บีซีพีจีเร่งลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มในไต้หวัน เบื้องต้นมีกำลังผลิตในมือราว 469 เมกะวัตต์ พร้อมทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปีนี้เล็กน้อยและเพิ่มขึ้นอีก 100 และ 200 เมกะวัตต์ในปี 66-67 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ใน 5 ปีข้างหน้า
นายภูวดล สุนทรวิภาต ผู้จัดการใหญ่ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)(BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทได้เร่งขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้สอดรับเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวันรวม 1,000 เมกะวัตต์ (MW)
ทั้งนี้ ไต้หวันมีศักยภาพในการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เนื่องจากรัฐบาลไต้หวันให้การส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 5 ปีนี้ไต้หวันมีแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นปีละ 3,000 เมกะวัตต์เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล และเปิดให้ต่างชาติลงทุนได้ 100% ดังนั้นบริษัทจึงได้จัดตั้งบริษัท บีซีพีจี ฟอร์โมซ่า จำกัด ที่บริษัทถือหุ้น 100% เพื่อลงทุนพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน
ปัจจุบันบริษัทมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 357 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทำให้บริษัทฯ มีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวันรวม 469 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2565-2568 โดยปี 2565 คาดว่าจ่ายไฟเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เล็กน้อยราวหลักสิบเมกะวัตต์ แต่ปีหน้าคาดว่าจะ COD เพิ่มขึ้นอีก 100 เมกะวัตต์ และปีถัดไปอีก 200 เมกะวัตต์ ควบคู่กับการหาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม
ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าที่ไต้หวันค่อนข้างน่าพอใจอยู่ที่ 5.20-5.60 บาท/หน่วย ขณะเดียวกันค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนบกในไต้หวันค่อนข้างสูง แต่หากใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่ได้ทำจากประเทศจีนจะได้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 6% ดังนั้นบริษัทเตรียมเจรจาซื้อแผงโซลาร์เซลล์ล็อตใหญ่ที่ไม่ได้ผลิตจากจีนเพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 400 เมกะวัตต์นี้
การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวันเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทฯ ซึ่งต่อยอดจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อรวมกับโครงการในประเทศญี่ปุ่นที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทำให้บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวม 586 เมกะวัตต์
นายภูวดลกล่าวว่า บริษัทหาโอกาสการลงทุนธุรกิจ New S-Curve ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยบริษัทสนใจลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อรองรับความต้องการใช้แบตเตอรี่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก่อนหน้านี้บีซีพีจีลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกู้แปลงสภาพบริษัท วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ (VRB Energy) ประเทศจีน วงเงิน 24 ล้านดอลลาร์ หรือ 772 ล้านบาท ซึ่ง VRB ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่นวัตกรรมแบตเตอรี่ประเภทวานาเดียม (Vanadium) ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีความเสถียร มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ และมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด สามารถเก็บสำรองไฟฟ้าได้เป็นเวลานาน มีความปลอดภัย
โดยเงินลงทุนจะใช้ในโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบแบตเตอรี่กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี ขณะนี้ VRB อยู่ระหว่างดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เฟสแรกขนาด 40 เมกะวัตต์/200 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) และสร้างโรงงานผลิตและประกอบแบตเตอรี่ขนาด 50 เมกะวัตต์ต่อปี โดยบริษัทมีแผนจะนำแบตเตอรี่ดังกล่าวมาใช้ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยมีกำลังผลิตตามสัญญาจากพลังงานสะอาดรวมทั้งสิ้น 9,996 เมกะวัตต์ และเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Ground-mounted) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ