xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ตรวจโมโนเรล "ชมพู-เหลือง" ทดสอบเสมือนจริง ต.ค.นี้-คาด ม.ค. 66 ให้ประชาชนทดลองฟรีก่อนเปิดบริการเป็นทางการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ตรวจความพร้อมและร่วมทดสอบการเดินรถไฟฟ้า "ชมพู-เหลือง" คาดเปิดทดสอบเสมือนจริง ต.ค.นี้ และให้ประชาชนร่วมใช้ฟรี ม.ค. 66 ก่อนเปิดให้บริการบางส่วนในไตรมาส 1/66 เผยค่าโดยสาร 14-42 บาทคิดตั้งแต่ปี 59 ก่อนเปิดต้องคำนวณดัชนีผู้บริโภคอีกครั้ง คาดปีแรกมีผู้โดยสาร 1.9-2 แสนคน

วันที่ 30 มิ.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้า พร้อมร่วมทดสอบการเดินรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูจากสถานีมีนบุรี (PK30) ไปยังสถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ (PK28) และเดินทางกลับเข้าสู่อาคารศูนย์ซ่อมบำรุง รวมถึงติดตามแผนการพัฒนาโครงการฯ ในอนาคต การเชื่อมต่อกับโครงการขนส่งมวลชนอื่นๆ และความพร้อมของขบวนรถต่างๆ รวมถึงแผนการเตรียมเปิดให้บริการเดินรถ

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีความคืบหน้าในภาพรวมคิดเป็น 92.93% แบ่งเป็นงานโยธา 93.42% และงานระบบรถไฟฟ้า 92.29% ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความคืบหน้าในภาพรวมคิดเป็น 88.51% แบ่งเป็นงานโยธา 90.06% และงานระบบรถไฟฟ้า 87.02% โดยรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางอยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ และมีแผนกำหนดการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ที่จะเริ่มภายในเดือน ต.ค. 65 ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วงอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกของปี 66

ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายฟรีได้ประมาณเดือน ม.ค.-มี.ค. 66 เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน โดยจะจัดให้ทดลองใช้ฟรีเป็นแบบกลุ่ม หลังจากนั้นคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 66 โดยสายสีชมพูจะทดลองเดินรถจากสถานีมีนบุรี-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และสายสีเหลืองทดลองเดินรถวิ่งจากสถานีภาวนา-สำโรง

ซึ่งขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้รับมอบขบวนรถแล้ว 28 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้รับมอบขบวนรถแล้ว 26 ขบวนจากทั้งหมด 42 ขบวน ขณะที่ขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะจัดส่งถึงประเทศไทยได้ภายในเดือน ก.ค. 65 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และในเดือน ต.ค. 65 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู

โดยประมาณการจำนวนผู้โดยสารในปีแรกที่เปิดให้บริการ เริ่มต้น 1.9-2.0 แสนคน/เส้นทาง โดยแต่ละเส้นทาง ซึ่งขบวนรถไฟฟ้ามีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1 ล้านคน/วัน ซึ่งแต่ละเส้นทางได้ให้สัมปทาน 30 ปี เพราะมีการลงทุนสูง โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีมูลค่า 5.26 หมื่นล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีมูลค่า 4.9 หมื่นล้านบาท

สำหรับค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย ในเบื้องต้นกำหนดอัตราที่ 14-42 บาท ซึ่งเป็นผลการศึกษาตามข้อมูลปี 59 แต่ ณ ปีเปิดให้บริการจะมีการหารือกับผู้ประกอบการและกรมการขนส่งทางราง โดยต้องนำดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มาคำนวณอัตราค่าโดยสารเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่ค่าแรกเข้าที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่นจะมีการหารือเพื่อไม่ให้เก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน

นายศักดิ์สยามกล่าวถึงส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. ว่า ขณะนี้ได้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างแล้วใช้เวลา 3 ปี คาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 68 ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ซึ่งจะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในช่วงสถานีลาดพร้าว และมีประเด็นที่กระทบต่อรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นคนละผู้ประกอบการ แต่เป็นส่วนที่มีประโยชน์จึงต้องมีการเจรจากันซึ่งยังมีเวลา

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น ในบางพื้นทีี่มีระบบสาธารณูปโภคตามแนวเส้นทาง ส่งผลให้การก่อสร้างมีความล่าช้า ซึ่งได้มอบนโยบายให้เร่งประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าได้อย่างราบรื่นแล้วเสร็จตามกำหนด และดำเนินการคืนพื้นที่โดยเร็วเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ลดผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนให้มากที่สุด พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) และการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) โดยกำหนดให้เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) ที่ก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง 2 สายแรกของประเทศไทย เมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางแล้วเสร็จจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยให้ประชาชนเดินทางจากชานเมืองสู่ใจกลางเมืองได้แบบไร้รอยต่อ เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว บริเวณหน้าอาคารจอดแล้วจร สถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ไปตามแนวถนนลาดพร้าว ถึงทางแยกบางกะปิ เข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดม แยกศรีเอี่ยม แยกศรีเทพา เข้าสู่ถนนเทพารักษ์ และสิ้นสุดที่บริเวณแยกเทพารักษ์ รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร

ประกอบด้วย สถานีทั้งหมด 23 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง มีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย ประกอบด้วย 1) สถานีลาดพร้าว (YL01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) 2) สถานีแยกลำสาลี (YL09) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 3) สถานีหัวหมาก (YL11) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์และรถไฟทางไกลสายตะวันออก 4) สถานีสำโรง (YL23) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณถัดจากศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ผ่านแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์ ตัดเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะที่บริเวณใกล้กับห้าแยกปากเกร็ด ผ่านแยกหลักสี่ เข้าสู่ถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี เลี้ยวขวาสู่ถนนรามคำแหง ซึ่งมีสถานีสุดท้ายที่บริเวณใกล้ซอยรามคำแหง 192 ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 30 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง มีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย

ประกอบด้วย 1) สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) 2) สถานีหลักสี่ (PK14) เชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต 3) สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 4) สถานีมีนบุรี (PK30) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)












กำลังโหลดความคิดเห็น