รฟท.แจงไม่เคยละเว้น เพิกถอนสิทธิที่ดิน "เขากระโดง" จ.บุรีรัมย์ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เผยอยู่ระหว่างเจรจาผู้บุกรุก ทำสัญญาให้ถูกต้องตามระเบียบ อีกส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ยังไม่สิ้นสุด
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจง กรณีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจพาดพิงถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย ในประเด็นเกี่ยวข้องบริเวณที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประการ ดังนี้
1. การรถไฟฯ ไม่ได้มีการละเว้น หรือเจตนาที่จะทำให้กระบวนการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินมีความล่าช้า แต่เนื่องจากปัญหาข้อพิพาทที่ดินบริเวณเขากระโดง เกิดขึ้นจากกระบวนการสำรวจ และออกเอกสารสิทธิที่คลาดเคลื่อนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งตลอดเวลาการรถไฟฯ ได้เสาะหาข้อเท็จจริงมาตลอด และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว โดยแยกตามเอกสารสิทธิเป็น ส.ค.1 และ น.ส.3 ก. ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าพื้นที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคณะทำงานดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ เจรจาจัดทำสัญญาเช่าให้ถูกต้องตามระเบียบ
นอกจากนี้ ในส่วนที่ ป.ป.ช.มีมติให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดงที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และกรมที่ดินส่งเรื่องให้การรถไฟฯ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนโฉนด ซึ่งการรถไฟฯ ได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ ต่อสู้คดีที่ประชาชนฟ้องการรถไฟฯ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปี 2561 ในคดีที่ประชาชนฟ้องการรถไฟฯ ให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯ ได้นำแนวทางดังกล่าวมาดำเนินการขอเพิกถอนเอกสารสิทธิตามที่ ป.ป.ช.มีมติให้เพิกถอน และรายอื่นๆ นอกเหนือจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาไปแล้ว
การรถไฟฯ จึงมีความจำเป็นที่ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อ 23 ธันวาคม 2564 ซึ่งศาลรับคำฟ้องเมื่อ 28 มีนาคม 2565 ในขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และทุกฝ่ายต้องให้ความเคารพต่อกระบวนการยุติธรรม จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินทั่วประเทศ การรถไฟฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน
ซึ่งได้เข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค, ผู้บุกรุกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีข้อสั่งการให้ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย ตามหลักธรรมาภิบาลโดยเคร่งครัด