“คมนาคม”นัดกทม.ประชุมเคลียร์หนี้สายสีเขียวต่อขยายสายเหนือ "หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” 17 มิ.ย.นี้ เร่งปิดดีลโอนกรรมสิทธิ์ ตามมติครม. ซึ่งยังไม่มี”ชัชชาติ”ร่วมวงหารือ ด้าน”ปลัดคมนาคม”ชี้ให้ความเห็น ต่อสัมปทานในฐานะกำกับดูแลโครงข่ายระบบราง ยึดหลักประชาชนต้องได้ประโยชน์
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือถึงปลัดกรุงเทพมหานคร
(กทม.) เชิญประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 2/2565 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2565
เวลา 13.30 น. ณ กระทรวงคมนาคม เพื่อหารือแนวทางการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
โดยมีรายงานข่าวระบุว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ไม่มีกำหนดเข้าร่วมประชุมในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ แต่อย่างใดเนื่องจาก เป็นการประชุมในระดับคณะทำงานร่วมฯ ที่มีปลัดฯ ของคมนาคมและกทม.เป็นประธานร่วมฯ
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะทำงานร่วมฯ เปิดเผยว่า การโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามมติครม. ปี 2561ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินรถ โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)โอนโครงสร้างที่เป็นทรัพย์สินพร้อมหนี้สินไปให้กทม.ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีการหารือร่วมกันมาโดยตลอด ล่าสุดในการประชุมเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 มีการหารือในกรอบการโอนกรรมสิทธิ์รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จบแล้ว โดยประเด็นเรื่องโครงสร้างสะพานเหล็ก ที่รื้อจากแยกรัชโยธินและแยกเกษตร
นั้น กทม.รับที่จะนำไปติดตั้งเองดังนั้นประเด็นต่างๆ ในส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์สายสีเขียวเหนือ ถือว่าจบแล้ว ซึ่งในการประชุมวันที่ 17 มิ.ย. นี้ จะเป็นการสรุปให้เป็นที่ชัดเจนตามขั้นตอน
ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคม ขอข้อมูลจากกทม. ในกรณีที่จะมีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวนั้น เป็นเรื่องการทำความเห็นประกอบการการเสนอครม. ซึ่งกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้กำกับระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยมีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการระบบรางของประเทศทั้งหมด ซึ่งจะต้องทำให้ประชาชนใช้บริการระบบรางและเดินทางได้สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล ดังนั้น จึงมีหน้าที่ให้ความเห็นให้เป็นไปตามนโยบายและหน้าที่ ในฐานะหน่วยกำกับดูแล และไม่ให้มีการเอาเปรียบประชาชน
“เรื่องนี้เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย มีการเสนอครม. เรื่องต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เลขาฯครม.จึงได้มีการสอบถามความเห็น มาที่กระทรวงคมนาคม กระทรวงฯจึงต้องมีการดูข้อมูลเพื่อให้ความเห็นประกอบการเสนอครม.”
ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือรถไฟฟ้า 1 สาย ในโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนตามแผนแม่บท ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้า มีความสะดวกและทำให้ประชาชน หันมาใช้ขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว ดังนั้น หากระบบขนส่งมวลชนเส้นทางใด เกิดมีปัญหา
ก็อาจทำให้ระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้
ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เป้าหมายของกระทรวงคมนาคม คือทำให้การเดินทางเชื่อมต่อ และทำให้มีระบบตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วมที่ประชาชนจ่ายในราคาประหยัดสามารถเดินทางจากต้นทางถึงปลายทางได้ ซึ่งต้องยอมรับว่า สัญญารถไฟฟ้าที่ให้บริการในปัจจุบัน เกิดก่อนกรมการขนส่งทางรางดังนั้นก็จะต้องรอให้สัญญาเดิมหมดก่อนจึงจะปรับปรุงเรื่องระบบค่าโดยสารร่วม ที่เป็นรูปธรรม และเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปที่ดี เพราะทุกฝ่ายตั้งใจทำเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ในการหารือคณะทำงานร่วมฯ การโอนกรรมสิทธิ์สายสีเขียวนั้น หากเป็นไปได้ จะถือโอกาส หารือในประเด็นที่คมนาคมมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับความเห็นประกอบการเสนอครม.เรื่องการต่อสัมปทานด้วย ว่าทางกทม.จะชี้แจง หรือมีข้อมูลอย่างไรบ้าง หรือมีประเด็นไหนที่ยังไม่ชัดเจน
“ปัญหาเรื่องหนี้ค่าก่อสร้างโครงสร้างที่เป็นหนี้ของรัฐ ก็โอนไปตามมติครม. ไม่น่ามีประเด็นแล้ว แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่ หนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย และการเปิดเดินรถโดยไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ซึ่งทำให้วงเงินหนี้ระหว่างกทม.และเอกชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงหนี้ค่าติดตั้งระบบส่วนต่อขยายเป็นปัญหาใหญ่ที่กทม.ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งอยู่ที่นโยบายของทางกทม.ไม่เกี่ยวกับคมนาคม”