กกพ.ส่งสัญญาณค่าไฟฟ้า(เอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้(ก.ย.-ธ.ค.65) มีโอกาสปรับขึ้นทะลุ 40 สตางค์ต่อหน่วย เหตุปัจจัยทั้ง ค่าก๊าซฯและน้ำมัน เงินบาทอ่อน หนุนต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากสมมติฐานเดิม ระยะยาวต้องเร่งรื้อโครงสร้างบริหารพลังงานของประเทศใหม่ วอนทุกส่วนร่วมประหยัดพลังงาน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ไขข้อข้องใจ...รับมือค่าไฟครึ่งปีหลัง” จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) วันนี้( 17 มิ.ย.2565) โดยระบุว่า แนวโน้มการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้ (เดือนกันยายน - ธันวาคม ปี 2565)จะมีการประกาศในเดือนก.ค.นี้ยอมรับว่ามีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 40 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตามจะต้องมาประเมินปัจจัยต่างๆใหม่อีกครั้งและรวมไปถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นสำคัญ
“ ดูจากตัวเลขบนสมมติฐานเดิมที่วางไว้ที่เราเกลี่ยค่าไฟตลอดปีและงวดสุดท้ายปีนี้จะปรับขึ้นราว 40 สตางค์ต่อหน่วยแต่ขณะนี้ปัจจัยต่างๆเปลี่ยนไปมากทั้งบาทที่อ่อนค่าขึ้นจาก 33 บาทต่อเหรียญสหรัญมาอยู่ 35 บาทต่อเหรียญฯ การใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่สูงขึ้นจากประมาณการเดิม 10% และราคาLNG ที่สูงขึ้นมากทำให้ทิศทางเอฟทีสูงกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วยแต่ภาพรวมเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานจะไม่ถึง 5 บาทต่อหน่วย ดังนั้นค่าไฟที่สูงมีความจำเป็นที่ประชาชนและมาตรการของรัฐจะต้องร่วมมือกันประหยัด”นายคมกฤชกล่าว
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าเอฟทีจะต้องคำนึงถึงภาระของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่แบกรับภาระอยู่ขณะนี้ราว 8 หมื่นล้านบาทหากต้องการเคลียร์ภาระส่วนหนี้ให้หมดจะต้องปรับขี้นค่าเอฟทีทันทีไม่ต่ำกว่า 1 บาทต่อหน่วยในงวดถัดไปซึ่งยอมรับว่าจะเป็นภาระกับประชาชนแต่การจะไม่ปรับขึ้นเลยก็จะเป็นภาระกฟผ.ในอนาคตและสะท้อนมายังผู้บริโภคอยู่ดี ดังนั้นการปรับขึ้นค่าเอฟทีครั้งเดียวจบคงจะไม่ง่ายนักหากราคาพลังงานยังคงมีทิศทางที่สูงและภาระกฟผ.ที่ยังคงแบกอยู่มากแนวโน้มค่าเอฟทีหากมีการเฉลี่ยการขึ้นก็จะขึ้นต่อเนื่องไปอย่างน้อยต้นปี 2566
นายคมกฤช กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องควรจะต้องมีการบริหารจัดการในระยะยาว เพื่อให้เกิดกความชัดเจนด้านโครงสร้างการจัดการพลังงานของประเทศ ได้แก่ โครงการจัดกาพลังงานในอนาคต LNG/Domestic Gas และแผนจัดหา เก็บและใช้ก๊าซฯระยะยาวอย่างเป็นธรรม เช่น เรื่อง LNG Terminal และจำนวน Tanks รวมถึงการวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน ให้สอดคล้องกับแผนการจัดหาเชื้อเพลิง ตลอดจนมุ่งความสำคัญเรื่องของ Low Carbon แบบชาญฉลาด
“ระยะสั้น กกพ. ได้เร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงในหลายมิติ อาทิ โดยบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบ ด้วยการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เหมาะ เพื่อลดการนำเข้า LNG ในที่มีราคาแพงเข้ามาผลิตไฟฟ้ารวมถึง การออกประกาศการับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม นำเข้า LNG เข้ามาทดแทนกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยที่ลดลง เบื้องต้นประเมินว่า จะมีปริมาณ 8 ล้านตัน เป็นต้นซึ่งยอมรับว่าค่าไฟไทยที่สูงขึ้นเพราะพึ่งก๊าซฯมากเกินไปโดยหลังจากก๊าซอ่าวไทยลดลงต้องหันไปพึ่งLNG มากขึ้นซึ่งการนำเข้าเป็นช่วงที่ราคาสูงมาก