รฟม.คาดปลายปีนี้เริ่มก่อสร้างสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ผู้รับเหมาลุยสำรวจระบบสาธารณูปโภค หารือ กปน.-กฟน.ทำแผนรื้อย้าย พร้อมเร่งทบทวนรายงาน PPP งานเดินรถ เตรียมฟังเสียงนักลงทุน (Market Sounding)
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากที่ รฟม.ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) กับผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา และได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ไปยังผู้รับจ้างแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมแผนงานก่อสร้างก่อนเข้าพื้นที่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หรือประมาณปลายปี 2565 ผู้รับเหมาจะเริ่มลงพื้นที่ก่อสร้าง
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เป็นการก่อสร้างแบบ Design & Build ซึ่งผู้รับจ้างได้มีการลงพื้นที่ก่อสร้างเพื่อสำรวจกายภาพ ระบบสาธารณูปโภค ทั้งประปา ไฟฟ้า สายสื่อสาร ท่อระบายน้ำ รวมไปถึงสำรวจสภาพชั้นดินตลอดแนวเส้นทาง เพื่อหารือกับหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคเพื่อวางแผนในการรื้อย้ายต่อไป
ในส่วนของไฟฟ้านั้น ในหลักการก่อสร้างรถไฟฟ้า รฟม.จะรับผิดชอบนำสายไฟฟ้าลงดินในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าทั้งสถานีใต้ดินและสถานียกระดับ ซึ่งสาเหตุที่บริเวณสถานียกระดับต้องนำสายไฟฟ้าลงดินด้วย เนื่องจากโครงสร้างสถานีจะกว้างไปถึงบริเวณทางเท้า ซึ่งจะอยู่ใกล้กับสายส่งและเสาไฟฟ้า ทำให้การเข้าดำเนินการการซ่อมบำรุงดูแลสายไฟฟ้าลำบาก ซึ่งในการย้ายสายไฟฟ้าลงดินบริเวณสถานีรถไฟฟ้านั้น ตามข้อตกลง รฟม.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
แต่เนื่องจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีแผนที่จะนำสายไฟฟ้าลงดินทั้งหมด ซึ่งในส่วนที่อยู่ตามแนวส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่นอกเขตสถานีรถไฟฟ้า ทาง กฟน.จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายสายไฟฟ้าลงดิน ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการทำงานร่วมกันกับ รฟม.
สำหรับท่อประปา ซึ่งจะอยู่บริเวณแนวเกาะกลางถนน ซึ่งจะกระทบการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เป็นทางยกระดับที่ออกแบบโดยการวางตอม่อไว้บริเวณเกาะกลางถนน ดังนั้น รฟม.จะต้องดำเนินการย้ายท่อประปาออกมาอยู่ฝั่งถนนด้านใดด้านหนึ่ง
ในการนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กปน.) มีแผนจะปรับเปลี่ยนและเพิ่มขนาดท่อประปาในคราวเดียวกัน ซึ่งจากการหารือ กปน.จะถือโอกาสเปลี่ยนขนาดท่อประปา เนื่องจากเป็นท่อประปามีอายุใช้งานนานมากแล้ว โดยจะเพิ่มขนาดท่อด้วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการตามความต้องการใช้น้ำประปาที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของท่อใหม่ที่ขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิมนั้น กปน.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ซึ่งทั้ง กฟน.และ กปน.จะมีขั้นตอนภายในของตนเอง ในการขออนุมัติงบประมาณดำเนินการ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเจาะจงเพื่อให้ผู้รับเหมาสายสีม่วงรับไปดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อให้การก่อสร้างเบ็ดเสร็จในคราวเดียว และไม่ให้มีการก่อสร้างและปิดผิวจราจรหลายครั้ง
นายภคพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ รฟม. ที่ปรึกษา ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วง กฟน. กปน. ได้หารือร่วมกันเพื่อวางแผนการทำงาน จัดทำตาราง ระยะเวลาในการทำงาน รวมถึงประสานกับสำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมื่อมีแผนรื้อย้ายชัดเจน และแผนการเข้าพื้นที่แล้ว จะต้องหารือกับทางตำรวจเพื่อจัดการด้านจราจร เพราะจะมีการกั้นพื้นที่ผิวจราจรบางส่วน
ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้ามีขั้นตอน มีผลกระทบ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และแต่ละหน่วยงานก็มีขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องดำเนินการตามระเบียบ ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.มีประสบการณ์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย แล้ว มีการประสานและทำความเข้าใจมาเป็นลำดับ
"รฟม.ได้นำประสบการณ์จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายก่อนหน้านี้มาปรับแก้ไขในหลายๆ มิติ ซึ่งเชื่อว่าหากไม่มีเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ควบคุมไม่ได้เข้ามา เช่น น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กระทบต่อการก่อสร้างสายสีม่วงเหนือ (เตาปูน-คลองบางไผ่) และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) หรือกรณีโรคโควิด ที่ต้องปิดไซต์ก่อสร้าง กระทบการก่อสร้างสายสีส้ม สายสีชมพู สายสีเหลือง เชื่อจะสามารถดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงเสร็จตามแผนงาน" ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าว
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี โดยใช้เวลาก่อสร้าง ประมาณ 70 เดือน
@เร่งทบทวนรายงาน PPP เดินรถสีม่วงใต้ เตรียมทดสอบความสนใจนักลงทุน ( Market Sounding)
นายภคพงศ์กล่าวถึงความคืบหน้าการร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ว่า รฟม.อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการศึกษาร่วมลงทุนเอกชน (PPP) และเตรียมจัดทำการทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน ( Market Sounding) ต่อไป โดยเบื้องต้นมีประเมินการดำเนินการ การใช้เดปโป้ร่วมที่ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ ซึ่งเป็นของสายสีม่วงเหนือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ การจัดสรรตารางการเดินรถไปยังเดปโป้ ค่าซ่อมบำรุงทาง ที่จะต้องมีรายละเอียดในรายงานการศึกษาของ PPP การเดินรถสีม่วงใต้ด้วย
ขณะที่หลักการร่วมลงทุนการเดินรถสายสีม่วงใต้นั้นคาดว่าจะใช้การเดินรถในรูปแบบ PPP Gross Cost เนื่องจากมีความเหมาะสมในแง่การบริหารจัดการ และประโยชน์ทาง รวมไปถึงในแง่ของค่าโดยสารด้วย