โออาร์ เติมเต็มรอยยิ้มให้เกษตรกรไทย รับซื้อมังคุดและสับปะรดปัตตาเวียรวม 100,000 กิโลกรัม มอบให้ผู้ใช้บริการพีทีที สเตชั่น ในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายนนี้ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และนายพีระวัฒน์ วชิโรภาสนันท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการพื้นที่ปันสุข ผ่านกิจกรรมเติมเต็มรอยยิ้มให้เกษตรกรไทยในพีทีที สเตชั่น ซึ่งเป็นการเติมเต็มรอยยิ้มให้ชุมชน และส่งต่อความสุขให้แก่ผู้คนที่มาใช้บริการที่สถานีบริการพีทีที สเตชั่น โดยรับซื้อมังคุดและสับปะรดปัตตาเวีย รวม 100,000 กิโลกรัม จากเกษตรกร นำมาจัดกิจกรรมแจกลูกค้าที่เติมน้ำมันที่สถานีบริการพีทีที สเตชั่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ร่วมรายการ ระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายน 2565 นี้
นายพีระวัฒน์เปิดเผยว่า โออาร์ ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการ พีทีที สเตชั่น เติมเต็มรอยยิ้มให้เกษตรกรไทย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนมังคุด ซึ่งประสบปัญหาจากการชะลอตัวของการรับซื้อผลผลิตและการระบายผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยรับซื้อมังคุดและสับปะรดปัตตาเวีย รวม 100,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2,000,000 บาท จากเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในภาคตะวันออก และผู้ปลูกสับปะรดในภาคเหนือ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรให้กลับมามีรอยยิ้มได้อีกครั้ง แต่ยังเป็นการเติมเต็มรอยยิ้มและส่งต่อความสุขให้ผู้คนที่มาใช้บริการที่พีทีที สเตชั่นอีกด้วย โดยเมื่อเติมน้ำมันชนิดใดก็ได้ครบ 100 บาทขึ้นไปต่อใบเสร็จ ระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายน 2565 รับฟรี มังคุด หรือสับปะรด 1 ถุง ณ สถานีบริการพีทีที สเตชั่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ร่วมรายการ จำนวน 183 สถานี
ทั้งนี้ ตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา โออาร์ดำเนินการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ “พื้นที่ปันสุข” ตั้งแต่การช่วยรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรมามอบให้แก่ลูกค้าพีทีที สเตชั่น เช่น หัวหอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม สับปะรด และมะม่วงแฟนซี เป็นต้น รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งนอกจากจะช่วยระบายสินค้าและสร้างรายได้ให้เกษตรกรแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคที่มาใช้บริการที่พีทีที สเตชั่น ได้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านคนกลางอีกด้วย สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของโออาร์ ที่มุ่งขับเคลื่อนการเติบโตร่วมกันกับชุมชน การกระจายรายได้ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนควบคู่ไปกับดำเนินธุรกิจ พร้อมเติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกันกับทุกภาคส่วน