ค่าไฟฟ้าแพงหนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขยายตัวต่อเนื่อง จับตาต้นทุนแผงขยับสูงทั้งจากวัตถุดิบ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า แต่คำนวณแล้วยังคุ้มค่าการลงทุน จับตาแบตเตอรี่ราคาขยับสูงหลังแร่ลิเทียมขาดแคลน แต่หนุนให้มีการลงทุนพัฒนาเหมืองเพิ่ม คาด 1-2 ปีสถานการณ์จะดีขึ้น แนะรัฐขับเคลื่อนลดโลกร้อนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟส่วนเกินให้สูงกว่า 2.20 บาทต่อหน่วย
นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ปรับขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 ซึ่งอาจทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายรวมเฉลี่ยมีโอกาสแตะระดับ 5 บาทต่อหน่วยในงวดสุดท้ายปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค. 65) และอาจจะทรงตัวระดับสูงไปถึงปี 2566 ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปหันมาติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) มากขึ้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ประกอบโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปี 2565 รัฐได้เปิดรับซื้อไฟส่วนเกินจากประเภทบ้านที่อยู่อาศัยปริมาณรวม 10 เมกะวัตต์ในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วยทำให้จูงใจเพิ่มขึ้น
“การติดตั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่เป็นลักษณะผลิตเองใช้เอง (IPS) ยังคงโตต่อเนื่องเพราะค่าไฟฟ้าที่แพงทำให้ผู้ประกอบการหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้เองเพื่อประหยัดรายจ่ายก็คุ้มค่าโดยไม่ต้องขายให้รัฐแต่อย่างใด เช่นเดียวกับบ้านที่อยู่อาศัยที่ขณะนี้โครงการพัฒนาหมู่บ้านก็หันมาติดตั้งให้เลยทำให้ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีการติดตั้งยังเติบโตเฉลี่ย 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยอมรับว่าขณะนี้อุปสรรคสำคัญคือต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากแผงโซลาร์ฯ ค่าเงินบาทอ่อนค่าทำให้การนำเข้ามีต้นทุนเพิ่มอีก แต่เมื่อคำนวณภาพรวมการติดตั้งโซลาร์ฯ ก็ยังคุ้มทุนเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น” นายพลกฤตกล่าว
ทั้งนี้ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่กำลังเป็นเทรนด์ในการลดภาวะโลกร้อนและประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญ โดยไทยวางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งในที่สุดเชื่อว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว
นายนิเวช บุญวิชัย อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวว่า แนวโน้มราคาแผงโซลาร์ฯ ขยับขึ้นจากต้นปีอยู่ระดับ 20 เซ็นต์ต่อวัตต์มาสู่ระดับ 27-30 เซ็นต์ต่อวัตต์ ซึ่งเป็นผลจากราคาวัตถุดิบต่างๆ ที่สูงขึ้นเพราะผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เช่น กระจก อะลูมิเนียม ฯลฯ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงทำให้การนำเข้ามีราคาสูงขึ้น
“ไทยนำเข้าแผงโซลาร์ฯ หลักจากจีนเนื่องจากมีระดับราคาที่ไม่แพงหากเทียบกับทางฝั่งยุโรป และสหรัฐฯ แม้ราคาต้นทุนการติดตั้งภาพรวมจะสูงขึ้นแต่ค่าไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วย กำลังการผลิตติดตั้งราว 3-5 กิโลวัตต์ ความคุ้มทุนอยู่ราว 5-6 ปี ขณะที่ค่าไฟขณะนี้จ่ายเฉลี่ยระดับ 4 บาทต่อหน่วยและจะปรับขึ้นไปอีกทำให้การใช้เองมีความคุ้มค่ามากและยิ่งค่าไฟแพงเท่าใดก็จะยิ่งคุ้มมากขึ้น” นายนิเวชกล่าว
ทั้งนี้ โซลาร์ฯ บวกกับแบตเตอรี่จะทำให้พลังงานไฟฟ้าใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าราคาแบตเตอรี่ยังค่อนข้างสูงเนื่องจากขณะนี้แร่ลิเทียมที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตมีราคาสูงจากผลของสงคราม แต่จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมาพัฒนาเหมืองแร่มากขึ้นและเชื่อว่าในระยะอีก 1-2 ปีข้างหน้าปัญหาขาดแคลนน่าจะเบาบางลงและในที่สุดจะทำให้ระดับราคาแบตเตอรี่ต่ำลง ประกอบกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าจะยิ่งทำให้แบตเตอรี่มีศักยภาพในการกักเก็บมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม โซลาร์ฯ เป็นพลังงานสะอาดและไทยมีศักยภาพจากแสงแดดที่เข้มข้นจึงเห็นว่าภาครัฐควรจะส่งเสริมให้มากขึ้นโดยควรจะเพิ่มอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตเหลือใช้เข้าระบบภายใต้โครงการโซลาร์ฯ ภาคประชาชนมากกว่า 2.20 บาทต่อหน่วย โดยหลายประเทศจะรับซื้อในอัตราเท่ากับที่ประชาชนจ่ายค่าไฟ ขณะเดียวกัน เห็นว่าภาครัฐควรจะดูแลในเรื่องของภาษีนำเข้าต่างๆ ให้ลดลง และดูแลค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าจนเกินไป