเมืองโลกที่กำลังเปลี่ยนไป” นายเกรียงไกรกล่าว

กนอ.มั่นใจไทยยังโดดเด่นในสายตานักลงทุน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงมุมมองศักยภาพการลงทุนไทยในครึ่งปีหลังว่า จากการพบปะนักลงทุนต่างชาติผมยังเชื่อมั่นว่าการลงทุนไทยยังมีโอกาสเติบโตได้ดีอยู่แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆอยู่บ้างพอสมควรแต่การลงทุนเป็นการมองระยะยาว โดยไทยมีจุดเด่นสำคัญคือการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีทำให้การผลิตของไทยไม่เกิดการชะงักงันและมีระบบห่วงโซ่การผลิต (ซัปพลายเชน) ในหลายอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง และยังมีพื้นที่ "อีอีซี" ที่วางระบบโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับที่ชัดเจนทำให้นักลงทุนมีความสนใจในการเข้ามาลงทุน

“ผมดูโรงงานจากในนิคมฯ แม้ในวิกฤตหลายโรงงานยังมีผลประกอบการที่เติบโต แต่ก็ยอมรับว่าบางโรงงานก็มีผลกระทบ ดังนั้นในวิกฤตจึงมีโอกาสเช่นกัน เช่นเดียวกับการลงทุน แต่อยู่ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขอุปสรรคหรือจุดด้อยเพื่อทำให้วิกฤตเป็นโอกาสได้มากขึ้น เพราะพื้นฐานหลายด้านของไทยนั้นเข้มแข็งดีอยู่แล้ว ตัวอย่างที่นักลงทุนต่างชาติมองว่ายังเป็นจุดด้อยคือ แรงงานระดับฝีมือไม่ว่าจะเป็นระดับวิศวกร อาชีวะ ยังขาดทักษะภาษาอังกฤษ รวมไปถึงกระบวนการอนุมัติอนุญาตบางส่วนที่ยังล่าช้า ที่เราคงต้องปรับปรุงให้มากขึ้น” นายวีริศกล่าว

เขายังสะท้อนมุมมองจากการเดินทางไปโรดโชว์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่าง 14-17 กรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นชาติที่ลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 จึงเป็นเป้าหมายในการชักชวนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve และ New S-Curve) รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ (BCG) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และในเดือน ส.ค.มีแผนที่จะร่วมเดินทางไปโรดโชว์กับบีโอไอโดยจะนำคณะผู้ร่วมพัฒนานิคมของไทยเพื่อร่วมไปให้ข้อมูลด้วย ณ เมืองโอซากา จากนั้นมีแผนจะไปโรดโชว์ที่เกาหลีใต้ ซึ่งเบื้องต้นพบว่านักลงทุนจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงจีนและไต้หวันมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนไทยต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมที่สนใจ เช่น พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อาหารแปรรูป อุตสาหกรรมชีวภาพ ยา และเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ฯลฯ

“อมตะ” มองลงทุนปีนี้ย่อมดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) สะท้อนให้เห็นภาพการลงทุนว่า ในฐานะที่อยู่วงการนี้มา 30 ปีได้เห็นวิถีการลงทุนว่าในช่วงไตรมาส 1-2 นั้นนักลงทุนจะรวบรวมข้อมูล ดูเทคนิคต่างๆ จากนั้นผู้บริหารระดับสูงจึงจะเดินทางมาดูพื้นที่ ดังนั้น ในทุกๆ ปีครึ่งปีหลังจึงเป็นไฮซีซันของการลงทุนหรือการขายพื้นที่นิคมฯ แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่หลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่เห็นว่าสำคัญนั่นคือการเดินทางมาดูพื้นที่ได้สะดวกย่อมดีกว่า โดยช่วง 2 ปีที่โควิด-19 ระบาดต่างคนต่างล็อกดาวน์ทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงัก

“ขณะนี้จีนเองมีนโยบายซีโร่โควิด เขายังไม่ปล่อยคนมา หรือบางประเทศเดินทางกลับไปแล้วต้องกักตัวนานก็เป็นประเด็นนะ แต่ตอนนี้หลายประเทศเปิดแล้วโดยเฉพาะญี่ปุ่น การเดินทางการเจรจาจะสะดวกขึ้น ยังไงก็ย่อมดีกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา” นายวิบูลย์กล่าว

สำหรับภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจโลกถดถอยเป็นผลกระทบระยะสั้น แต่การลงทุนมองระยะยาว และการลงทุนที่เน้นตลาดส่งออกหลายอย่างยังเติบโตได้ดี ในแง่ของจุดอ่อนและจุดแข็งไทยนั้นมองว่าจุดอ่อนคือ การเมือง หากการเมืองนิ่งย่อมทำให้การลงทุนมีทิศทางที่ดี จุดแข็งคือ ไทยไม่รับอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะเพื่อตอบสนองข้อตกลงของไทยในเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทนที่จะสร้างความได้เปรียบด้านการลงทุนให้แก่ไทยอย่างมาก

"นอกจากนี้ ไทยยังมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายแม้บางอุตสาหกรรมไทยอาจไม่มีศักยภาพในแง่เป็นเจ้าของแหล่งวัตถุดิบประเภทสินแร่ แต่ในโลกนี้ใช่ว่าทุกประเทศจะมีหากแต่เป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาเพิ่มมูลค่า ซึ่งอุตสาหกรรมในไทยวันนี้ไม่ธรรมดานะ และถูกพัฒนามาอย่างยาวนาน ทุกอย่างไม่ได้มาด้วยโชคชะตา แต่มาจากการที่รัฐวางแผนนับตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัชวาล และเวลานี้มาสู่ “อีอีซี” ที่รัฐได้พยายามมุ่งเน้น แต่การพัฒนาต้องอาศัยเวลา อุปสรรคมีก็ต้องแก้กันไปเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นยุคข้าวยากหมากแพงทุกคนย่อมต้องปรับตัว วิกฤตปี 2540 เราผ่านความยากลำบากมายิ่งกว่านี้ก็ยังผ่านได้ ผมจึงเชื่อว่าหากทุกคนร่วมมือกัน เห็นต่างได้แต่ต้องไม่แตกแยก ประเทศไทยก็จะก้าวไปข้างหน้าได้ในทุกวิกฤต"

จากมุมมองของกูรูเหล่านี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพบางส่วนของแนวโน้มการลงทุนไทยในระยะต่อไป ซึ่งทุกฝ่ายล้วนมีความเชื่อมั่นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายทำให้ไทยและอีกหลายประเทศเริ่มเปิดประเทศสามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น....และการปรับตัวจากทุกฝ่ายเพื่อรับมือย่อมทำให้ไทยจะฝ่า Perfect Storm ไปได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น