“กรมเจ้าท่า” เดินหน้าปรับหลักสูตรเร่งด่วนและระยะยาว ผลิตบุคลากรพาณิชยนาวี ทั้งระดับลูกเรือและเจ้าหน้าที่เดินเรือ เพิ่มทักษะ รักษามาตรฐานสากล สร้างทักษะความชำนาญเฉพาะทาง รองรับเรือเดินสมุทร เรือลำเลียง เรือโดยสาร เรือเฟอร์รี ที่ขยายตัว ตั้งเป้าปีนี้อัปเกรดคนประจำเรือ 5,000 ใบ
นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านวิชาการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้เร่งแผนขับเคลื่อนการยกระดับ และผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีให้เพียงพอต่อตลาดการเดินเรือที่สอดรับกับอัตราการเติบโตของระบบขนส่งทางน้ำ ทั้งในและต่างประเทศ โดยการยกระดับด้านคุณภาพของบุคลากรเดินเรือให้มีมาตรฐานตามเกณฑ์กฎการเดินเรือสากล ซึ่งมีการปรับมาตรฐานให้มีเกณฑ์ที่สูงขึ้น เพื่อให้การเดินเรือมีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตบุคลากรพาณิชยนาวีที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในด้านการพัฒนาบุคลากรที่มีมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการดำเนินการภายใต้แผนปีงบประมาณ 2565 กรมเจ้าท่าได้มีการจัดฝึกอบรมคนเรือ เจ้าหน้าที่เดินเรือ และปรับปรุงหลักสูตรผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานสากลในหลายรุ่น และมั่นใจว่าพร้อมรองรับกับตลาดแรงงาน และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกิจการพาณิชยนาวี ทั้งด้านการฝึกอบรม และเพิ่มวิทยฐานะของคนประจำเรือทุกระดับชั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามอนุสัญญา STCW 2010
สำหรับแผนการพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชยนาวีได้ดำเนินการในหลักสูตรที่สำคัญ ประกอบด้วย
1. หลักสูตรปริญญา หลักสูตรที่ 1 เป็นการเปิดหลักสูตรสำหรับลูกเรือ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ ทั้งลูกเรือฝ่ายเดินเรือและลูกเรือฝ่ายช่างกล ทำการฝึกอบรมเวลา 3 เดือน โดยในปีนี้คาดว่าจะเป็นตามเป้าหมายที่สามารถฝึกอบรมครบทั้ง 6 รุ่น ได้ 300 คน โดยได้รับความสนใจจากลูกเรือเข้ามาสมัครฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง
2. หลักสูตรปริญญา หลักสูตรที่ 2 เป็นหลักสูตรระยะยาว ได้แก่ หลักสูตรวิทยาการเดินเรือ และหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลเรือ ศูนย์ฝึกพาณิชยนาวีมีแผนการดำเนินงานรับนักศึกษาที่จะเข้าใหม่ในปี 2565 จำนวน 200 คน ได้แก่ ฝ่ายเดินเรือ ประมาณ 120 คน และฝ่ายห้องเครื่อง ประมาณ 80 คน เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี ที่จะมีจำนวนบุคลากรด้านพาณิชยนาวีที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมการเดินเรือได้เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
3. การสอบตั๋วของลูกเรือและเจ้าหน้าที่เดินเรือ ได้ดำเนินการลดขั้นตอนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกเรือ และเจ้าหน้าที่เดินเรือมากขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์ฝึกพาณิชยนาวีร่วมกับกองมาตรฐานคนประจำเรือ กรมเจ้าท่า ที่ทำการลดขั้นตอนในกระบวนการออกตั๋ว แต่ยังคงรักษามาตรฐานการเดินเรือไว้อย่างเข้มงวด เพื่อให้นักเรียนที่จบสามารถเข้าทำงานได้ หรือขอรับประกาศนียบัตรก่อนปฏิบัติหน้าที่ในเรือ ซึ่งในปี 2565 จะสามารถออกตั๋วรับรองคนเรือและลูกเรือได้มากกว่า 130-140 คน เพิ่มขึ้น 40%
ทั้งนี้ หากสายการเดินเรือมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ศูนย์ฝึกพาณิชยนาวีจะผลิตหลักสูตรแบบ non-degree ไม่จบปริญญาตรี แต่จะได้รับประกาศนียบัตร และมีระยะเวลาการเรียนสั้นกว่าประมาณ 2 ปี คาดว่าจะผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีได้อีกประมาณ 40-50 คน
4. การยกระดับวิทยฐานะคนประจำเรือ โดยจัดให้มีการนำหลักสูตรอบรมระยะสั้น เพื่ออำนวยความสะดวกคนเรือที่ต้องกลับมาฝึกอบรม ยกระดับวิทยฐานะได้สะดวกรวดเร็ว และใช้เวลาฝึกอบรมที่สั้นลง และมีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่ คาดว่าปีนี้จะมีการอบรมและรับรองวิทยฐานะได้ ประมาณ 5,000 ใบ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้
“จากนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้กำหนดนโยบายในการเร่งพัฒนาและผลิตบุคลากรให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนงบประมาณปี 2565 เนื่องจากมีความต้องการบุคลากรด้านพาณิชยนาวีเป็นจำนวนมาก ศูนย์ฝึกพาณิชยนาวีเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมเจ้าท่า ที่จะมีหน้าที่ผลิตคนประจำเรือทุกระดับชั้น นายประจำเรือ ให้มีคุณภาพและเพียงพอเพื่อสนับสนุนกิจการพาณิชยนาวี ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายสมชายกล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์ฝึกพาณิชยนาวียังได้ร่วมมือกับสถาบันต่างๆ รวมถึงพันธมิตร และสถานประกอบแรงงานต่างประเทศ ในการนำงานวิจัยด้านพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเป็นสถาบันหลักในการผลิตนักเดินเรือของประเทศไทยตามแผน 5 ปี ที่จะทำให้คนเรือของไทยมีทักษะและมาตรฐานที่สูงขึ้น และเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศจากความหลากหลายของประเภทเรือที่มีการให้บริการ ต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรือลำเลียง เรือโดยสาร เรือโดยสารขนาดใหญ่ เรือเฟอร์รี ซึ่งเป็นแนวทางการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจการพาณิชยนาวีให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน