xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม ปตท.ผนึกพันธมิตรตั้ง Thailand CCUS Consortium เพื่อสู่เป้าหมาย Net Zero

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่ม ปตท. ผนึกพันธมิตรภาครัฐและเอกชนจัดตั้ง Thailand CCUS Consortium ตอกย้ำเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศ

วันนี้ (20 ก.ค.) นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) นายวริทธิ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยพันธมิตรภาคการศึกษาและภาคเอกชน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ บริษัท เอส ซี จี ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ประกาศจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ “CCUS Consortium” ภายในงาน Future Energy Asia 2022 โดยมีนางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน

พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรสาธารณะเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ที่ได้จากภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการปล่อย CO2 นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระดับประเทศในการพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ยกระดับการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนต่อไป

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้เพื่อนำไปสู่การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ระดับ 40 ล้านตันในหลุมเจาะปิโตรเลียมต่างๆ ในอ่าวไทยที่คาดว่าจะเริ่มกักเก็บได้ในปี ค.ศ. 2040 ซึ่งการกักเก็บคาร์บอนฯ ขนาดใหญ่ได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในด้านการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ที่ไม่มีเจ้าของในอ่าวไทยมาดำเนินการใช้เป็นที่กักเก็บคาร์บอนได้ ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามที่ประกาศไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำ COP26 โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการต่อไป

ปัจจุบัน ปตท.สผ.กำลังทดลองกักเก็บคาร์บอนโดยใช้หลุมผลิตปิโตรเลียมเดิมในแหล่งอาทิตย์มากักเก็บคาร์บอนเบื้องต้นประมาณ 4-5 หลุม ตั้งเป้าเฟสแรกจะสามารถกักเก็บได้ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรม นอกจากนี้กำลังศึกษาการกักเก็บคาร์บอนในแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี เป็นโครงการต่อไป โดยเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่น คาดว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ตั้งงบเพื่อใช้ดำเนินการกักเก็บคาร์บอน CCUS ราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 5 ปีนี้ (ปี 2565-2569)


กำลังโหลดความคิดเห็น