xs
xsm
sm
md
lg

"กรมน้ำบาดาล" ลุยเจาะน้ำบาดาลลึก 1,000 เมตรใกล้ปากอ่าวไทยสมุทรสาคร แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทยและอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร จึงทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการแปรรูปอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อุตสาหกรรมห้องเย็น อุตสาหกรรมเคมี โดยมีโรงงานทั้งสิ้นกว่า 6,295 แห่ง มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) สูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม ผลการประเมินการใช้น้ำจังหวัดสมุทรสาครรวม 385 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ความสามารถจัดหาน้ำรวมทั้งสิ้น 290 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ยังมีความต้องการใช้น้ำอีกเกือบ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีที่ยังขาดแคลนอยู่ สำหรับการจัดหาน้ำบาดาลมีปริมาณน้ำจัดหารวมทั้งสิ้น 81 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แบ่งเป็น ภาคครัวเรือน 22 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ภาคเกษตรกรรม 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และภาคอุตสาหกรรม 29 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จากการตรวจสอบใบอนุญาตคำขออนุญาตใช้น้ำบาดาล พบว่ามีการใช้น้ำบาดาล 113,104 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้น้ำบาดาลที่ระดับความลึกระหว่าง 200-400 เมตร และมีแนวโน้มที่จะใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นในอนาคต

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวว่า ได้มอบหมายให้นักวิชาการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อค้นหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่คุณภาพน้ำดี ณ วัดสหกรณ์โฆสิตาราม ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยพัฒนานวัตกรรมด้านการเจาะน้ำบาดาลระดับลึกในตะกอนกรวดทราย โดยใช้เทคนิคทดสอบปริมาณน้ำและเก็บตัวอย่างน้ำบาดาล พร้อมผนึกข้างบ่อด้วยซีเมนต์เพื่อป้องกันน้ำเค็มไหลลงไปผสมกับน้ำบาดาลจืด จากผลการตรวจสอบชั้นน้ำบาดาล โดยใช้ข้อมูลธรณีวิทยาหลุมเจาะ และข้อมูลธรณีฟิสิกส์หลุมเจาะ พบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ในแอ่งย่อยธนบุรี ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 640 ถึง 1,008 เมตร จำนวน 5 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นตะกอนกรวดทรายแทรกสลับกับชั้นดินเหนียวบางๆ แบ่งออกเป็น ชั้นที่ 1 ความลึก 640 ถึง 705 เมตร ชั้นที่ 2 ความลึก 715 ถึง 785 เมตร ชั้นที่ 3 ความลึก 810 ถึง 880 เมตร ชั้นที่ 4 ความลึก 895 ถึง 935 เมตร และชั้นที่ 5 ความลึกมากกว่า 950 เมตร สามารถแบ่งออกจากชั้นน้ำบาดาลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน เนื่องจากถูกปิดทับด้วยชั้นดินเหนียวหนากว่า 140 เมตร ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 500 ถึง 640 เมตร จึงเป็นโอกาสที่ดีในการปรับปรุงข้อมูลชั้นน้ำบาดาลที่สำคัญของประเทศไทยในรอบ 30 ปี ที่แต่เดิมมีข้อมูลชั้นน้ำบาดาลในเขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 8 ชั้น ที่ระดับความลึกไม่เกิน 600 เมตร ได้แก่ ชั้นน้ำกรุงเทพฯ ความลึกประมาณ 50 เมตร ชั้นน้ำพระประแดง ความลึกประมาณ 100 เมตร ชั้นน้ำนครหลวง ความลึกประมาณ 150 เมตร ชั้นน้ำนนทบุรี ความลึกประมาณ 200 เมตร ชั้นน้ำสามโคก ความลึกประมาณ 300 เมตร ชั้นน้ำพญาไท ความลึกประมาณ 350 เมตร ชั้นน้ำธนบุรี ความลึกประมาณ 450 เมตร และชั้นน้ำปากน้ำ ความลึกประมาณ 550 เมตร

นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวเสริมว่า จากการเปรียบเทียบกับข้อมูลคลื่นไหวสะเทือน และการสะสมตัวของตะกอนพบว่า แอ่งย่อยธนบุรีรองรับด้วยหินควอร์ตไซต์ ที่เริ่มแยกตัวในช่วงประมาณ 30 ล้านปีก่อน ถึงประมาณ 5 ล้านปีก่อน ในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทำให้เกิดแอ่งสะสมตัวของตะกอน สภาพแวดล้อมโดยรวมเป็นการตกสะสมตัวของตะกอนน้ำพาที่มีการขึ้นลงของระดับน้ำทะเลตลอดเวลา ซึ่งการรุกล้ำของน้ำทะเลทำให้สภาพแวดล้อมบนบกเปลี่ยนแปลงไป เช่น สภาพแวดล้อมแบบที่ราบตะกอนน้ำพา (23 ล้านปีก่อน) การตกสะสมตัวของตะกอนทางน้ำ (16 ล้านปีก่อน) และการตกสะสมตัวของธารน้ำปัจจุบันในยุคเมื่อประมาณ 2 ล้านปี ทำให้เกิดเป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาล และคาดว่าจะมีน้ำบาดาลสะสมตัวอยู่ในปริมาณมหาศาล

“การค้นพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ระดับลึกกว่า 1,000 เมตรในครั้งนี้ จะช่วยให้ประชาชนในตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร กว่า 22,000 คน รวม 10,000 ครัวเรือน มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญจะเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นการผลิตของภาคเอกชน รวมถึงการเพิ่มความมั่นคงทางด้านทรัพยากรน้ำในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายศักดิ์ดากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น