ดวงอาทิตย์สีเหลืองทองที่เคลื่อนตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าหลังแนวต้นโกงกางใหญ่ แลเห็นฝูงเหยี่ยวแดงกางปีกกว้างบินโฉบถลาลมไปมาในยามเช้า เรือสัญจรลำเล็กของชาวบ้านที่แล่นเข้ามาจอดเทียบท่ายังศาลาริมฝั่งของผู้ใหญ่บ้านอย่างไม่ขาดสาย และเหล่านักท่องเที่ยวจากโฮมสเตย์ใกล้ๆ ที่ตื่นขึ้นมาสัมผัสอากาศช่วงเช้าพร้อมกับชมวิถีชีวิตชุมชน คือภาพบรรยากาศเช้าวันใหม่ของชุมชนริมคลองบางชัน ปากแม่น้ำเวฬุ อ.ขลุง จ.จันทบุรี
คุณกฤตยา โพธิ์เจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี เล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อนสภาพแวดล้อมตรงนี้มีต้นไม้น้อย เพราะชาวบ้านบางส่วนทำนากุ้ง และเชื่อว่าถ้ามีที่โล่งจะทำมาหากินได้ดี พอต้นไม้ลดลง กุ้ง หอย ปู ปลา จากที่เคยเยอะมากๆ ในช่วง 20 ปีก่อนก็น้อยลงไปด้วย แม่น้ำลำคลองก็เน่าเสียมีสารพิษ แต่พอมีการสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาปลูกต้นไม้มากขึ้น ระบบนิเวศก็เริ่มกลับมา ต้นไม้อยู่ได้ คนก็อยู่ได้ อย่างที่เห็นทุกวันนี้ชาวบ้านก็ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิม สุดท้ายคนกับธรรมชาติต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องมีต้นไม้ให้ร่มเงา และให้สัตว์น้ำอยู่อาศัย” ความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ทำให้ปัจจุบันมีโฮมสเตย์เกิดขึ้นแล้วเกือบ 40 หลัง และมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้นั่งเรือล่องแพเปียกชมวิถีชีวิตชุมชน โดยมีเหยี่ยวแดงนับร้อยเป็นเจ้าถิ่นคอยบินต้อนรับ
สภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่เต็มไปด้วยต้นโกงกางใบเล็กและใบใหญ่ รวมถึงพันธุ์ไม้ชายเลนอีกหลากหลายชนิดในเขตป่าสงวนแห่งชาติปากแม่น้ำเวฬุในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการร่วมมือกันระหว่าง กฟผ. กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่ตั้งใจจะพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนแห่งนี้ให้กลับมาเขียวขจีขึ้นใหม่ จากที่เริ่มต้นปลูกป่า 1,000 ไร่ในปี 2558 วันนี้ได้ขยายเป็น 6,540 ไร่ ซึ่งการปลูกป่าของ กฟผ.นี้ไม่ได้ปลูกทิ้งไว้รอการเติบโตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญต่อการบำรุงรักษา โชคดีที่ได้แรงสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่ช่วยเฝ้าดูแลและปลูกซ่อมป่ายามที่ป่าเสียหาย เพื่อให้ต้นไม้นานาพรรณเหล่านี้ได้เติบใหญ่แผ่กิ่งก้านเขียวชอุ่มอยู่คู่ลุ่มแม่น้ำเวฬุต่อไป
“การปลูกป่าชายเลนนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวของป่าแล้ว ยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้จากการรับจ้างบำรุงรักษาป่า เก็บฝักพันธุ์ไม้ป่าชายเลนขึ้นมาขาย เมื่อระบบนิเวศป่าชายเลนสมบูรณ์ขึ้นก็เกิดเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำตัวอ่อนที่เข้ามาอาศัยร่มเงา หาอาหาร ทำให้สัตว์น้ำมีชนิดพันธุ์ที่หลากหลายและมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น ชาวบ้านจึงมีรายได้จากการทำประมงพื้นบ้านมากขึ้นด้วย” คุณประสาร สุวรรณมาศ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (ท่าสอน จันทบุรี) เล่าให้เราฟัง
แสงแดดช่วงบ่ายส่องลงมากระทบผืนน้ำ น้ำทะเลค่อยๆ ขึ้นพอให้เราลัดเลาะไปตามริมคลองเล็กๆ ได้ คุณชูชาติ ฉายแสง เครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ จึงนำเรือลำเล็กคู่ใจเลี้ยวเลาะนำเราไปชมแปลงปลูกป่าชายเลนแปลงต่างๆ พร้อมเล่าว่าก่อนที่จะมีการปลูกป่านั้นตนเองทำอาชีพตัดไม้เผาถ่านขายส่งเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งรายได้ไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อมีป่าชายเลนทุกอย่างก็ดีขึ้น ทั้งได้ร่มเงา สัตว์น้ำมีที่อยู่อาศัยเพาะพันธุ์ เพราะป่าชายเลนแบบนี้คนเข้าไม่ได้ แต่ปูปลาสามารถเข้าไปวางไข่ได้ ทำให้ปัจจุบันชาวประมงมีรายได้อยู่ที่คนละ 500-600 บาทต่อวัน และยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวโฮมสเตย์เพิ่มอีกด้วย
“วันๆ หนึ่งมีอะไรให้ทำหลายอย่าง ทั้งลงอวน ดักลอบ พอได้เวลาหน่อยก็จะตระเวนดูป่า ไปตรวจดูคนงานปลูกป่า เพราะรับจ้างดูแลและบำรุงรักษาป่าด้วย ไปเก็บฝักโกงกาง กล้าไม้ไปขาย มีอะไรให้รับจ้างก็ทำ มีใครมาเรียกให้ข้ามฝั่งก็ไป ส่วนรายได้ก็เยอะกว่าอดีต ตอนนี้ชาวบ้านแฮปปี้ วันๆ ไม่ต้องทำอะไร นั่งคิดเลขกันอย่างเดียว” คุณชูชาติเล่าพลางหัวเราะ และบอกกับเราด้วยว่าอากาศที่นี่ดีขึ้น ถ้าต่อไปป่าทุกที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้ ฝนฟ้าก็จะมาตามฤดูกาล และอีก 10 ปีหลังจากนี้ลูกหลานก็จะได้เห็นว่าการมีป่านั้นดีอย่างไร หากไม่รักษาป่าไว้ ลูกหลานก็จะไม่เห็น
ธรรมชาติที่กลับมาสวยงามและสมบูรณ์ของลุ่มน้ำเวฬุในวันนี้ ทำให้เราได้เห็นทั้งรอยยิ้มของชาวบ้านในพื้นที่ และเสียงหัวเราะที่เต็มไปด้วยความสุขของนักท่องเที่ยว นับเป็นความภาคภูมิใจของ กฟผ.ที่ได้ตั้งใจปลูกป่าและดูแลรักษาป่า เพียงแค่ระยะเวลาไม่กี่ปีก็สามารถพลิกฟื้นผืนป่าแห่งนี้ขึ้นมาได้ จนกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ของประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความเขียวชอุ่มร่มเย็น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในพื้นที่ และเป็นจุดหมายยอดฮิตของคนต่างถิ่นให้ได้มาเยี่ยมเยือน