การตลาด - ปีที่ 50 ปีแห่งความท้าทายของ มาม่า เผชิญต้นทุนพุ่งไม่หยุด จากวัตถุดิบปรับราคา เร่งขอปรับราคามาม่าขึ้นอีก 1 บาท ต้องเร่งแก้เกมก่อน เบนเป้าหมายส่งออกมากขึ้น พร้อมทั้งโหมกลุ่มพรีเมียม และออกสินค้าใหม่ เลสโซเดียม ขาย 8 บาทต่อซอง
ปี 2565 นี้เป็นปีที่บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มีอายุครบรอบ 80 ปี และเป็นบริษัทแรกในเครือสหพัฒน์ ซึ่งปลุกปั้นสินค้าคู่บุญ อย่าง มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มานานถึง 50 ปี
ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จนปัจจุบันมาม่าเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งมากกว่า50% ยึดตำแหน่งผู้นำมาตลอด จนกระทั่ง มาม่า กลายเป็นคำที่เรียกแทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปโดยปริยาย หรือที่เรียกว่า เจนเนริกเนโม ไปแล้ว
ด้วยมูลค่าตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยเกือบ 20,000 ล้านบาทต่อปี
โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ตลาดรวมมีมูลค่าประมาณ 8,000-8,500 ล้านบาท เติบโต 7% และคาดว่าปีนี้ทั้งปีจะเติบโตเพียง 3% ขณะที่มาม่าเติบโตเท่ากับตลาด 7% ในช่วง 5 เดือนแรกเช่นกัน
ทว่า ปีที่ 50 ของมาม่าปีนี้ กลับไม่เหมือนทุกปีที่ผ่านมา ด้วยปัญหาต้นทุนการผลิตจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ที่สาหัสกว่าทุกปี
“มาม่า เคยผ่านวิกฤตหรืออุปสรรคหนักๆมามากหลายอย่าง เท่าที่ผมรู้ว่าครั้งที่หนักครั้งหนึ่งก็คือ ยุคของคุณปู่เรา (ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ฯ) ที่เมื่อในอดีตครั้งหนึ่งเคยเผชิญกับการลดค่าเงินบาท ตอนนั้นถือว่ามาม่าเผชิญภาวะที่หนักมากที่สุดแล้ว แต่สำหรับผมตั้งแต่เข้ามาบริหารดูแลมาม่า ผมถือว่าครั้งนี้เป็นเรื่องที่หนักที่สุดสำหรับผมแล้ว เมื่อมาม่าต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมากขนาดนี้จากต้นทุนราคาวัตถุดิบที่พุ่งไม่หยุด จึงทำให้เราต้องขอปรับราคาขึ้น” นี่คือคำกล่าวอย่างมีนัยสำคัญของ นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายมาม่า
วิกฤตต้นทุนการผลิตกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกอุตสาหกรรมการผลิตในขณะนี้ ไม่เว้นแม้แต่ มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น สงครามรัสเซียกับยูเครน ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย
ทั้งนี้ นายเวทิตฉายภาพว่า ต้นทุนวัตถุดิบหลายอย่างปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยซ้ำไป ไม่ใช่เป็นตอนนี้ เกิดมาก่อนที่จะมีสงครามรัสเซียกับยูเครนเสียอีก แต่สงครามก็เป็นตัวที่ดันให้ปัญหาหนักขึ้นไปอีกด้วย แต่ว่าด้วยความที่เครือเราเป็นบริษัทใหญ่มีความต้องการวัตถุดิบมาก จึงมีการสต๊อกวัตถุดิบไว้มากพอสมควร
แต่ตอนนี้วัตถุดิบบางอย่างก็ใกล้หมด บางอย่างก็หมดแล้ว และมีการซื้อใหม่ที่ราคาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะขณะนี้บริษัทฯ ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่ามานานกว่า 2 เดือนแล้ว ซึ่งแบกรับไม่ไหวแล้ว โดยน้ำมันปาล์มราคาขึ้นไปแล้ว 110% ข้าวสาลีราคาขึ้น 53% ซึ่งสองตัวนี้เป็นวัตถุดิบหลักเกิน 50% แล้ว
ยังไม่นับรวมแพกเกจจิ้งที่ขึ้นราคาด้วยเพราะเป็นสินค้าดาวน์สตรีมของปิโตรเลียมที่ยังขึ้นราคาต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งในไทย และต่างประเทศ
นอกจากนั้นก็ยังมีต้นทุนอื่นๆ อีกจิปาถะ
การลดต้นทุนก็เป็นทางหนึ่งที่พยายามทำให้ได้ในยามนี้ เช่นเรื่องของการจัดส่งหรือโลจิสติกส์ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพลังงานน้ำมัน ด้วยการจัดระบบเส้นทางการขนส่งให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น เป็นต้น
การยื่นเรื่องขอปรับราคาไปที่กระทรวงพาณิชย์ ที่ทางสหพัฒน์ฯ นั่งรอแล้วรอเล่า ก็ยังไม่ได้ไฟเขียวสักที ถึงขนาดที่ นายเวทิต ต้องกล่าวทำนองใจดีสู้เสือว่า ความล่าช้า อาจจะเป็นเพราะทางกระทรวงพาณิชย์เขาต้องการที่จะดูให้ละเอียดพิจารณาให้รอบคอบก่อน เพราะว่ากลัวจะกระทบผู้บริโภคอีกหากมีการขึ้นราคาอีก แต่เราก็ต้องรอต่อไป เราให้ความร่วมมือมาตลอด หากทางกระทรวงฯ ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่ม เราก็ยินดีส่งข้อมูลเพิ่มเติมไปให้ตลอดทุกครั้ง แต่กระทรวงฯ เขาคงมีขั้นตอน มีกระบวนการของเขา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะขยับขึ้น แต่สหพัฒน์ยืนยันว่ามาม่าไม่มีการลดกำลังผลิตลงแน่นอน ยังคงผลิตตามกำลังผลิตที่มีอยู่เต็มที่ 100% และตามวัตถุดิบที่มีอยู่ด้วยเพราะตลาดยังมีความต้องการสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาม่ามีโรงงานการผลิตตั้งอยู่ในประเทศไทยจำนวน 5 แห่ง คือ ที่ลำพูน มีกำลังผลิตประมาณ 2,500 ตันต่อเดือน, ที่ราชบุรี 1 มีกำลังผลิตประมาณ 445 ตันต่อเดือน, ที่ราชบุรี 2 มีกำลังผลิตประมาณ 650 ตันต่อเดือน, ที่ชลบุรี มีกำลังผลิตประมาณ 6,900 ตันต่อเดือน, ที่ระยอง มีกำลังผลิตประมาณ 1,900 ตันต่อเดือน และต่างประเทศ จำนวน 4 แห่ง คือ ฮังการี บังกลาเทศ เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งอยู่ภายใต้การผลิตโดย บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
แม้ว่าสหพัฒน์จะต้องรอการอนุมัติการปรับราคาจากทางกระทรวงพาณฺิชย์อย่างใจจดใจจ่อว่าจะได้ปรับราคาจาก 6 บาทต่อซอง เป็น 7 บาทต่อซองตามที่เสนอไป ว่าจะได้เมื่อไรและก็ไม่ได้สร้างกำไรเท่ากับก่อนหน้านี้ด้วยเช่นกันเพราะต้นทุนต่างกัน แต่ก็ต้องปรับราคา เพราะแบกรับภาระต้นทุนที่นานกว่า 2 เดือนแล้ว จนป่านนี้ไม่ไหวแล้ว
ทั้งนี้ การปรับราคาล่าสุดของมาม่า จาก 5 บาทต่อซอง เป็น 6 บาทที่ขายอยู่ในเวลานี้ก็ผ่านมามากกว่า 14 ปีแล้ว
“แม้ว่ามาม่าหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะขึ้นราคาแค่บาทเดียว เป็น 7 บาท ก็คงไม่ได้ส่งผลกระทบตีอผู้บริโภคมากเกินไปนัก เพราะยังมีราคาที่ถูกกว่าสินค้าอื่นๆ อีกมาก”
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นการปรับตัวปรับเกมในเชิงธุุรกิจ
ด้วยการมุ่งเน้นตลาดส่งออกมากขึ้น เนื่องจากตลาดโลกยังมีความต้องการอีกมาก และราคาที่ทำได้ก็น่าจะดีกว่าในไทยบ้าง
ล่าสุด มาม่ามีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 30% แล้ว จากเดิมที่มีเพียง 20% เท่านั้นเอง ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 10% นั้น ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
สอดรับกับที่นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตกล่าวก่อนหน้านี้ว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายที่จะทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยมี “มาม่า” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรืออินสแตนท์นูดเดิลเป็นแบรนด์หัวหอกหลัก โดยมีนโยบายที่จะทำตลาดมาม่าให้มากกว่าแค่การส่งออก (Beyond Export) นั่นคือ การเป็น โกลบอล มาร์เกต ( Global Market) ซึ่งจะเน้นการทำตลาดกลุ่มพรีเมียมและไฮแวลูมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคในต่างประเทศ
โดยมีตลาดต่างประเทศมากกว่า 68 ประเทศทั่วโลกแล้ว โดยสัดส่วนรายได้ของมาม่าในต่างประเทศหลักๆ มาจาก เช่น ในเอเชีย 50%, ในยุโรปมากกว่า 20%, ใน อเมริกา 18% และแอฟริกา และอื่นๆ
ทั้งนี้ ปี 2564 มาม่าทำยอดขายที่ 14,710 ล้านบาท แบ่งเป็นการขายในประเทศ 10,386 ล้านบาท และต่างประเทศ 4,324 ล้านบาท โดยปี 2570 มาม่าตั้งเป้ายอดขายรวม 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 11,000 ล้านบาท และต่างประเทศ 11,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น นายเวทิตย้ำด้วยว่า มาม่าก็จะขยายตลาดในการออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อกลุ่มพรีเมียมมากขึ้นด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพรีเมียม หรือกลุ่มที่มีราคาจำหน่ายมากกว่า 10 บาทขึ้นไปต่อซองหรือยูนิต ซึ่งมีรสชาติอีกแบบแตกต่างจากมาม่า 6 บาทเดิม ซึ่งมาม่าใช้แบรนด์มาม่าโอเรียนทัลคิทเช่นมาเจาะตลาด และปัจจุบันเป็นมาม่าโอเค ที่เป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตดี
เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า (Value Add)
“เราทำมาม่าให้เป็นสินค้าของทุกคน เป็นแบรนด์ของทุกคน มาม่าที่เป็นราคา 6 บาท เป็นตลาดใหญ่ดั้งเดิมที่มีมานาน เราก็ขยายตลาดต่อเนื่อง ส่วนที่มีราคาสูงขึ้นตลาดให้การตอบรับ คนนิยมเราก็ขยายตลาดเช่นกัน”
ทั้งนี้ คนไทยมีการบริโภคบะมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ย 52 ซองหรือยูนิต ต่อคนต่อปี ซึ่งติดกลุ่มท็อปเท็นของโลก
ปัจจุบันทั้งมาม่าโอเคและกลุ่มพรีเมียมของมาม่าที่ราคามากกว่า 10 บาทขึ้นไป มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20% ของทั้งรายได้ทั้งหมดหรือของทั้งพอร์ตโฟลิโอของมาม่าแล้ว และกลุ่มพรีเมียมของมาม่าเองทุกวันนี้ก็มีการเติบโตที่มากกว่า 28% มากกว่าแบบธรรมดาและถือว่ามากกว่าตลาดรวมกลุ่มพรีเมียมอีกด้วยที่เติบโตเพียง 15% เท่านั้น
ในครึ่งหลังปี 2565 นี้มาม่าโอเคและกลุ่มพรีเมียมจะมีการออกสินค้าหรือเอสเคยูใหม่ๆ อีกมาก
ส่วนการพัฒนาเมนูใหม่ๆ หรือสูตรใหม่ๆ ในกลุ่มที่ต่ำกว่า 10 บาทก็ยังมีอยู่เช่นกัน
ล่าสุดบริษัทฯ ออกสินค้าใหม่ มาม่า สูตร Less Sodium มี 4 รสชาติ คือ ต้มยำกุ้ง หมูสับ ต้มยำกุ้งน้ำข้น เส้นหมี่น้ำใส ซึ่งมีราคาจำหน่าย 8 บาทต่อซอง โดยจุดเด่นคือเป็นการลดปริมาณโซเดียมลงสูงสุด 43% แล้วแต่รสชาติ กล่าวคือ รสต้มยำกุ้ง มีโซเดียม 1,010 มิลลิกรัม ลดลง 43%, รสต้มยำกุ้งน้ำข้น มีโซเดียม 1,030 มิลลิกรัม ลดลง 38%, รสเส้นหมี่น้ำใส มีโซเดียม 980 มิลลิกรัม ลดลง 38% และรสหมูสับ โซเดียม 1,170 มิลลิกรัม ลดลง 32% ที่จะวางจำหน่ายต้นเดือนสิงหาคมนี้
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นายเวทิตกล่าวปฏิเสธว่า การออกสินค้าใหม่ที่เป็นเอสเคยูใหม่ทุกครั้งบริษัทต้องขออนุมัติจากทางกระทรวงพาณิชย์ก่อนแล้วทุกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องของราคา ซึ่งการผลิตสินค้าใหม่ครั้งนี้ก็ผลิตภายใต้ต้นทุนการผลิตที่สูงตามจริง และตั้งราคาตามจริง และได้รับอนุมัติจากกระทรวงในการจำหน่ายแล้ว ไม่ได้ถือว่าขึ้นราคาแต่อย่างใด เพราะเป็นของใหม่ ขณะที่ของเก่าก็ยังราคาเดิมอยู่ราคา 6 บาทต่อซอง จนกว่าจะได้ปรับราคา ก็มีประมาณ 40 กว่าเมนู
ที่ผ่านมา “มาม่า” มีพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติที่ถูกปากผู้บริโภคทุกกลุ่ม และบรรจุภัณฑ์ที่ดูแลสิ่งแวดล้อมพร้อมสอดรับกับสไตล์และเทรนด์ของผู้บริโภคที่ต้องการความง่ายและสะดวก
“เราไม่เคยหยุดนิ่งในการเดินหน้าพัฒนา “มาม่า” ให้มีคุณค่าและรสชาติที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่มตามความต้องการที่หลากหลาย โดยเริ่มต้นจากการทำตลาดรสชาติแรก ได้แก่ ซุปไก่ หมูสับ และอีกหลายรสชาติ จนมาถึง ต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภคชาวไทย นอกจากนี้ยังมี มาม่าเจ โจ๊ก และข้าวต้ม รวมทั้งมาม่า OK นับว่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ซึ่งหลังจากนี้ “มาม่า” จะยังคงอยู่เคียงข้างผู้บริโภคชาวไทยด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รองรับผู้บริโภคในกลุ่มที่ดูแลสุขภาพในราคาที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด” นายเวทิตกล่าว
นอกจากนี้ เพื่อให้รับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่สนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยบริษัทฯ ได้ร่วมกับ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ Bitkub เปิดตัวการ์ด NFT คอลเลกชันครบรอบ 50 ปี ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-3 ก.ค. 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งการ์ด NFT นี้จะใช้สำหรับการสะสมสินค้าในคอลเลกชันครบรอบ 50 ปี โดยบริษัทฯ ได้นำร่องการ์ดเซตแรกออกสู่ตลาด 3 แบบ ได้แก่ การ์ดรสข้าวซอยไก่ การ์ดรสบะหมี่หยกแห้งเป็ดย่าง และการ์ดรสเส้นโฮลวีตหมูพริกไทยดำ ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมเพียงมีบัญชี Bitkub Next สามารถร่วมกิจกรรมได้ ณ บูทมาม่า ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ และผู้ที่ครอบครองการ์ด NFT ชุดแรก จะได้รับสิทธิพิเศษจาก "มาม่า” อีกมากมายในอนาคต
จากนี้คงต้องจับตาดูว่าผลสรุปจะออกมาในรูปใดในส่วนของการขอปรับราคา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าสุดท้ายแล้ว มาม่า ก็คงได้รับไฟเขียวขาย 7 บาทต่อซองแน่นอน