จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและทำให้การขนส่งทางอากาศซบเซาอย่างหนักโดยเฉพาะในปี 2564 ที่ประเทศไทยมีปริมาณการเดินทางจำนวนนักท่องเที่ยวตกต่ำที่สุดนั้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้รายงานสภาวะอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยปี 2564 ว่าภาพรวมจำนวนผู้โดยสาร 20.92 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนหน้า 64.1% โดยมีผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1.59 ล้านคน หรือลดลงไปมากถึง 90.2% ผู้โดยสารภายในประเทศมี 19.33 ล้านคน ลดลง 54.0% ในส่วนของปริมาณเที่ยวบินมีทั้งหมด 257,948 เที่ยวบิน ลดลง 48.5% โดยมีเที่ยวบินระหว่างประเทศ 71,484 เที่ยวบิน ลดลง 46.6% ส่วนภายในประเทศมี 186,464 เที่ยวบิน ลดลง 49.1%
ซึ่งผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ลดลงเป็นผลมาจากมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยในช่วงปลายปี 2564 ได้มีนโยบายการเปิดประเทศ ส่งผลให้มีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มในช่วงนั้น
ในขณะที่การขนส่งสินค้าทางอากาศได้รับผลกระทบน้อยกว่าการขนส่งผู้โดยสารเนื่องจากความต้องการในการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศไทย โดยมีปริมาณสินค้ารวม 1,161,929 ตัน เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 21.7% โดยเป็นสินค้าระหว่างประเทศถึง 1,141,452 ตัน เพิ่มขึ้น 23.8% ส่วนในประเทศมีจำนวน 20,476 ตัน ลดลง 36.40%
ซึ่งการลดลงของปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศเป็นผลจากการลดลงของเที่ยวบินที่ให้บริการ ส่งผลให้ผู้ให้บริการเลือกใช้การขนส่งในรูปแบบอื่นแทน อย่างไรก็ตาม พบว่าปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางอากาศยังมีความต้องการอยู่เป็นจำนวนมากในตลาดโลกและมีข้อจำกัดในการทำการบินน้อยกว่าการขนส่งผู้โดยสาร ดังนั้นจึงสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการขนส่งผู้โดยสาร
ทั้งนี้ จากสถิติจำนวนผู้โดยสารทั่วประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) พบว่าในสถานการณ์ปกติปี 2555-2562 จำนวนผู้โดยสารมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate : CAGR) อยู่ที่ 10.24% ต่อปี แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศเติบโตเฉลี่ย 9.43% ต่อปี และผู้โดยสารภายในประเทศเติบโตเฉลี่ย 11.23% ต่อปี
ส่วนสถิติการเติบโตของปริมาณเที่ยวบินช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) พบว่าในปี 2555-2562 เที่ยวบินมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 8.75% ต่อปี โดยแบ่งเป็นการเติบโตของเที่ยวบินระหว่างประเทศ 8.73% ต่อปี และเที่ยวบินภายในประเทศ 8.78% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ต่อเนื่องปี 2564 ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศส่งผลให้มีปริมาณเที่ยวบินลดลง โดยในช่วงไตรมาสที่ 3-4 รัฐบาลได้เริ่มดำเนินมาตรการเปิดประเทศและในแต่ละจังหวัดลดมาตรการจำกัดการเดินทาง อีกทั้งนโยบายการเปิดประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลกทำให้เที่ยวบินระหว่างประเทศและเที่ยวบินภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565
ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) พบว่าการเติบโตมีความผันผวน โดยในสถานการณ์ปกติปี 2555-2562 มีอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งสินค้าเฉลี่ย (CAGR) 0.24% ต่อปี
@เผยผู้ประกอบการ 42 รายกัดฟันสู้อีก 6 รายไม่ไหว...ต้องปิดตัว
ในปี 2564 มีจำนวนผู้มีใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน (AOL) จำนวน 42 ราย ลดลงจากปี 2563 จำนวน 6 ราย เนื่องจากปิดกิจการ ได้แก่ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด บริษัทสกายวิวแอร์เวย์ จำกัด บริษัท เจ็ทเอเชียแอร์เวย์ จำกัด บริษัท ซิตี้แอร์เวย์ จำกัด และบริษัท กานต์นิธิเอวิเอชั่น จำกัด โดยทั้ง 42 รายมีการประกอบการในปี 2564 จำนวน 32 ราย อีก 10 รายไม่ประกอบการ ประกอบด้วย
1. การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำมีกำหนดและแบบไม่ประจำมีทั้งหมด 14 ราย โดยมีผู้ที่ยังประกอบการจำนวน 9 ราย ไม่ประกอบการจำนวน 5 ราย
2. การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบไม่ประจำมีทั้งหมด 20 ราย โดยมีผู้ที่ยังประกอบการจำนวน 17 ราย ไม่ประกอบการจำนวน 3 ราย
3. การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบการทำงานทางอากาศมีทั้งหมด 8 ราย โดยมีผู้ที่ยังประกอบการจำนวน 6 ราย ไม่ประกอบการจำนวน 2 ราย
โดยผู้ประกอบการที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) ในปี 2564 มีทั้งหมด 25 ราย โดยแบ่งออกเป็น 1. ผู้ประกอบการที่ได้ AOC ให้บริการในเส้นทางระหว่างประเทศและภายในประเทศจำนวน 22 ราย แบ่งเป็นการให้บริการโดยอากาศยานปีกแข็ง 17 ราย และเฮลิคอปเตอร์ 5 ราย
2. ผู้ประกอบการที่ได้รับได้ AOC ให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ 3 ราย แบ่งออกเป็นอากาศยานปีกแข็ง 2 ราย และบอลลูน 1 ราย
@เปิดประเทศ “สายการบิน” แห่เพิ่มไฟลต์ชิงส่วนแบ่งตลาด
ตั้งแต่ต้นปี 2565 อุตฯ การบินเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว โดยภาครัฐมีการผ่อนคลายเงื่อนไขมาตรการการเดินทางเป็นลำดับสายการบิน ประกาศกลับมาเปิดทำการบินในเส้นทางต่างๆ ทั้งภายในประเทศระหว่างประเทศกันอย่างคึกคักเพื่อหวังดึงส่วนแบ่งการตลาดของตนเองกลับคืนและสร้างโอกาสในธุรกิจการบินหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิดภายใต้การบริการในรูปแบบใหม่ New Normal
โดยสถิติจำนวนผู้โดยสารของสนามบินขนาดใหญ่ 11 แห่ง (สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, เชียงราย, หาดใหญ่, อุบลราชธานี, อุดรธานี, นครศรีธรรมราช, อู่ตะเภา, สมุย) ในปี 2565 (ณ ปัจจุบัน) มีจำนวนเฉลี่ย 102,372คน/วัน ถือว่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวนเฉลี่ย 45,808 คน/วัน ขณะที่หากย้อนไปในปี 2562 ก่อนเกิดโควิดจำนวนผู้โดยสารทุกสนามบินมีเฉลี่ย 169,844 คน/วัน
@ไตรมาส 1/65 “ผู้โดยสาร-เที่ยวบิน” รีเทิร์นกราฟเริ่มเชิดหัว
สำหรับสถิติการขนส่งทางอากาศไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2565 ในภาพรวมมีผู้โดยสารทั้งสิ้น 11.26 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.50 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 28.6% เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาโดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารภายในประเทศจำนวน 1.85 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 23.4% และการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารระหว่างประเทศจำนวน 655,558 คน หรือเพิ่มขึ้น 76.0%
- เดือนมกราคมมีผู้จำนวนโดยสาร 3.74 ล้านคน (ภายในประเทศ 3.28 ล้านคน ระหว่างประเทศ 0.46 ล้านคน)
- เดือนกุมภาพันธ์มีจำนวนผู้โดยสาร 3.40 ล้านคน (ภายในประเทศ 2.98 ล้านคน ระหว่างประเทศ 0.42 ล้านคน)
- เดือนมีนาคมมีจำนวนผู้โดยสาร 4.12 ล้านคน (ภายในประเทศ 3.48 ล้านคน ระหว่างประเทศ 0.64 ล้านคน)
ส่วนปริมาณเที่ยวบินในไตรมาสที่ 1 มีจำนวนทั้งสิ้น 108,987 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 21,277 เที่ยวบินหรือเพิ่มขึ้น 24.3% เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินภายในประเทศจำนวน 17,652 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 26.8% และการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินระหว่างประเทศจำนวน 3,625 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 16.7%
- เดือนมกราคมมีปริมาณ 37,800 เที่ยวบิน (ภายในประเทศ 29,400 เที่ยวบิน ระหว่างประเทศ 8,400 เที่ยวบิน)
- เดือนกุมภาพันธ์มีปริมาณเที่ยวบิน 33,200 เที่ยวบิน (ภายในประเทศ 25,600 เที่ยวบิน ระหว่างประเทศ 7,600 เที่ยวบิน)
- เดือนมีนาคมมีปริมาณ 38,100 เที่ยวบิน (ภายในประเทศ 28,700 เที่ยวบิน ระหว่างประเทศ 9,400 เที่ยวบิน)
สาหรับภาพรวมปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศในไตรมาสที่ 1 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 317,970 ตัน เพิ่มขึ้น 2,999 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.0% เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศจำนวน 1,993 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 29.7% และการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศจำนวน 1,006 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 0.3%
- เดือนมกราคมมีปริมาณสินค้า 102,870 ตัน (ภายในประเทศ 99,970 ตัน ระหว่างประเทศ 2,900 ตัน)
- เดือนกุมภาพันธ์มีปริมาณสินค้า 94,880 ตัน (ภายในประเทศ 92,000 ตัน ระหว่างประเทศ 2,880 ตัน)
- เดือนมีนาคมมีปริมาณสินค้า 120,210 ตัน (ภายในประเทศ 117,290 ตัน ระหว่างประเทศ 2,920 ตัน)
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2565 รัฐบาลมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่ เปิดลงทะเบียน Test and go แบบไม่มีการกักตัวแต่มีสถานการณ์รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ส่งผลให้สายการบินสัญชาติรัสเซียยกเลิกเที่ยวบินมายังประเทศไทย ได้แก่ สายการบิน Aeroflot (ทำการบินมายังกรุงเทพฯ และภูเก็ต) สายการบิน Siberia (ทำการบินมายังกรุงเทพฯ กระบี่ และภูเก็ต) สายการบิน Ural (ทำการบินมายังภูเก็ต)
โดยในเดือนมกราคม 2565 นั้นพบว่ามีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้ามายังประเทศไทยถึง 18% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด
นอกจากนี้ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินในแง่ราคาเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet Fuel) ที่ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 โดย ศบค.ประกาศยกเลิกการตรวจคัดกรองโควิด Test and Go เหลือเพียงการตรวจ ATK ผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มจำนวนผู้โดยสาร
และล่าสุดจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 พบว่าจำนวนผู้โดยสารรวมทุกสนามบินมีจำนวน 99,068 คน/วัน วันที่ 2 มิถุนายน จำนวน 111,939 คน/วัน วันที่ 3 มิถุนายน จำนวน 116,322 คน/วัน ล่าสุด วันที่ 10 มิถุนายน จำนวน 118,706 คน/วัน
@สุวรรณภูมิคาด “ไฮซีซัน” ต.ค.นี้ผู้โดยสารพุ่ง 1 แสนคน/วัน
หากดูเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นพบว่าจำนวนผู้โดยสารมีการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญ จากค่าเฉลี่ยปี 2563 ที่ 18,326 คน/วัน ปี 2564 เฉลี่ย 11,893 คน/วัน มาอยู่ที่ระดับ 70,000 คน/วันในปัจจุบัน โดยทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.คาดการณ์ว่าในช่วงฤดูท่องเที่ยว ( High Season) ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 ผู้โดยสารจะพุ่งสู่ระดับ 1 แสนคน/วัน
@กบร.ไฟเขียว "โรดแมป" ฟื้นฟูอุตฯ การบิน มั่นใจปี 68 กลับคืนปกติ
วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 4/2565 ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานมีมติรับร่าง Roadmap แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 2565-2568 ภายใต้กรอบแนวคิดและแผนปฏิบัติที่มุ่งเน้นให้อุตฯ การบินสามารถ “อยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืน” ซึ่งจะเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างมากต่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินและเศรษฐกิจของไทย ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืนสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
โดย กพท.ได้ประมาณการฟื้นตัวของผู้โดยสาร ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ว่าภายในปี 2565 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 22 ล้านคน และจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการด้านการบินอาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นจากที่คาดการณ์ปี 2568
คาดปี 2568 ว่าผู้โดยสารจะกลับมาเท่ากับปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) มีจำนวนผู้โดยสาร 165 ล้านคน (ภายในประเทศ 76 ล้านคน ระหว่างประเทศ 89 ล้านคน) มีจำนวนเที่ยวบิน 1.07 ล้านเที่ยวบิน (ภายในประเทศ 0.55 ล้านเที่ยวบิน ระหว่างประเทศ 0.52 ล้านเที่ยวบิน)
ซึ่งในปี 2565 มีเป้าหมายระยะ Quick-win ตามมาตรการ “อยู่รอด” คืออุตสาหกรรมการบินมีความพร้อมสำหรับการเปิดทำการบินอย่างเต็มรูปแบบ ปี 2566-2568 เป็นเป้าหมายระยะกลาง “เข้มแข็ง และยั่งยืน”
@กพท.ปลุก "ทีมไทยแลนด์" แก้ปัญหา Operation ดันฮับการบินยั่งยืน
“สุทธิพงษ์ คงพูล” ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า การฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ทุกภาคส่วนจะต้องมีความพร้อม ซึ่งตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 กพท.ได้ระดมสมองผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาทำแผนแก้ปัญหา โดยมีการร่วมมือเป็นเครือข่ายร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ซึ่ง กพท.ร่วมกับสมาคมสายการบินสัญชาติไทย และมี บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม
ก้าวแรกคือ ต้องอยู่รอดให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ก่อน จากนั้นจะเป็นมาตรการเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็ง
เรื่องสำคัญคือ การปรับปรุงด้าน Operation ซึ่งทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม เพราะแต่ละนาทีที่เที่ยวบินดีเลย์นั่นคือค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตัวอย่างในปี 2562 กรณีที่เครื่องบินต้องบินวน 1 ชั่วโมงรอลงจอดที่ “สุวรรณภูมิ” แต่ลงจอดไม่ได้ต้องบินไปลงจอดที่เชียงใหม่ก่อนจากนั้นถึงจะบินกลับมา "สุวรรณภูมิ" ได้ กรณีนี้สายการบินมีค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มกว่า 1 ล้านบาทในเที่ยวบินนั้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการกำหนดเส้นทางบินการจัด slot เข้าออกสนามบิน ฯลฯ ที่เกี่ยวโยงกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้น กพท.ต้องประสานกับทุกส่วนทั้งสายการบิน ผู้ให้บริการสนามบินวิทยุการบินฯ ให้ครบทุกมิติ เพราะหากมองว่าธุรกิจจะอยู่รอดสายการบินสนามบินผู้ให้บริการทั้งหมดต้องก้าวเดินไปด้วยกัน
หาก Operation มีประสิทธิภาพทั้งภาคพื้นดินและการบริหารห้วงอากาศแล้วทำให้สายการบินเซฟเวลาได้ 1 นาทีในทุกเที่ยวบินก็ช่วยสายการบินประหยัดได้ 10-20 ล้านบาท/ปี โดยที่รัฐไม่ต้องเข้าไปช่วยอะไรแค่ทำระบบ Operation ให้ดี ถึงเวลาแล้วที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันโดยยึดเป้าหมายของประเทศ วันนี้จึงเป็นโอกาสที่อุตฯ การบินของประเทศไทยฟื้นตัวแต่ต้องเร่งแก้ปัญหาที่เคยมีก่อนหน้านี้ให้หมดไป
“การกลับมาของจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารไม่ได้แปลว่าอุตฯ การบินของไทยจะฟื้นตัวแล้วยั่งยืนได้หากการจัดการด้านต่างๆ ยังไม่ดีพอสายการบินยังมีต้นทุนสูง ดังนั้น ไม่ว่าสายการบินจะเพิ่มเที่ยวบินมากแค่ไหน แต่หากผลตอบแทนหรือ Yield ไม่ดีกำไรไม่มีเพราะเงินหมดไปกับการจ่ายค่าน้ำมันค่าเสียเวลาสุดท้ายสายการบินก็ไม่บินเข้ามา บินเยอะแต่เหนื่อยเปล่า รายได้-กำไรไม่มี...คงเลือกไปประเทศอื่น ที่มีการบริหารจัดการดีช่วยลดค่าใช้จ่ายได้”
ภาพเหตุการณ์ผู้โดยสารจำนวนมากต่อคิวออกบัตรโดยสารที่เคาน์เตอร์สายการบินไทย “สุวรรณภูมิ” เมื่อเช้าวันที่ 3 มิถุนายน 2565 น่าจะเป็นคำตอบชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้ไทยพร้อมฟื้นอุตฯ การบินจริงหรือ...?