xs
xsm
sm
md
lg

AAI มุ่งสู่คู่ค้าเชิงกลยุทธ์รุกอาหารสัตว์ เร่งขยายช่องทางจำหน่าย-ลุยอีคอมเมิร์ซ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - ‘บมจ.เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล’ หรือ AAI โชว์ศักยภาพผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกรายใหญ่ของไทย มองโอกาสธุรกิจเติบโตโดดเด่นตามเทรนด์ตลาดโลกที่มีดีมานด์สูง มุ่งยกระดับเป็นคู่ค้าเชิงกลยุทธ์ที่เติบโตไปพร้อมกับคู่ค้า พร้อมนำแบรนด์ของกลุ่มเปิดเกมรุกทำตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ


นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ทูน่า และอาหารสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งผลักดันบริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ให้เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกชั้นนําของประเทศไทยและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก สอดรับกับจังหวะที่แนวโน้มของประชากรโลกเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ และขนาดของครอบครัวเล็กลง ส่งผลให้เกิดความนิยมในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนหรือเป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น (Pet Humanization) ตามแผนการสร้างความแข็งแกร่งในทุกกลุ่มธุรกิจซึ่งเป็นแผนกลยุทธ์หลักของกลุ่มบริษัท


นายเอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI กล่าวเสริมว่า AAI เป็นหนึ่งในผู้รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก (Wet Pet Food) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) ชั้นนำของประเทศ กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนกลยุทธ์การพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับจากการเป็นผู้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Co-developer) สู่การเป็นคู่ค้าเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partners) เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของบริษัทฯ ในระยะยาว

ปัจจุบัน AAI แบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) สำหรับสุนัขและแมว ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกและผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ด ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้าที่เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงระดับสากล และภายใต้เครื่องหมายการค้าของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งประกอบด้วย แบรนด์มองชู (monchou) และแบรนด์มาเรีย (Maria) เจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดสินค้าพรีเมียม แบรนด์มองชู บาลานซ์ (monchou balanced) และแบรนด์ฮาจิโกะ (Hajiko) เจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดมวลชน และ แบรนด์โปร (Pro) เจาะกลุ่มลูกค้าโดยเน้นการแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก และ (2) ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าในน้ำปรุงรสและซอสปรุงรส รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสุกพร้อมทาน (Ready-to-eat) ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้าทั้งหมด 


นอกจากนี้ ยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ (By-product) จากการแปรรูปปลาทูน่า เช่น ผลิตภัณฑ์ปลาป่น ผลิตภัณฑ์น้ำนึ่งปลา และผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา เป็นต้น

บริษัทฯได้รับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้ขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยได้เพิ่มกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกจาก 25,000 ตันต่อปีในปี 2560 เป็น 42,000 ตันต่อปี ในปัจจุบัน

AAI ยังมีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้แบรนด์ของตนเอง ด้วยศักยภาพในฐานะผู้ผลิตอาหารและอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกรายใหญ่ของประเทศไทย ให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองดังกล่าวเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง โดยได้เริ่มต้นจากการเข้าไปทำการตลาดทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาแบรนด์สู่ระดับสากล


นางสาววรัญรัชต์ อัสสานุพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีกลยุทธ์ขยายตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและรักษาอัตรากำไรในระยะยาว โดยได้พัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงของตนเองขึ้นหลากหลายแบรนด์ เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ครบทุกประเภทและครอบคลุมความต้องการของกลุ่มลูกค้าในทุกตลาดย่อย (Market Segment) ทั้งอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ด และขนมสำหรับสัตว์เลี้ยง

บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการทำการตลาดและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายโดยเน้นการขยายตลาดผ่านร้านค้าสัตว์เลี้ยงและโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์อีคอมเมิร์ช

บริษัทฯ มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 3,588 ล้านบาทในปี 2562 เป็น 4,985 ล้านบาทในปี 2564 เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 18% ต่อปี และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 168 ล้านบาทในปี 2562 เป็น 639 ล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 95% ต่อปี












กำลังโหลดความคิดเห็น