สหภาพฯ รฟท.ยื่นหนังสือขอเข้าร่วมสังเกตการณ์และให้ข้อมูลต่อ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ประเด็นที่คัดค้านและในฐานะได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายนี้ เพื่อความรอบคอบและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และประชาชน
นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 สหภาพฯ รฟท.ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายศุภชัย ใจสมุทร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... เพื่อขอเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ และให้ข้อมูลในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....
ทั้งนี้ เนื่องด้วยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวาระที่ 1 และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... รวม 25 ท่าน นั้น
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ในฐานะเป็นองค์กรนิติบุคคลที่เป็นตัวแทนของสมาชิก สร.รฟท. ทั้งที่เป็นพนักงาน และลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (Key Stakeholders) ที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายฉบับนี้ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลในเรื่องของการกำกับดูแลมาตราฐานด้านต่างๆ (Regulator) และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ที่ทับซ้อนกับหน่วยงานรัฐเดิมที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการ (Operator) อยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นข้อสังเกตของหน่วยงานทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ขอความเห็นไป
รวมทั้งกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นต่อการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ ผู้เสนอกฎหมายพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย เพื่อเป็นการกลั่นกรองก่อนการเสนอร่างกฎหมายเบื้องต้น รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน
สร.รฟท.เห็นด้วยอย่างยิ่งในหลักการและเหตุผลที่ให้มีกฎหมายเพื่อกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานในระบบการขนส่งทางราง แต่ในการตรากฎหมายดังกล่าวควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยไม่ควรมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางเกินกว่าการกำกับดูแล และมีความซ้ำซ้อนขัดแย้งกับบรรดาสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเดิมที่เป็นผู้ประกอบกิจการเดิม
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นไปอย่างรอบคอบสมบูรณ์ สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สร.รฟท.จึงได้แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ และให้ข้อมูลในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อที่ประชุมมีข้อซักถามสงสัยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชนในอนาคตต่อไป