xs
xsm
sm
md
lg

อีอีซีเดินหน้า 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักตามแผนลุยพัฒนาศูนย์ธุรกิจและเมืองใหม่อัจฉริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ดอีอีซีรับทราบแผนการขับเคลื่อน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซียังเดินหน้าได้ตามแผนงาน พร้อมปักหมุดลุยแผนพัฒนาศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 10 ปีในพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา พร้อมรับทราบโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่มาบตาพุดและเมืองพัทยารองรับความต้องการในอนาคต

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อ 11 ก.ค.ว่า กพอ.รับทราบความก้าวหน้า 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักอีอีซีซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ที่ได้เดินหน้าก่อสร้างแล้วทุกโครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมเห็นชอบเดินหน้าโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะในพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภาระยะ 10 ปี (ปี 2565-75)
  
"ได้มีการเสนอการพัฒนาเมืองใหม่ต่อที่ประชุมอีอีซีในพื้นที่ 30 กิโลเมตร รอบพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จากพัทยาไปถึงเมืองระยอง แต่จำเป็นต้องมีการเตรียมเมืองใหม่เพื่อลดความแออัดในพื้นที่พัทยาและระยอง ซึ่งคิดว่าคนรุ่นใหม่ควรมีพื้นที่เมืองใหม่ โดยจะมีการเตรียมธุรกิจไว้ 5 ด้าน คือ 1. ศูนย์สำนักงานและศูนย์ราชการ 2. ศูนย์กลางการเงินของอีอีซี 3. ศูนย์กลางการแพทย์แม่นยำ 4. การศึกษา วิจัย พัฒนาระดับนานาชาติ 5. ศูนย์ธุรกิจอนาคต เช่น กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่ม BCG กลุ่ม 5 จี กลุ่มโลจิสติกส์ และ 6. ที่อยู่อาศัยของคนทุกกลุ่ม โดยมีกลุ่มของผู้มีรายได้เบื้องต้นและปานกลางประมาณ 70% และกลุ่มผู้มีรายได้สูงประมาณ 30% ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกระบวนการการได้มาซึ่งที่ดิน โดยมีมูลค่าการลงทุนใน 10 ปี 1.3 ล้านล้านบาท

“ในช่วงเป็นโควิด-19 ประเทศไทยเสียรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท เราจำเป็นต้องสร้างโครงการใหม่เพื่อชดเชยส่วนที่หายไป ถ้ามีการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ด้วยก็จะชดเชยส่วนที่หายไป” นายคณิศกล่าว

สำหรับ 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา งานสาธารณูปโภครื้อเสร็จและการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้พื้นที่ครบ 100% เอกชนเข้าพื้นที่เตรียมก่อสร้าง โดยส่วนเชื่อมสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาคาดว่าจะเปิดบริการปี 2569

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ส่วนภาครัฐ กองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อย ซึ่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ EHIA ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์ในเดือนสิงหาคม และเสนอ ครม.เดือนกันยายน 2565 โดยการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เริ่มงานออกแบบก่อสร้างโครงสร้าง โดยท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 1 ท่าเรือสินค้าเหลวและพื้นที่คลังสินค้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มต้นการก่อสร้างงานทางทะเล และการจัดทำ EHIA สำหรับท่าเทียบเรือ F จะอนุมัติภายในเดือนสิงหาคม 2566 โดยงานสาธารณูปโภคและท่าเทียบเรือ F1 คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2568

พร้อมกันนี้ กพอ.ยังได้รับทราบการศึกษา การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่อีอีซีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนโดยมีเป้าหมายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเมืองพัทยา โดยอีอีซีจะร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และเมืองพัทยาหารือถึงแนวทางดำเนินการ การคัดเลือกเทคโนโลยี รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“คาดว่าในอีก 5 ปี หรือปี 2570 จะมีความจำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลบริเวณมาบตาพุดไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน และในปี 2580 จำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลไม่น้อยกว่า 300,000 ลบ.ม และเมื่อรวมกับแหล่งน้ำสำรอง รวมถึงบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จะทำให้อีอีซีมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาพรวม” นายณิศกล่าว


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) หรือ “โดรน” ในพื้นที่อีอีซี โดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดการใช้ประโยชน์ครบมิติ โดยเฉพาะตามแนวคิดการสร้างเมืองการบิน (Aerotropolis) เชื่อมโยงระบบคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานหลัก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขนส่ง ลดต้นทุน ลดเวลา รวมทั้งต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมการผลิต และการแพทย์ครบวงจร เพื่อยกระดับการให้บริการและร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ New S Curve ในพื้นที่อีอีซี

ขณะเดียวกัน กพอ.รับทราบการยกระดับบริการด้านยีนบำบัด (Gene theapy) สำหรับโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยในคนไทยและมีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้เทคโนโลยียีนบำบัดโรคธาลัสซีเมียมีต้นทุนที่เหมาะสม และประชาชนไทยสามารถเข้าถึงได้ สกพอ.มีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตยีนบำบัดในไทย และจะเตรียมพื้นที่สำหรับบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ผลิตอีกด้วย โดยสำหรับภาคเอกชนนั้น BGI Researchแสดงความสนใจที่จะมาดำเนินการวิจัยทางคลินิกสำหรับผลิตภัณฑ์ยีนบำบัดเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย ซึ่ง สกพอ.จะได้ช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น