ปตท.สผ.เผย ครม.ทั้งไทยและมาเลเซียอนุมัติต่ออายุสัญญา PSC ในโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ออกไปอีก 10 ปี ทำให้มีการผลิตก๊าซต่อเนื่องระยะยาว โดยไทยได้ก๊าซฯ จากแปลง B-17 ราว 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วยเสริมปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่ลดลงไป
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยความคืบหน้าการเพิ่มอัตราการผลิตของโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) เพื่อให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนเมษายน 2567 ว่า ขณะนี้บริษัทได้ดำเนินการทยอยติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) 2 แท่น และสิ้นปีนี้จะติดตั้งแท่นผลิตจำนวน 8 แท่นทำให้แหล่งเอราวัณสามารถผลิตก๊าซฯ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากปัจจุบันผลิตอยู่ราว 200 กว่าล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดว่าในต้นปี 2567 แหล่งเอราวัณจะกลับมาผลิตที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC)
ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้ง 2 ประเทศ คือ ไทย และมาเลเซีย ได้อนุมัติในการต่ออายุสัญญาโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ออกไปอีก 10 ปี จากเดิมสัญญา PSC ที่จะสิ้นสุดในปี 2571 เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ เกิดความต่อเนื่องระยะยาว พร้อมทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ใหม่ในแหล่ง B-17 และ B-17-01 ในพื้นที่ MTJDA ที่ส่งก๊าซฯ ให้ไทย 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจนถึงปี 2568 เพื่อช่วยเสริมปริมาณก๊าซฯ ในประเทศ หลังก๊าซฯ แหล่งเอราวัณผลิตได้น้อย
ปัจจุบัน ปตท.สผ.ได้เร่งเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งบงกชจาก 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นอีก 125 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งอาทิตย์จากกำลังผลิต 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มอีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณที่หายไป
ทั้งนี้ อัตราการผลิตในโครงการจี 1/61 ที่ ปตท.สผ.รับช่วงเป็นผู้ดำเนินการต่อจากผู้รับสัมปทานเดิมผลิตไว้ในวันสิ้นสุดสัมปทานเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 อยู่ที่ 376 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาแหล่งก๊าซนี้ไม่มีการพัฒนาและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อัตราการผลิตจะลดลงเป็นลำดับต่อไป กอปรกับ ปตท.สผ.ไม่ได้รับความยินยอมให้เข้าพื้นที่โครงการจี 1/61 เพื่อเตรียมการพัฒนาและเจาะหลุมผลิตล่วงหน้า ทำให้ปัจจุบันแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิตก๊าซฯ ลดลงเหลือเพียง 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นายมนตรีกล่าวในกรณีที่มีข่าวว่า บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด จะถอนการถือหุ้น 40% ในโครงการจี 1/61 ว่ายังไม่ทราบเรื่อง และไม่ได้เจรจากับทางมูบาดาลา เนื่องจากช่วงนี้บริษัทให้ความสำคัญในการเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณให้เป็นไปตามสัญญา PSC ภายใน 2 ปีข้างหน้า
ส่วนผลกระทบจากกรณีที่ธนาคารกลางเมียนมาให้บริษัทระงับการจ่ายหนี้ต่างประเทศ ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อ ปตท.สผ. เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่ได้มีหนี้สินกับทางบริษัท อีกทั้ง บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.ยังคงดำเนินโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการซอติก้า และโครงการยาดานา เช่นเดิม เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่งนี้เป็นความมั่นคงด้านพลังงาน คิดเป็นสัดส่วน 17% ที่ส่งเข้ามายังประเทศไทยใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และเป็น 50% เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในเมียนมา