สถานการณ์พลังงานไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นสุดท้าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวรวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของภาครัฐ ซึ่งการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นในทุกประเภทพลังงาน โดยเฉพาะการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8 จากการใช้ LNG ที่ลดลงในภาคการผลิตไฟฟ้าเพื่อรักษาระดับต้นทุนราคาไฟฟ้าให้เหมาะสมของรัฐบาล สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงไตรมาสแรกของปี 2565 สรุปได้ดังนี้
• การใช้น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 โดยการใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และนโยบายการตรึงราคาให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ของรัฐบาล การใช้น้ำมันเบนซิน ลดลงร้อยละ 5.7 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่อยู่ในระดับสูง สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.7 เป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ การผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า - ออกประเทศ โดยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบแล้วแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ (Test & Go) ส่วนการใช้ น้ำมันเตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ในภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม การใช้ LPG (โพรเพน และบิวเทน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง
• การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลงร้อยละ 3.4 จากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้น
• การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ส่วนใหญ่เป็นการใช้ที่เพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรม และเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
• การใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 โดยเฉพาะในสาขาครัวเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19
สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2565 ซึ่ง สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 - 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ แนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยอนุญาตให้กลุ่มชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้วไม่ต้องกักตัว รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต้นทางนักท่องเที่ยว
ซึ่งความต้องการพลังงานขั้นต้น ปี 2565 นั้น คาดว่าอยู่ที่ระดับ 2,034 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับนโยบายเปิดประเทศของไทยและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้เกิดความไม่แน่นอนของอุปทานในตลาด อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ที่ยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลกที่ยังต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด