อีสท์ วอเตอร์ มอบเงินสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสนับสนุนการกำจัดผักตบชวาของโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา มีการกำจัดผักตบชวาไปแล้วกว่า 40,000 ตัน ร่วมแรงร่วมใจทำแม่น้ำบางปะกงไร้ผักตบชวา
บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ มอบเงินสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสนับสนุนการกำจัดผักตบชวาของโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา โดยมีนายนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยนายธีระพล สุ่มมาตย์ นายอำเภอคลองเขื่อน นายธานินทร์ เนื่องทศเทศ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา นายรณชัย ศรีรอดบาง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนบางปะกง และนายจิตรกร เผด็จศึก ประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมรับมอบ
อีสท์ วอเตอร์มีความตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในจังหวัดฉะเชิงทราต่อปัญหาผักตบชวา และมิได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว อีสท์ วอเตอร์ ในฐานะผู้ใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งได้รับคำแนะนำอย่างดียิ่งจากโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา
ด้านนายธานินทร์ เนื่องทศเทศ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า กรมชลประทานเริ่มดำเนินการจัดเก็บวัชพืชในลำน้ำบางปะกงตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สำนักเครื่องจักรกลกรมชลประทานส่งเครื่องจักรเข้ามาดำเนินการรวม 12 ชุด ปัจจุบัน ปฏิบัติงานที่เขื่อนบางปะกง 9 ชุด และจุดสกัดใต้สะพานบางแตน 3 ชุด โดยโครงการชลประทานฉะเชิงเทราและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนบางปะกงเป็นตัวกลางในการประสานงานกับทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งกรมชลประทานได้ประมาณการปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำบางปะกงมีประมาณ 50,000 ตัน ดำเนินการจัดเก็บไปแล้ว 40,000 ตัน เหลืออีกประมาณ 10,000 ตันที่ยังลอยอยู่ในลำน้ำตามกระแสน้ำขึ้นน้ำลงช่วงเหนือเขื่อนบางปะกงถึงสะพานบางแตน ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร โดยมีการใช้ทุ่นดักผักตบชวาด้วยความร่วมมือของราษฎรที่ได้รับผลกระทบในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว และอำเภอบ้านสร้างที่มาร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้กรมชลประทานทำการจัดเก็บในเวลาน้ำลง
“สำหรับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก อีสท์ วอเตอร์ที่มอบให้จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น โครงการชลประทานฉะเชิงเทราได้ส่งมอบให้จังหวัดฉะเชิงเทรานำไปใช้ในการทำทุ่นดักผักตบชวาแบบ DIY และดูแลราษฎรจิตอาสาที่มาช่วยเหลือกัน ตลอดจนใช้ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ในส่วนของกรมชลประทานยังมีงบประมาณเพียงพอสำหรับงานด้านเครื่องจักรกล ดังนั้น เมื่อได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยก็คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการอีกประมาณหนึ่งเดือน การกัดจัดวัชพืชทางน้ำหรือผักตบชวานี้ก็น่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี” นายธานินทร์กล่าว