กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) และ บริษัท ดีเอ็มจี อีเวนท์ จำกัด ร่วมจัดงาน “ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย” (Future Energy Asia) และ “ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย” (Future Mobility Asia) ประจำปี 2565 การประชุมด้านพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาด และการจัดแสดงนิทรรศการสุดยอดนวัตกรรมระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เป็นการรวมตัวสุดยอดผู้นำระดับโลกกว่า 130 คน และมีการประชุมหารือเชิงกลยุทธ์และทางเทคนิค รวมถึงการจัดแสดงนวัตกรรมพลังงานสะอาด และยานยนต์พลังงานสะอาดชั้นนำของโลก
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านพลังงานควบคู่ไปกับการระบาดใหญ่ของโควิดและสถานการณ์วิกฤตพลังงานของโลกในปัจจุบัน โดยภายในการประชุมสุดยอดผู้นำ COP26 Leader’s Summit ประเทศไทยได้ประกาศตั้งเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้ากำหนด 'แผนพลังงานแห่งชาติ 2565’ เพื่อมุ่งสู่อนาคตแห่งพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดรักษ์โลก พร้อมกับความมั่นคงและการแข่งขันด้านพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
โดยดำเนินงานตามนโยบาย 4D ซึ่งประกอบด้วย การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว และความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า (Decentralization) การเปิดเสรีภาพพลังงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และการแข่งขันอย่างเป็นธรรม (Deregulation) และ Digitalization การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน (Deregulation)
“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญระดับโลก โดยคณะกรรมการนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้อนุมัติเป้าหมายในการส่งเสริมยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle หรือ ZEV) ซึ่งเรียกว่านโยบาย 30@30 เพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ถึงร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งมีมาตรการสนับสนุนและข้อเสนอจูงใจหลายประการในการกระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การสนับสนุนการลงทุนสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การกำหนดมาตรฐานและข้อบังคับสำหรับการขอใบอนุญาต และการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงงานให้มีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี ภายในปี 2573 รวมถึงวางแผนติดตั้งสถานีฟาสต์ ชาร์จจิ้ง (Fast Charging) ให้ได้ 12,000 ยูนิตทั่วประเทศ สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนเตรียมมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในระหว่างปี 2593-2613 ” นางเปรมฤทัยกล่าว
ภายในงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย มีผู้ร่วมจัดแสดงสินค้าและนวัตกรรมกว่า 150 ราย ครอบคลุมทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าด้านพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาด โดย ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย มีหัวใจสำคัญคือการผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งโซนการจัดแสดงออกเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ ไฮโดรเจน, ก๊าซและ LNG, เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และพลังงานหมุนเวียน โดยมีไฮไลต์สำคัญ เช่น กลุ่มความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์แห่งประเทศไทย (Thailand CCUS Technology Development Consortium) รวมถึงการจัดแสดงเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ, เทคโนโลยี AI และนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดย ปตท. และ ปตท.สผ.
งานฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย ได้รับการสนับสนุนจากผู้แสดงสินค้าจากองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมจาก 18 ประเทศ โดยในงานมีกิจกรรมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้เข้าร่วมงานกับอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด เช่น การจัดแสดงด้านยานยนต์พลังงานสะอาดของประเทศไทย โซนจัดแสดงนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสุดล้ำสมัย พร้อมการสาธิตและทดลองขับยานยนต์ไฟฟ้า โดยผู้เข้าร่วมจะสามารถเข้าถึงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาดได้อย่างครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม (OEM) สำหรับรถยนต์โดยสาร รถยนต์เพื่อการพาณิชย์, ซัปพลายเออร์หลังการขาย (Aftermarket supplies), ผู้ให้บริการแบตเตอรี่ ระบบจัดเก็บพลังงาน, โครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบชาร์จ และเทคโนโลยีเพื่อการอำนวยความสะดวกหลายรูปแบบ และอื่นๆ อีกมากมาย