กรมเจ้าท่ากางแผนขุดลอกเปิดเส้นทางน้ำภาคใต้ ฟื้นศักยภาพลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ทะเลสาบสงขลา และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง แก้ไขปัญหาดินตะกอนทับถม และร่องน้ำตื้นเขิน เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยการเดินเรือ ส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยว
นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 ได้กำหนดแผนปฏิบัติการ การดูแลรักษาและขุดคลอง ลอกร่องน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและอำนวยความสะดวกในการเดินเรือ แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย ตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ใน 3 ลุ่มน้ำ ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบการจัดการน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในการดูแลรักษาสภาพร่องน้ำเพื่อให้มีสภาพกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อให้การใช้งานของการสัญจรทางน้ำ และการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าปัญหาการตื้นเขินเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งสภาพลำน้ำและร่องน้ำเกิดความตื้นเขินเป็นผลมาจากการรับอิทธิพลจากสภาพภูมิอากาศ พายุฝน และคลื่นลมมรสุม พัดพาตะกอนทรายตามแนวชายฝั่งมาทับถมที่บริเวณปากร่องน้ำ ทำให้เกิดสันดอน ตื้นเขิน ตลิ่งถูกกัดเซาะ ส่งผลให้เรือประมงไม่สามารถสัญจรผ่านเข้า-ออก ร่องน้ำได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
การเข้าดำเนินการขุดลอกของกรมเจ้าท่า นอกจากจะช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัยและรวดเร็วในการเดินเรือแล้ว ยังจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการทำประมง พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้เข้าไปฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ โดยการเข้าขุดลอกร่องน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อาทิ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยส่วนใหญ่อยู่บริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งช่วยเรื่องการเดินเรือและสามารถลดผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช และอำเภอที่ติดชายฝั่งทะเล รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมอาชีพเดินเรือประมงขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน จนถึงเรือประมงขนาดใหญ่ และเรือบรรทุกแร่ต่างๆ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับจังหวัดและประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการขุดลอกร่องน้ำในทะเลสาบ เพื่อฟื้นฟูแหล่งทะเลสาบที่เป็นอัตลักษณ์ของภูมิภาคนี้ให้กลับมาคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด ตามข้อเสนอของภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 ได้เตรียมแผนงานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือในการขยายร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ การประกอบอาชีพประมง การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาความเค็มในพื้นที่ทะเลสาบให้กลับมาอยู่ค่าเกณฑ์มาตรฐานปกติได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบต่อสัตว์ทะเลในทะเลสาบอีกด้วย