xs
xsm
sm
md
lg

Executive Talk by ShareInvestor: GUNKUL- GULF จับมือสานฝัน พร้อมเป็นเพื่อนด้านพลังงานของคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•Landscape ด้านพลังงานที่กำลังจะเปลี่ยนไป ประกอบกับมาตรการจากนานาชาติที่เพิ่มแรงกดดันให้ทั่วโลกต้องตื่นตัวในเรื่องการจัดการพลังงาน บนเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission จึงเป็นที่มาของการจับมือร่วมทุนครั้งสำคัญระหว่างสองยักษ์ใหญ่ GUNKUL และ GULF เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดและสร้างจุดเปลี่ยนแก่ประเทศไทย

•คุณนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานกลยุทธ์การลงทุนและธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) นักบริหารหญิงแกร่ง ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ที่อยากจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้คนไทย จากนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน


1.ความเป็นมาของความร่วมมือระหว่าง GUNKUL และ GULF ในการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน
อย่างที่ทราบกันนะคะ GUNKUL เราประกาศจับมือกับ GULF ในการตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาพลังงานสะอาด เป้าหมายคือต้องผลิตให้ได้ 1,000 เมกกะวัตต์ ภายใน 5 ปี โดยโฟกัสหลักๆ ของ JV นี้จะเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เนื่องจากปัจจุบันนี้ หลายๆ ประเทศเริ่มประกาศแผนพัฒนาพลังงานของตัวเองออกมากันแล้ว ประเทศไทยก็กำลังจะประกาศเช่นกัน เราจึงตั้ง JV นี้เพื่อรองรับแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย และในระดับโลกด้วยค่ะ รวมถึง ต้องบอกว่าปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีเลย ค่าไฟขาขึ้นทั้งปี จึงไปกระตุ้นให้ demand ต่อ solar roof กลับเข้ามา นอกจากนี้ ในแง่ธุรกิจพลังงาน ต้องยอมรับว่า landscape กำลังจะเปลี่ยนไป สมัยก่อนการจะผลิตไฟฟ้า ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่สมัยนี้เราสามารถติดโซลาเซลล์ที่บ้านได้ ติดแอร์ตัวเดียวก็ใช้ไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ได้แล้ว
ถ้าให้ลึกกว่านั้น ต้องเรียนว่า ทางภาพรัฐ คือ กกพ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) น่ะค่ะ ได้ประกาศ Third party access แล้วนะคะ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ไฟฟ้า ต้องวิ่งผ่านสายส่งไฟฟ้า นุ๊กไม่สามารถขายไฟให้คุณได้ เพราะไฟฟ้าต้องวิ่งผ่านสายส่งที่อยู่หน้าบ้านคุณ และสายส่งนั้น ภาครัฐเป็นเจ้าของ แต่จากนี้ไป ภาครัฐกำลังจะอนุญาต โดยเปิดเป็นโครงการนำร่อง ให้นุ๊กสามารถใช้สายส่งไฟฟ้าขายไฟให้กับคุณได้ ดังนั้น landscape ของพลังงานที่จะเปลี่ยนไปน่ะค่ะ นุ๊กว่ามันต้อง merge กับกลุ่ม innovation business เพิ่มเติม ตรงนี้เราก็มองว่ามันจะเกิดกิจกรรมหรือโมเดลธุรกิจหลากหลายมากขึ้นในส่วนของผู้ใช้ไฟในอนาคต ซึ่งเรากับทาง GULF ก็กำลังช่วยกันคิดค้นและหาโอกาสใหม่ๆ ว่าจะมีอะไรไหมที่เราร่วมกันต่อยอดได้ โดย GULF เองก็มี business partner เช่น AIS ซึ่งเครือข่ายตรงนี้คือ end-user หรือผู้ใช้ไฟจริงๆ ขณะที่ GUNKUL เราก็พยายามพัฒนาโมเดลธุรกิจต่างๆ รองรับไว้ ถ้าเราสามารถนำสิ่งที่เราทำไป synergy กันได้ ก็เกิดเป็นการพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีก

2.ความคาดหวังต่อโครงการร่วมทุนครั้งนี้
หลายคนถามค่ะว่า synergy ที่เกิดขึ้น GULF ได้อะไร GUNKUL ได้อะไร นุ๊กมองเห็น 3 ข้อนะคะ
ข้อแรก การทำโปรเจคด้านพลังงานน่ะ implementation ก็สำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่อง secure deal อย่างเดียว และต่อไป ด้วย pace ที่มันเร็วขึ้น ประกอบกับความที่ GUNKUL เราเชี่ยวชาญเรื่องก่อสร้างโรงไฟฟ้า การติดตั้งสายส่ง สายจำหน่าย ใต้ดิน ใต้ทะเล ฯลฯ นุ๊กมองว่าเราน่าจะช่วยสนับสนุนโปรเจคให้มันเกิดขึ้นจริง และเร็วได้ นุ๊กมองว่า โมเดลธุรกิจของเราสอดรับเรื่องนี้ค่ะ
 
ข้อสอง นุ๊กมองไปที่โครงการพัฒนาพลังงานลม ซึ่งซับซ้อนกว่าพลังงานแดดเยอะ GUNKUL มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงการพลังงานลมในประเทศไทย ขณะที่ GULF มีในประเทศเวียดนาม ถ้าเรานำประสบการณ์จากทั้งสองฝ่ายมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน นุ๊กว่าจะยิ่งเพิ่มศักยภาพให้เราสามารถขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศอื่นๆ ตลอดจนขยายธุรกิจไปในกลุ่มอื่นๆ ได้อีก
 
ข้อสาม ต้องเรียนอย่างนี้ค่ะ การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอะไรเหล่านี้น่ะค่ะ สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามคือเรื่อง CAPEX หรือเม็ดเงินลงทุน ตรงนี้ ถ้าเรา synergy แล้ว pool purchase ร่วมกันได้นะคะ นุ๊กเชื่อว่าเราน่าจะเป็นรายใหญ่ที่สุด หรือเป็นองค์กรระดับต้นๆ เลยที่สั่งซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นแดดหรือลม ในมุมของผู้ถือหุ้น การ pool purchase ช่วยให้รีเทิร์น และความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นแน่นอน เพราะอย่างโซลาเซลล์ เวลาไปติดตั้งให้โรงงานขนาดใหญ่ ก็มักจะแข่งกันที่ข้อเสนอที่มอบให้ลูกค้านั่นเอง

             

3. โครงการร่วมทุนนี้ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างไรตั้งแต่สิ้นปี 2021 จนถึงปัจจุบัน มีตัวขับเคลื่อนหลากหลายเกี่ยวพลังงานสะอาด ซึ่งเดิมดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว กลับดูใกล้ตัวเข้ามาทุกวัน ปลายปีที่แล้ว ท่านนายกฯ ไปร่วมการประชุม COP26 ซึ่งที่นั่น ท่านก็ได้แถลงจุดยืนของประเทศไทยต่อเรื่องการจัดการก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานสะอาด โดยเป้าหมายหลักๆ ท่านพูดว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่ “การเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” (Net Zero Emission) ภายในปี 2060 เราฟังแล้วอาจจะดูว่ามันไกลตัว แต่จริงๆ เรามีอีก 1 เป้าหมายระยะสั้น ที่ต้องทำให้สำเร็จด้วยนะคะ ท่านนายกฯ กล่าวว่า ภายในปี 2030 หรืออีก 8 ปีเท่านั้น ประเทศไทยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์

ทุกวันนี้ ต้องบอกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรือนกระจกในบ้านเรามาจากอุตสาหกรรมด้านพลังงานและการขนส่ง ถ้าจะลด ก็ต้องลดจาก 2 ส่วนนี้ เมื่อมามองที่สัดส่วนพลังงานสะอาดของประเทศไทย พบว่ามีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ หากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าภายใน 8 ปี ต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด 4 เท่า ถ้าเราเอาโซลาเซลล์ไปทดแทนโรงแก๊ส ซึ่งปกติเขามีกำลังผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่โซลาเซลล์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น นั่นแปลว่า เราก็ต้องสร้างโซลาเซลล์อีก 5 เท่า เพื่อที่จะสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้เท่ากับโรงแก๊ส แล้วลองคูณ 40 เปอร์เซ็นต์ เข้าไปอีกนะคะ คือ ตลาดนี้จะโตอีกเยอะมากค่ะ

นอกจากนี้ ท่านนายกฯ ยังกล่าวอีกว่าภายในปี 2035 ประเทศไทยต้องมีจำนวนรถ EV คิดเป็น 69 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณรถใหม่ทั้งหมดที่ออกสู่ตลาด นั่นแปลว่าการที่ รถ EV เหล่านี้จะมีส่วนช่วยใน mission ด้านพลังงานประเทศไทยได้ ก็ต่อเมื่อมันถูกชาร์จด้วยไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานสะอาดนั่นเอง ลองสมมุตินะคะ วันนี้ประเทศไทยมีรถราว 20 ล้านคัน นุ๊ก ขอแค่ 1 ล้านคันพอ แบตเตอร์รี่แต่ละคันบรรจุไฟฟ้าได้ 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง ถ้ารถ 1 ล้านคันชาร์จไฟพร้อมกัน จะได้ 40 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (40 x 1,000,000) แปลว่าเราต้องมีโซลาเซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 4 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตอยู่ประมาณ 4 พันเมกะวัตต์ นี่เป็นตัวเลขคร่าวๆ นะคะ

ทั้งนี้ เราจะเติบโตได้ไกลขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของประเทศเรา แต่เทรนด์มันมาแน่ และหน้าที่ของ GUNKUL ก็คือทำตัวเองให้พร้อม เมื่อโอกาสมา เราก็จะสามารถขับเคลื่อนตรงนั้นได้

4. ในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คนไทยจะได้อะไรจากความร่วมมือนี้
หลายคนอาจมองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นหน้าที่ของคนที่มีศักยภาพมากกว่า ประเทศไทยอาจจะมีเรื่องอื่นที่จำเป็นต้องพิจารณาก่อน แต่จริงๆ ไม่ใช่นะคะ สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาทุกที เนื่องจาก ต้องยอมรับนะคะว่าประเทศเราพึ่งพาการส่งออก แปลว่า ถ้านานาชาติเขามีมาตรการอะไรต่างๆ ออกมา เราก็ต้องปฏิบัติตาม ยกตัวอย่าง COP26 ล่าสุด นานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป อเมริกา ประเทศใหญ่ๆ รวมเกือบ 200 ประเทศ เริ่มมาวางนโยบายร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งก็รวมถึงมาตรการสำหรับประเทศที่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เช่น มาตรการทางภาษี การกีดกันทางการค้าต่างๆ ดังนั้น สำหรับประเทศไทย ซึ่งพึ่งพาการส่งออก หากวันใดเขาเริ่มนำมาตรการทางภาษีเข้ามา แล้วเรายังไม่สามารถควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา

จริงๆ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP (Power Development Plan) น่าจะประกาศออกมาภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้านะคะ ซึ่งแน่นอนว่าพลังงานสะอาดจะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่มาของ JV ระหว่าง GUNKUL และ GULF ว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถคว้าโอกาสนี้ได้รวดเร็ว

ถ้าเรามองออกไปนอกถนน เราจะเห็นสายส่งไฟฟ้า นุ๊กมองว่าสายส่งไฟฟ้าคือตัวเชื่อมคนไทยทุกคนไว้ด้วยกัน เราใช้ไฟฟ้าจากกริด (Grid) ซึ่งถ้ากริดในปัจจุบันยังไม่ได้มาจากการแหล่งผลิตที่เป็นพลังงานสะอาด ทุกคนย่อมได้รับผลกระทบเหมือนกัน ทุกคนคือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานและสิ่งแวดล้อมค่ะ


5. โปรเจคที่จะมีขึ้นจากความร่วมมือนี้ทั้งในระยะ 1 ปี และ 5 ปี
Beauty ของ GUNKUL ที่นุ๊กมองว่าเราไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนเราก็คือ เรามีหน้างาน หรือโมเดลธุรกิจค่อนข้างกว้าง วันนี้ เอาเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เรามีโรงผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า เราทำรับเหมาก่อสร้าง และเราก็ยังสร้างโรงไฟฟ้าด้วย เพราะฉะนั้น หากเน้นที่ความร่วมมือกับทาง GULF การทำโครงการพลังงานน่ะค่ะ เราต้องไป secure deal มาให้ได้ ซึ่งเราก็คิดว่า business partnership ของทั้งสองฝ่ายสามารถช่วยตรงนี้ได้ แล้วจากที่นุ๊กพูดเมื่อสักครู่นี้ว่า landscape ด้านพลังงานมันกำลังจะเปลี่ยนไปน่ะค่ะ จากแต่ก่อนหากพูดถึงอุตสาหกรรมพลังงาน ผู้เล่นทุกบริษัทก็จะมุ่งทำธุรกิจกับบริษัทขนาดใหญ่ (B2B) หรือ กับภาครัฐ (B2G) น้อยมากเลยค่ะ ที่บริษัทด้านพลังงานจะดีลกับลูกค้ารายย่อย (B2C) ซึ่งตรงนี้ เรามองเห็นแล้วค่ะว่าต่อไปธุรกิจพลังงานจะมุ่งไปที่ตลาดของผู้ใช้ไฟฟ้าจริงๆ นั่นก็คือประชาชนทั่วไป GUNKUL จึงเตรียมทุกอย่างไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ

ถ้าให้นุ๊กอธิบาย โดยแยกเป็น sector นะคะ GULF เขาจะมุ่งเน้นโครงการขนาดใหญ่ โครงการจากภาครัฐ GUNKUL ก็จะเน้นในส่วนของ B2B ซึ่งเราถนัดอยู่แล้ว เราก็ดำเนินการต่อไป ขณะที่ฝั่ง B2C ถึงแม้จะเป็นตลาดใหม่ แต่จริงๆ เราพยายามค้นหาโมเดลธุรกิจมาสักระยะหนึ่งแล้วค่ะ โดยเราไปจับมือกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มต้นเลย เราไปจับมือกับ ORIGIN เพราะต้องยอมรับนะคะว่าความรู้ความเข้าใจเรื่องบ้าน เรามีไม่เท่า ORIGIN แน่นอน จึงถือว่าเราได้มีพาร์ทเนอร์ที่ดี ที่พยายามจะขับเคลื่อนให้พลังงานสะอาดกลายเป็นแกนหลักในการพัฒนาชีวิตลูกบ้านของเขา เราได้เรียนรู้อะไรจากเขาเยอะมากเลยค่ะ

นอกจากนี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว เราไปจับมือกับ Jaymart เพื่อหาแนวทางเรื่องโซลาเซลล์ เพราะจริงๆ โซลาเซลล์เนี่ย อยู่กับประเทศไทยมานาน นุ๊กว่าเกิน 10 ปีแน่นอนค่ะ จนทุกคนเคยชิน และมั่นใจด้วยว่ามันประหยัดไฟ แต่มันมีกำแพงอะไรสักอย่างที่การติดตั้งโซลาเซลล์ไม่ได้เหมือนติดอินเตอร์เน็ต เพราะทำครั้งหนึ่ง ต้องลงทุนค่อนข้างสูง กว่าจะคุ้มทุน ใช้ระยะเวลาระดับหนึ่ง ดังนั้น ความร่วมมือนี้ จึงเป็นการสร้าง Solar cell X Finance ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าตลาด mass มี Jaymart และ Singer ช่วยผ่อนค่าใช้จ่ายได้ สมมุติต้องติดโซลาเซลล์ในราคา 1 แสนบาท ลูกค้าก็สามารถผ่อนจ่ายได้เดือนละ 1 พันบาท โมเดลนี้จึงทำให้คนรู้สึกว่าโซลาเซลล์เข้าถึงง่าย

6. Energy is a Human Right
นุ๊กมองว่า พลังงานสะอาดมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนค่ะ ต้องยอมรับว่า เราเติบโตและซึมซับความเข้าใจด้านพลังงานมาตลอดว่า เราอาจจะไม่สามารถกำหนดรูปแบบการใช้พลังงานของเราได้ เราเหมือนมีหน้าที่ใช้ไฟ สิ้นเดือนเราก็ไปจ่ายบิลค่าไฟ เราเติบโตมากับภาพเช่นนั้น แต่ในอนาคตต่อไปน่ะค่ะ เราจะต้องถามได้ว่า “คุณอยากใช้พลังงานแบบไหนที่เหมาะสมกับคุณคะ?” เราต้อง tailor made ในสิ่งที่ลูกค้าเหมาะสมกับรูปแบบพลังงานนั้นจริงๆ และนุ๊กอยากทำให้ภาพนั้นมันเกิดขึ้น อยากให้ GUNKUL เป็นเพื่อนด้านพลังงานของผู้ใช้ไฟ ให้เขารู้สึกเชื่อใจ มั่นใจ ไม่ว่าเป็นใครในระบบนิเวศน์ นุ๊กอยากให้ทุกคนได้ประโยชน์ นี่คือ mission ที่ตั้งใจว่าจะทำให้สำเร็จค่ะ

เรามีปัจจัย 4 ใช่ไหมคะ ทุกอย่างเราเลือกได้ แต่พอเป็นเรื่องพลังงาน เรากลับไม่มีความเข้าใจว่าจะเลือกอย่างไรให้เหมาะกับตัวเรา แล้วถ้าวิธีที่เราเลือก จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง มันลำบากจัง นุ๊กจึงพยายามคิดน่ะค่ะ ว่ายังมีอะไรอีกที่เป็นปัญหาของประชาชน แล้วเราในฐานะภาคเอกชนสามารถแก้ไขได้ ก็อยากจะเข้าไปช่วยปลดล๊อคในส่วนนั้นค่ะ
วันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธหรอกค่ะว่าการที่เราจะดำรงอยู่โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ สิ่งแวดล้อมต้องดีด้วย ถ้าคุณอยากมีอากาศที่บริสุทธิ์ ไม่มี PM2.5 คุณทำคนเดียวไม่ได้ เรื่องอื่นคุณอาจทำคนเดียวได้ แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ทำคนเดียวไม่ได้ค่ะ ทุกคนต้องช่วยกันทำ

7. ความท้าทายที่สำคัญ สำหรับคุณและองค์กร

นุ๊กว่า คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของลูกค้า เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนุ๊กค่ะ คำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเขา ไม่ได้หมายถึงแค่ความพึงพอใจนะ เนื่องจากระบบไฟฟ้ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัย (Safety) คุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานได้รับการพัฒนาขึ้นตามที่เขาคาดหวังไหม หรือดีกว่าที่เขาคาดหวังไหม User Experience เป็นอย่างไร และเนื่องจากโซลาเซลล์ไม่ใช่ Product ที่ใช้แล้วหมดไปภายในระยะเวลาสั้นๆ แต่มันอยู่กับเราไป 25-30 ปี เราจะทำอย่างไรให้ช่วงระยะเวลาที่ลูกค้าอยู่กับเรา เขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามที่เขาคาดหวังไว้ ถ้าเราทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นหลังจากการใช้ นุ๊กว่าเขาคงไม่ปฏิเสธ GUNKUL ไม่ปฏิเสธ Product ของเรา นี่คือความตั้งใจว่าอยากจะเห็นเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี อยากจะเป็นเพื่อนด้านพลังงานให้กับลูกค้าของเราค่ะ

(Advertorial) 


กำลังโหลดความคิดเห็น