กทท.เร่งทีโออาร์ระบบสาธารณูปโภคแหลมฉบังเฟส 3 ตั้งเป้าประมูลใน ก.ค.นี้ ราคากลางใหม่พุ่งเกิน 7 พันล้านบาท เหตุเงินเฟ้อ น้ำมัน-เหล็กขยับขึ้น ส่วนงานถมทะเล สร้างเขื่อนสุดอืดผ่าน 1 ปีคืบหน้าไม่ถึง 10% หวั่นกระทบส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม GPC และอาจต้องเลื่อนเปิดบริการ
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้างานโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 กทท.เป็นผู้ดำเนินการเอง มีจำนวน 4 งาน ได้แก่ 1. การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น อยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้าง 2. งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว กทท.อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) คาดว่าเดือน มิ.ย.-ก.ค. นี้จะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาได้
3. งานก่อสร้างระบบรถไฟ และ 4. งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในลำดับต่อไป ภายในปี 2565 นี้
@งานถมทะเลดีเลย์หนัก ผ่าน 1 ปีคืบไม่ถึง10% เสี่ยงส่งมอบพื้นที่สัมปทานไม่ทัน
รายงานข่าวแจ้งว่า กทท.ได้ลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ปจำกัด (ประเทศจีน) วงเงิน 21,320 ล้านบาท เป็นผู้รับจ้าง การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น วงเงิน 21,320 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 ระยะเวลาสัญษ 4 ปี โดยมีการออกหนังสือเริ่มงาน ( NTP) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564
ซึ่งขณะนี้พบว่างานก่อสร้างมีความล่าช้าจากแผนประมาณ 12 เดือนแล้ว โดยตามเงื่อนไขสัญญากำหนด Key Date การทำงานเป็น 3 ช่วง คือ 1. ครบ 1 ปี หลังจากออก NTP หรือวันที่ 5 พ.ค. 2565 จะต้องก่อสร้างและส่งพื้นที่ถมทะเล ในโซน A จำนวน 3 แสนลูกบาศก์เมตร โดยขณะนี้ผลงานอยู่ที่ 3 หมื่นลูกบาศก์เมตรเท่านั้น คืบหน้าไม่ถึง 10% ขณะที่การเบิกจ่ายเงิน ทำได้เพียง 2% ต่ำกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ 30%
ล่าสุด งาน Key Date ที่ 1 ล่าช้าและเข้าเงื่อนไขบทปรับวันละ 1.5 แสนบาท ซึ่ง กทท.ได้ทำหนังสือแจ้งสงวนสิทธิ์ไปแล้วจนกว่าบริษัทจะส่งมอบงานได้ครบตามสัญญา ซึ่งในกรณีนี้ทางเอกชนสามารถขอใช้เงื่อนไข กรณีที่มีสถานการณ์โควิด-19 แต่ถึงแม้จะไม่โดนปรับแต่ในเรื่องการทำงานจะต้องเร่งรัดเพราะระยะเวลาในสัญญาไม่สามารถขยายได้
ในขณะที่ Key Date ที่ 2 กำหนดไว้ในเดือน พ.ย.2565 ต้องส่งมอบพื้นที่ถมทะเลอีก 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีบทปรับ วันละ 5 แสนบาท และ Key Date ที่ 3 กำหนด ภายใน 2 ปี เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับสัมปทาน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 1 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เข้าดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ลานวางตู้ อาคารสำนักงาน ติดตั้งเครื่องมือ เพื่อเปิดดำเนินการในปลายปี 2568
แหล่งข่าวกล่าวว่า กทท.จะต้องเร่งแก้ปัญหาการก่อสร้างโดยด่วน เพราะจะมีผลต่อสัมปทาน และการสร้างรายได้ไม่เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน และ อาจส่งผลให้เอกชนฟ้องกทท.กรณีไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ได้ตามเงื่อนไข หรือ สุดท้ายอาจต้องเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา ซึ่งทำให้กระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐ
@ราคาเหล็ก-น้ำมันพุ่ง ปรับราคากลางงานอาคาร-ถนนและระบบสาธารณูปโภค กว่า 7 พันล้าน
สำหรับงานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภคนั้น อยู่ระหว่างเตรียมประกาศร่างทีโออาร์ใหม่ หลังจากที่ต้องยกเลิกประกาศก่อนหน้านี้ ซึ่งจากเศรษฐกิจ ปัจจุบันที่มีภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนราคาน้ำมัน เหล็กและวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ต้องปรับเพิ่มวงเงินดำเนินการจาก 6,502 ล้านบาท ขึ้นเป็น 7,100-7,200 ล้านบาท
ส่วนงานที่ 3. งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงิน 600 ล้านบาท และ 4. งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงิน 2,200 ล้านบาท จะต้องทบทวนราคากลางใหม่เช่นกัน โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปลายปี 2565
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 กทท.เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งได้แยกงานโครงสร้างพื้นฐาน การถมทะเล ก่อสร้างท่าเรือมาดำเนินการประมูลเอง แยกจากสัญญาสัมปทานร่วมลงทุน (PPP) การบริหารอยู่ภายใต้อีอีซี ซึ่งแตกต่างจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งผู้รับสัมปทานเป็นผู้ดำเนินการทั้งงานโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารท่าเรือทั้งหมด