xs
xsm
sm
md
lg

“รวงข้าวกับเขาควาย” ร่วมหอปั้นร้านถูกดีฯ “เคบาว” เสริมเขี้ยวคาราบาวกรุ๊ป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ร้านถูกดีมีมาตรฐานเดินหน้ารุกครั้งใหญ่ หลังได้แบงก์กสิกรไทยเข้ามาเติมเต็มร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน พร้อมวงเงินกว่า 15,000 ล้านบาท อัดฉีดเต็มที่ เสริมเขี้ยวเล็บ ร้านถูกดีฯ เปิดแผนขยายเครือข่ายเป็น 30,000 แห่งภายในปี 2567

“ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ที่ว่า ต้องการสร้างมาตรฐานวงการร้านค้าปลีกชุมชนด้วยการยกระดับมาตรฐานร้านค้าปลีกให้ทันสมัยด้วยความรู้ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการร้าน โดยชูโมเดล “ร้านค้าชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ร้านสะดวกซื้อชุมชนสมัยใหม่ ที่สนิทใจลูกค้า เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และมุ่งแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายมาโดยตลอด กับแนวคิด “กินแบ่ง ไม่กินรวบ” เพราะร้านโชวห่วยดั้งเดิมก็ต้องการมีที่ยืนที่หายใจในสังคมและธุรกิจด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในมุมของธุรกิจ เสถียรย้ำว่า เราไม่ได้สนใจว่าใครเป็นคู่แข่ง ใครเป็นรายใหญ่ ใครจะทำอะไรอย่างไร เราสนใจแต่ตัวเราเองเท่านั้นว่าเราจะทำอะไร ทำอย่างไร ทำให้สิ่งเหล่านี้ที่เราตั้งใจไว้เกิดขึ้นมาเป็นรูปธรรม เป็นผลสำเร็จและเป็นประโยชน์ได้


เสถียร คือหนึ่งในผู้สร้างอาณาจักรคาราบาวกรุ๊ป ที่ปั้นเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดงจนยืนอยู่แถวหน้าของวงการ และขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของคาราบาวแดงมาต่อเนื่อง

“การทำร้านถูกดี มีมาตรฐาน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ด้วย มันยากมาก” เขายอมรับ

อย่างไรก็ตาม การลองผิดลองถูกด้วยระบบของตัวเอง การสร้างแนวทางการดำเนินงานของตัวเองก็ทำให้ร้านถูกดี มีมาตรฐานเกิดขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างได้ในเบื้องต้น

โดยร้านถูกดี มีมาตรฐาน เน้นไปที่ร้านโชวห่วยทั่วไปที่ต้องการเข้าร่วมกับเรา โดยที่เจ้าของร้านเดิมลงทุนปรับปรุงสถานที่ประมาณ 1-2 แสนบาท ส่วนทางบริษัทฯ จะจัดการทุกอย่างให้ เช่น สินค้าที่ไปลงร้าน การจัดระบบ การทำโปรโมชันต่างๆ แต่ทางพันธมิตรจะต้องวางเงินมัดจำจำนวน 2 แสนบาทเพื่อเป็นหลักประกัน แต่เมื่อเลิกการทำธุรกิจร่วมกันก็จะได้รับเงินคืน ไม่มีการเสียค่าแฟรนไชส์ ค่าการตลาดแต่อย่างใด โดยบริษัทฯ ติดต่อทางแบงก์กสิกรไทยไว้ให้ในการขอกู้เงิน ทั้งนี้จะมีการแบ่งผลกำไร โดยร้านพันธมิตรเดิมรับ 85% ซึ่งมากกว่าทั่วไป ส่วนบริษัทรับเพียง 15% เท่านั้น ตั้งเป้าว่าแต่ละร้านจะมียอดขาย 15,000 บาท/วัน มีกำไรประมาณ 12%

“ช่วงปีกว่าที่เริ่มทดลองทำ บริษัทฯ ลงทุนทำเองก่อนประมาณ 100 แห่ง และเป็นร้านโชวห่วยเดิมที่เข้าร่วมอีก 30 แห่ง จากการลงพื้นที่ และทดลองโมเดลดังกล่าวมากว่า 2 ปี เริ่มจากจังหวัดนครปฐม ขอนแก่น อุดรธานี ขยายไปยังภาคเหนือ และภาคกลาง ร้อยเอ็ด พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เป็นต้น พบว่าได้รับการตอบรับที่ดี สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่โชวห่วย จากเดิมที่ขายสินค้าได้ 3-5 พันบาทต่อวัน เพิ่มเป็นมากกว่าหมื่นบาทต่อวัน สามารถช่วยเจ้าของร้านฝ่าวิกฤตต่างๆ สร้างชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถือเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสวนกระแส ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” เป็นคำกล่าวของ เสถียร เมื่อเริ่มทำใหม่ๆ

กระทั่งปัจจุบันสามารถเปิดร้านถูกดี มีมาตรฐาน ได้แล้วรวมประมาณ 5,000 แห่งภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี หลังจากที่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ปีแรกก็เปิดได้แล้วถึง 185 แห่ง ถัดมาปีที่แล้วมีครบ 2,641 ร้านค้า และปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะมีร้านถูกดีฯ ครบ 10,000 แห่ง

แผนจากนี้ เสถียรตั้งเป้าหมายที่จะเปิดร้านถูกดีฯ ครบ 20,000 แห่งภายในปีหน้า และเป็นปีที่จะขยายพื้นที่ลงสู่ภาคใต้ด้วย และปี 2567 จะมีร้านถููกดีฯ ทั่วประเทศครบ 30,000 แห่ง ซึ่งดูเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก


ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้เสถียรเชื่อมั่นว่าจะต้องทำให้ได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดเขาบอกว่า ดูจากปริมาณผู้สนใจก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะในแต่ละสัปดาห์จะมีผู้สนใจติดต่อมาไม่ต่ำกว่า 500 ราย ทั้งจากร้านโชวห่วยเดิม ผู้ประกอบการเดิม และผู้สนใจลงทุนเปิดร้านถูกดีฯ มีมาลงทะเบียนต่อคิว หรือคิดสนใจเปิดร้านถูกดีฯ เฉลี่ยแล้วมีประมาณ 2,000 รายต่อเดือน ที่ซึ่งเสถียรเองยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่มากมาย แต่เราก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีทั้งหมด เพราะกระบวนการต่างๆ การเปิดให้บริการต้องใช้เงินทุนมาก ทีมงานก็เพิ่มจำนวนไม่ทัน

แค่ให้ทีมงานไปดูพื้นที่ก็ยากแล้วเพราะมีจำนวนไม่เพียงพอ

ด้วยข้อจำกัด จุดนี้เองที่ทำให้เสถียรต้องหาทางบริหารจัดการแก้ไข ทั้งในส่วนของตัวเอง และการที่จะหาพันธมิตรในทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะนำมาลงทุน เพราะทุกวันนี้เสถียรย้ำว่าอย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่องกำไรเลย

แต่อย่างน้อยก็ประสบความสำเร็จขั้นแรกไปแล้วกับการสร้างร้านถูกดีฯ ให้เป็นพอยต์ ออฟ เซล (Point of Sale) หรือร้านค้าปลีกสินค้าในชุมชน

แต่จากนี้ไปกำลังขยับขยายไปสู่การเป็นพอยต์ ออฟ เซอร์วิส (Point of Service) คือนอกจากเป็นร้านค้าขายสินค้าในชีวิตประจำวันแล้ว จะต้องเป็นร้านที่มีบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันหรือไลฟ์สไตล์ควบคู่ไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น จุดรับชำระค่าบริการต่างๆ จุดบริการรับส่งสินค้า เป็นต้น หรือแม้แต่การเปิดบริการพรีออเดอร์ (Pre Order ) ให้ร้านค้าที่สามารถสั่งสินค้าล่วงหน้าก่อนได้


“ยุทธศาสตร์ของบริษัทในการพัฒนา “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” นั้น บริษัทไม่ได้มองเพียงการเข้ามาพัฒนาและปรับร้านโชวห่วยให้มีความทันสมัยเท่านั้น แต่วางเป้าหมายให้ร้านถูกดีฯ เป็นเสมือน “แพลตฟอร์ม” และ “โครงข่าย” ที่เชื่อมโยงกันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนทั่วประเทศ และเชื่อมต่อผู้ผลิต และผู้ให้บริการต่างๆ ที่คนในชุมชนเคยเข้าถึงได้ยากเช่น บริการทางการเงิน, เป็นจุดรับส่งสินค้าในชุมชน, บริการสินค้าทางการเกษตร การปล่อยสินเชื่อให้แก่ร้านค้า และผู้บริโภค ฯลฯ โดยเฉพาะในชุมชน หมู่บ้านที่ห่างไกลที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังเข้าไม่ถึง” นายเสถียรกล่าว

ที่สำคัญ เป้าหมายสูงสุดคือ การเป็นพอยต์ ออฟ เอฟวรีธิงก์ (Point of Everything) ที่จะเป็นร้านค้ารวมทุกสิ่งทุกอย่างให้ชุมชนที่บางแห่งอาจจะอยูู่ห่างไกลจากการบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้เข้าถึงบริการของภาครัฐ การสั่งซื้อสินค้าที่คาดไม่ถึง เช่น วัสดุก่อสร้าง การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขต่างๆ เป็นต้น ถึงกระทั่งเป็นร้านที่เข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซด้วยซ้ำไป ทว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้โดยลำพัง

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับร้านถูกดีฯ ก็คือ เมื่อพันธมิตรรายใหญ่อย่าง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคแบงก์ ที่เป็นพันธมิตรกันมานานกับเสถียรจะเข้ามาซัปพอร์ตธุรกิจเต็มที่ พร้อมกับการเตรียมเข้าร่วมทุนในบริษัทฯ ที่ะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ด้วย โดยเตรียมร่วมลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท ผนึกกำลังกับ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว” พัฒนาร้านสะดวกซื้อชุมชน “ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนทั่วไทย เปิดโอกาสให้คนในชุมชนที่สนใจเปิดร้านมีโอกาสเป็นเจ้าของ และทำให้คนในชุมชนได้ใช้บริการการเงินและสินเชื่อครบวงจร

โดยการลงทุนของธนาคารครอบคลุมการร่วมลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 2,000 ล้านบาท และเตรียมลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการสินชื่อเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นผู้นำธุรกิจร้านสะดวกซื้อชุมชนในประเทศไทยที่ให้บริการการเงินและสินเชื่อครบวงจร มีจำนวนร้าน 30,000 ร้าน ภายในปี 2567

“ความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายดังกล่าว” นายเสถียร กล่าวอย่างมั่นใจ


นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ชุมชนนอกตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ลูกค้ามีความต้องการใช้บริการการเงิน บางส่วนไม่มีบัญชีเงินฝาก ไม่มีหลักฐานการเงินที่ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และเป็นพื้นที่ที่สาขาของธนาคารยังเข้าไม่ถึง การร่วมลงทุนกับ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว” เป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารที่ตั้งใจพัฒนาร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ทุกคนที่อยู่ในวงจรของ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ตั้งแต่เจ้าของร้าน คู่ค้า ชาวบ้านในชุมชน สามารถจับจ่ายใช้สอยและใช้บริการการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้หมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน

การพัฒนา “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ที่ธนาคารมีแผนดำเนินการร่วมกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่
1) ส่งเสริมศักยภาพของร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นร้านสะดวกซื้อชุมชนที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านและระบบการชำระเงินต่างๆ

2) เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค้าขายต่างๆ โดยธนาคารนำข้อมูลการจับจ่ายในชีวิตประจำวันมาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ประจำ หรือเจ้าของร้านค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนภายในร้าน

3) เป็นจุดให้บริการธุรกรรมการเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันแก่คนในชุมชน เช่น บริการถอนเงิน จ่ายบิล เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น สแกนจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยแล้ว เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในช่วงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19


“ความร่วมมือนี้จะทำให้ธนาคารมีจุดบริการเคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service) เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด จากเดิมมีจำนวนกว่า 27,000 จุด เพิ่มช่องทางการให้บริการได้ลึกถึงแหล่งชุมชนและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันธนาคารมีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา ตู้เอทีเอ็มและตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย”

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของธนาคารรวมกว่า 15,000 ล้านบาท ครอบคลุมการร่วมลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด และเตรียมลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการสินเชื่อเต็มรูปแบบ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินให้แก่ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว”

โดยวงเงินแยกเป็น 3 ประการ คือ 1. วงเงิน 8,000 ล้านบาท เป็นการให้วงเงินกู้สำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวและบริษัทร่วมทุน

2. วงเงิน 5,000 ล้านบาท ลงทุนผ่านตราสารทุนที่ให้สิทธิการลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด

3. วงเงิน 2,000 ล้านบาท เตรียมทยอยร่วมลงทุนในบริษัทร่วมทุนที่จะจัดตั้งชื่อ เคบาว ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท


นายเสถียรกล่าวว่า แผนงานหลักๆ จากนี้ไปจะต้องลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าให้ได้มีพื้นที่รวมประมาณ 300,000 ตารางเมตร ซึ่งล่าสุดได้ก่อสร้างเสร็จแล้วแห่งแรกคือที่บางบัว พื้นที่ประมาณ 50,000 ตารางเมตร และจะก่อสร้างอีก 3 แห่งในปีนี้ที่ ขอนแก่น ลำพูน บุรีรัมย์ โดยรวมจะมีประมาณ 8 แห่ง วงเงินลงทุนรวมประมาณ 24,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่เป็นการเช่าพื้นที่คลังสินค้าประมาณ 8 แห่ง

เขามองว่ารายได้รวมของร้านถูกดีฯ ภายในสิ้นปี 2565 นี้คาดว่าจะมีประมาณ 20,000 ล้านบาท ขณะที่ช่วงครึ่งปีนี้มีรายได้รวมแล้ว 10,000 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 5,800 ล้านบาท และมีระบบสมาชิกประมาณ 300,000 รายแล้ว

บทรุกครั้งใหม่ของ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ภายใต้การกุมบังเหียนของ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ จากนี้ไปจึงน่าจับตามากขึ้น เมื่อสถานภาพใหม่มีแคเบงก์เข้ามาร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน พร้อมกับการสร้างอาณาจักรคาราบาวกรุ๊ปอีกหนึ่งธุรกิจไปพร้อมๆ กัน


กสิกรไทยร่วมทุนคาราบาวกรุ๊ป

ธนาคารกสิกรไทย และคาราบาวกรุ๊ปแจ้งตลาดหลักทรัพย์ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว โดยกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารจะถือหุ้นมากกว่า 50% และมีอำนาจควบคุมในบริษัทร่วมทุน โดยการร่วมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทดังกล่าวได้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 และธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 และให้เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย โดยมีรายละเอียดการเข้าร่วมลงทุนดังนี้

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เพื่อให้บริการทางการเงินแก่ผู้บริโภครายย่อย และร้านค้าของบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว ซึ่งจะช่วยพัฒนาบริการทางการเงินให้คนในชุมชนได้เข้าถึง และได้รับบริการทางการเงินที่ครบวงจร รวมถึงช่วยสนับสนุนธุรกิจค้าปลีก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนทั่วไทย

นอกจากการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแล้ว กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมร่วมลงทุนกับบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวเช่นกัน เพื่อพัฒนาร้านค้าปลีก "ถูกดี มีมาตรฐาน"


ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน การร่วมลงทุนกับบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด และการสนับสนุนทางการเงินทั้งหมดให้แก่กลุ่มธุรกิจคาราบาว จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท

คาราบาว กรุ๊ป แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ว่า อนุมัติ ร่วมกับบริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ("CJ") และบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ("TD") ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้เป็นบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง กล่าวคือ มีผู้ถือหุ้น และกรรมการหรือผู้บริหารร่วมกัน (รวมเรียกว่า "บุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง" ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ ได้แก่ บริษัท ทีดี เวนเจอร์ จำกัด ("TDV") เพื่อประกอบธุรกิจการลงทุนถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และเห็นชอบให้ TDV เข้าทำสัญญาร่วมทุน อีกทั้งข้อตกลง และเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องร่วมกับบริษัท กสิกรวิชั่น จำกัด ("KVISION") ซึ่งเป็นบริษัทย่อยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100.0

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ("KBANK") ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ ได้แก่ บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด ("KBAO") เพื่อประกอบธุรกิจตามแผนในระยะแรกเกี่ยวกับการให้บริการด้านการเงินในระบบนิเวศธุรกิจของตนทั้งในปัจจุบัน และที่จะพัฒนาขึ้นตามแผนในอนาคต (Own Ecosystem)


ทั้งนี้ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะการใช้ข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อเงินกู้ยืมแก่ ก.) เจ้าของร้านค้าปลีกที่เป็นลูกค้าผ่านการดำเนินงานหน่วยรถเงินสดของบริษัท ข.) พันธมิตรทางธุรกิจ และ/หรือผู้เช่าพื้นที่ในร้านสะดวกซื้อภายใต้เครือข่าย CJ ค.) ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกชุมชนภายใต้เครือข่ายร้านค้าถูกดี มีมาตรฐาน และ ง.) กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกภายใต้เครือข่ายทั้งหมดข้างต้น ตลอดจนการให้บริการ ณ จุดขายอื่นที่เกี่ยวข้อง ("เงินลงทุนอื่นภายใต้โครงการฯ")

โดยอนุมัติลงทุนร่วมกับ CJ และ TD ในการจัดตั้ง TDV ด้วยทุนจดทะเบียนในจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 2,000 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100.0 บาท เพื่อประกอบธุรกิจการลงทุนถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company)

โดยบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 15.0 หรือคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 300.0 ล้านบาท ในขณะที่ CJ และ TD มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 15.0 และร้อยละ 70.0 ตามลำดับ และ

2. เห็นชอบให้ TDV เข้าทำสัญญาร่วมทุน อีกทั้งข้อตกลงและเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องร่วมกับ KVISION ในการจัดตั้ง KBAO ด้วยทุนจดทะเบียนในจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 4,000 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100.0 บาท เพื่อประกอบธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของเงินลงทุนอื่นภายใต้โครงการ โดย KVISION มีการถือครองหุ้นสามัญที่ออก และชำระแล้วในจำนวนมากกว่า 2 หุ้นในบริษัทดังกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น