รฟท.ปักธงขยายตลาดขนส่งสินค้า ดึงชิฟต์โหมดจากถนนสู่ราง ตั้งเป้าปี 65 ขนสินค้า 12 ตัน รายได้ 2 พันล้านบาท เผยยอมแบกขาดทุน คิดต้นทุนน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร ตรึงค่าขนส่งช่วยผู้ประกอบการ 3 เดือน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท.ได้ดำเนินการตลาดเชิงรุก เพื่อเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรางสนองนโยบายรัฐที่ได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางราง ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่จะทำให้มีความจุทางเพิ่มมากขึ้น รฟท.จึงต้องบริหารให้เกิดศักยภาพและความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยปี 2565 มีเป้าหมายรายได้ที่ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท มีปริมาณสินค้าประมาณ 12 ล้านตัน จากปี 2564 ที่มีปริมาณสินค้าที่ 11.3 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2% โดยช่วง ไตรมาส 1-2 ปี 2565 ขนส่งสินค้าไปแล้วประมาณ 8.7-8.8 ล้านตัน ซึ่งประเมินว่าช่วงครึ่งปีหลังปริมาณการขนส่งจะเป็นไปตามเป้าหมาย
ส่วนปี 2566 คาดว่าการขนส่งสินค้าจะอยู่ที่ประมาณ 12.5 ล้านตัน เติบโตเฉลี่ย 2% จากปี 2565
ขณะที่การขนส่งจะมี 2 รูปแบบ คือ แบบเหมาขบวน มีผู้ประกอบการกว่า 10 ราย โดยจะทำสัญญากับ รฟท.เพื่อจอง Slot ส่วนปริมาณแคร่ที่มีรองรับกลุ่มนี้ค่อนข้างตึงตัว ใช้สัดส่วนแคร่สินค้าประมาณ 60% กับลูกค้าแบบขนส่งรายย่อยทั่วๆ ไป มีกว่า 50 ราย ใช้สัดส่วนแคร่สินค้าประมาณ 40% และยังมีผู้ประกอบการใหม่ประมาณ 5-10 รายที่สนใจขนส่งสินค้าทางรถไฟแบบเหมาขบวน
ทั้งนี้ รฟท.มีโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า (บทต.) ใช้งานประมาณ 1,000 คันมีความจำเป็นต้องจัดหาแคร่สินค้าเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ได้เสนอแผนจัดหาแคร่จำนวน 965 คัน กรอบวงเงิน 2.3 พันล้านบาท (ประมาณ 2-3 ล้านบาท/คัน) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมในรูปแบบการจัดหาที่เหมาะสมระหว่างการซื้อหรือการเช่า รวมถึงหาโมเดลการจัดหาอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การจ้างเหมาบริการ ทั้งนี้เพื่อให้มีความเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุดในภาวะปัจจุบัน
นอกจากนี้ เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จจะทำให้การบริหารจัดการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วตรงเวลา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจหันมาใช้รถไฟในการขนส่งสินค้าเพิ่ม
“ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารกับขนส่งสินค้าอยู่ที่ 70:30 ซึ่ง รฟท.มุ่งเน้นบริการเชิงสังคมตอบสนองนโยบายรัฐ และบริการประชาชน จึงไม่ได้มุ่งที่กำไรเป็นหลัก วันนี้จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนในการพยายามดึงสินค้าจากถนนให้เปลี่ยนมาขนส่งทางรางก่อน ดังนั้น แม้จะมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มในช่วงแรก แต่อาจจะยังไม่มีกำไรเพิ่มมากนัก แต่เชื่อว่าเมื่อมีการขนส่งทางรางปริมาณมากขึ้นในอนาคต รายได้และกำไรจะเพิ่มขึ้นตามไป”
@แบกขาดทุน สนองนโยบาย คิดต้นทุนราคาน้ำมัน 30 บาท/ลิตร ตรึงค่าขนส่งสินค้าช่วยผู้ประกอบการ 3 เดือน
รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งว่า ในการบริการขนส่งสินค้า รฟท.จะเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ประกอบการ 2 ส่วน คือ ค่าระวาง ซึ่งเก็บตามอัตราที่ รฟท.ประกาศใช้ โดยคิดตามระยะทางและน้ำหนัก (จะมีส่วนลดให้แก่ลูกค้าขนส่งแบบเหมาขบวน เนื่องจากมีความแน่นอนในการขนส่ง) และอีกส่วนเป็นอัตราค่าธรรมเนียมการใช้น้ำมัน ซึ่งจะปรับขึ้นลงตามราคาน้ำมัน และจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน รฟท.ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการตามนโยบายกระทรวงคมนาคม โดยคิดอัตราค่าธรรมเนียมน้ำมันตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค. 2565
สำหรับต้นทุนการขนส่งสินค้าในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น หากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นทุก 1 บาท/ลิตร รฟท.จะมีภาระต้นทุนเพิ่มประมาณ 2 ล้านบาท/เดือน ซึ่งการตรึงต้นทุน 30 บาท/ลิตร เท่ากับมีส่วนต่างประมาณ 3 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ หากครบระยะเวลา 3 เดือนในการตรึงราคาน้ำมันที่ 30 บาท/ลิตร รฟท.จะพิจารณาประมาณการค่าใช้จ่ายอีกครั้ง ว่ามีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานทำให้ขาดทุนเพิ่มแค่ไหน และอยู่ที่การพิจารณาของฝ่ายนโยบายด้วยว่าจะยังคงให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไปหรือไม่ รวมถึงภาครัฐจะมีมาตรการช่วย รฟท.หรือไม่อย่างไร