กบอ.รับทราบแผนการขับเคลื่อนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่มาบตาพุด และเมืองพัทยารองรับความต้องการระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นใจทุกภาคส่วนจะมีน้ำพอใช้ เร่งสรปแผนลงทุน 7,700 ล้านบาทเล็งใช้รูปแบบ PPP พร้อมเร่งพัฒนาระบบโดรนในอีอีซีโดยมอบบวท.จัดทำแนวทางพัฒนาครบทุกมิติ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2565 ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพลังงานเป็นประธานเมื่อ 15 มิ.ย. ว่า กบอ.ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล(Desalination) ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นคงต่อทรัพยากรน้ำที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ระบบทั้งเพื่อการบริโภค ภาคเกษตรและการผลิตในอุตสาหกรรม โดยอีอีซี ได้ศึกษาร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) และสถาบันขนส่งจุฬาลงกรณ์ฯ ถึงพื้นที่เป้าหมายในการติดตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 2 แห่ง ได้แก่ นิคมฯ มาบตาพุด และเมืองพัทยา ที่คาดว่าในอีก 5 ปีหรือปี 2570 จะมีความจำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลบริเวณมาบตาพุด ไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งมูลค่าโครงการเบื้องต้นจะอยู่ที่ 7,700 ล้านบาท
" ปี 2580 จำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ไม่น้อยกว่า 300,000 ลบ.ม และเมื่อรวมกับแหล่งน้ำสำรอง รวมถึงบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จะทำให้อีอีซี มีปริมาณน้ำเพียงพอ ต่อความต้องการใช้ในภาพรวม ทั้งนี้ การดำเนินการต่อไป อีอีซี สทนช. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ. )และเมืองพัทยา จะร่วมกันหารือถึงแนวทางดำเนินการ การคัดเลือกเทคโนโลยี รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เบื้องต้นก็อาจจะเป็นรูปแบบรัฐร่วมทุนกับเอกชนหรือ PPP "นายคณิศกล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุม กบอ. รับทราบ การยกระดับบริการด้านยีนบำบัด (Gene theapy) สำหรับโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยในคนไทยและมีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลต่อเนื่อง เป็นภาระของผู้ปกครอง ครอบครัว และประเทศ ปัจจุบันมีโอกาสรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ด้วยยีนบำบัด แต่ยังอยู่ในระยะวิจัยทางคลินิกและคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
เพื่อให้การใช้เทคโนโลยี ยีนบำบัดโรคธาลัสซีเมียมีต้นทุนที่เหมาะสม และประชาชนไทยสามารถเข้าถึงได้ สกพอ. มีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตยีนบำบัดในไทย และจะเตรียมพื้นที่สำหรับบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ผลิตอีกด้วย โดยสำหรับภาคเอกชนนั้น BGI Research แสดงความสนใจที่จะมาดำเนินการวิจัยทางคลินิกสำหรับผลิตภัณฑ์ยีนบำบัดเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย ซึ่ง สกพอ. จะได้ช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายคณิศกล่าวว่า ที่ประชุม กบอ. รับทราบ การพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) หรือ “โดรน” ในพื้นที่อีอีซี โดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดการใช้ประโยชน์ครบมิติ อาทิ ด้านการเกษตร การถ่ายภาพ การขนส่งสินค้าและคน การสำรวจความปลอดภัย อีกทั้งจะขยายศักยภาพต่อยอดในด้านอื่นๆ โดยประเทศไทย คาดว่าจะมีการใช้โดรนมากถึง 700,000 ลำ ในเวลา 5 ปี และกว่า 80% จะใช้งานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะสร้างประโยชน์ และพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตามแนวคิดการสร้างเมืองการบิน (Aerotropolis) เชื่อมโยงระบบคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานหลัก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขนส่ง ลดต้นทุน ลดเวลา รวมทั้งต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมการผลิต และการแพทย์ครบวงจร เพื่อยกระดับการให้บริการและร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ New S Curve ในพื้นที่อีอีซี
แนวทางการพัฒนา โดรน ในพื้นที่อีอีซี ประกอบด้วย 5 ด้าน
ได้แก่ 1) จัดการจราจรและบริหารห้วงอากาศ ผลักดันให้เกิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีอีซี ลดขั้นตอนการประสานหลายหน่วยงาน บูรณาการให้เกิดความปลอดภัยทางการบินของประเทศ 2) ฝึกอบรมนักบินโดรน พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมหลักสูตรที่รับรองจากสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) สร้างเครือข่ายนักบินโดรนที่มีคุณภาพ เกิดการจ้างงานและพัฒนาทักษะบุคลากรที่เชี่ยวชาญ 3) ให้บริการ และพัฒนาท่าอากาศยานในพื้นที่ สนับสนุนการให้บริการเชิงพาณิชย์อื่น ๆ ร่วมกับภาคเอกชน เช่น ขนส่งสินค้า ขนส่งคน พัฒนาท่าอากาศยานโดรน รองรับการขนส่งคนในอนาคต 4) ผลิต ซ่อมบำรุง และตรวจสอบมาตรฐาน พัฒนาสู่ศูนย์กลางบริการอย่างเป็นทางการ ได้รับมาตรฐานของผู้ผลิตรายใหญ่ ที่ต้องการใช้ทักษะขั้นสูงในการผลิต ซ่อมแซม และดัดแปลง 5) ส่งเสริมนวัตกรรม และสร้างนวัตกร ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ พร้อมพัฒนาสนามทดสอบทดลอง เป็นพื้นที่ผ่อนปรนทางกฎหมาย และสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน