xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” คาดเปิด ปท.ดันผู้โดยสารปี 65 พุ่ง 22 ล้านคน เผยคุยแอร์บัสเล็งให้ ทอท.ร่วมทุนปั้น MRO สนามบินโคราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” คาดเปิดประเทศยกเลิก Thailand Pass ดันนักท่องเที่ยวเพิ่ม คาดถึงสิ้นปีทะลุ 22 ล้านคน เตรียมเช็กระบบขนส่งรับผู้โดยสารต่อจากสนามบินเผยเยือนสิงคโปร์ หารือ "แอร์บัส" ยังสน MRO ในไทย ดัน ทอท.ร่วมทุน ปั้นสนามบินนครราชสีมาฮับศูนย์ซ่อมอากาศยาน   

หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศ โดยมีการปรับมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR และ ATK   สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางเตรียมเสนอที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)  ให้พิจารณายกเลิกระบบ Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่ง คาดว่าจะส่งผลให้มีการเดินทางเข้าประเทศเพิ่มนั้น  

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  จากการผ่อนคลายการตรวจ RT-PCR และ ATK และยกเลิกกักตัวของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 พบว่า ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น จาก 8,000 คน/วัน คนเป็น 20,000 คน/วัน ส่วนที่จะมีการยกเลิกระบบ Thailand Pass โดยคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ 1 มิ.ย.  2565  นั้น ก็เชื่อว่า จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มมากขึ้น   โดยคาดการณ์ว่า นับจากวันที่ 1 พ.ค. 2565- 31 ธ.ค. 2565 จะมีการเดินทางเข้าประเทศไทย ทางอากาศประมาณ 22 ล้านคน หรือประมาณ 50% ของปริมาณผู้โดยสารในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในความคิดของตนเห็นว่า ปริมาณผู้โดยสารจะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ประกอบกับจำนวนการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิของไทยลดลง  

ส่วนการรองรับมาตรการเปิดประเทศโดยยกเลิกระบบ Thailand Pass นั้น เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.  ซึ่งบริหาร 6 สนามบินนานาชาติ ได้เตรียมความพร้อมรองรับอยู่แล้ว  โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม คือ การเตรียมความพร้อมของระบบบริการเชื่อมต่อการเดินทาง หลังออกจากสนามบินไป เช่น  รถขนส่งสาธารณะ รถรับจ้างต่างๆ  การบริการของโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไป เพื่อดึงดูดนักเดินทาง นักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย  

โดยก่อนที่จะมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ตนจะเดินทางไปตรวจความพร้อมของสนามบินสุวรรณภูมิรวมถึงระบบบริการ ระบบขนส่ง หลังออกจากสนามบินไปด้วย  

 นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จากที่ตนและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านการบินชางงี 2565 (Changi Aviation Summit 2022) ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการแซนด์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565  พบว่า ประเทศสิงคโปร์ได้มีการผ่อนคลายมาตรการไปมากกว่าประเทศไทยแล้ว  เช่น  เรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ให้จำเป็นเฉพาะเมื่ออยู่ในอาคารเท่านั้น ส่วนด้านนอกอาคารพื้นที่โล่ง ผ่อนคลายไม่บังคับแล้ว แต่ยังให้ความสำคัญเรื่องการฉีดวัคซีนครบโดสและการตรวจล่วงหน้า ซึ่งคาดว่า จะเป็นมาตรฐานเหล่านี้จะมีการนำไปปฎิบัติใช้เหมือนกันทั่วโลก  

            ซึ่งจากการที่ประเทศไทยไทยได้รับการพิจารณาให้ ตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED)  เป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรการด้านสาธารณสุขของไทย และจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข  ได้เสนอต่อที่ประชุมที่บาหลีว่า ต้องการให้ทุกประเทศในอาเซียนใช้มาตรฐานด้านโควิด-19  เป็นมาตรฐานเดียว เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป  

 @หารือ "แอร์บัส" ยังสนลงทุน MRO ในไทย เล็งดันทอท.ร่วมทุน  

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า  เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมาคมเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการของบริษัทแอร์บัสในภูมภาคเอเชียที่ประเทศสิงคโปร์ และได้หารือกันในประเด็นการลงทุน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในประเทศไทย ซึ่งเบื้องต้น ทางแอร์บัส ยังคงสนใจเข้ามาลงทุน แต่ต้องการร่วมลงทุนกับองค์กรของประเทศไทย โดยแอร์บัสระบุว่าไม่ต้องการลงทุนเองทั้งหมด 100% ซึ่ง ทอท.ถือเป็นหน่วยงานทางอากาศของไทย มีความพร้อมในการร่วมลงทุน ซึ่งนอกจากแอร์บัสแล้ว ทางโบอิ้ง ได้แสดงความสนใจการลงทุน MRO ในประเทศไทยเช่นกัน  

อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลในการลงทุน MRO นั้น ไม่เฉพาะแต่ที่สนามบินอู่ตะเภาเท่านั้น แต่ยังมีสนามบินอีกหลายแห่งที่มีศักยภาพ เนื่องจากการศึกษา พบว่า สนามบินหลักอย่างสุวรรณภูมิและดอนเมืองนั้น มีการให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ดังนั้น SLOT จะเน้นหนักไปเชิงพาณิชย์  ดังนั้นกรณีที่จะทำเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการซ่อมบำรุงมากขึ้น ก็ควรจะใช้สนามบินที่มีความพร้อมในการรองรับการทดสอบเครื่องบิน โดยไม่กระทบต่อการให้บริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเห็ฯว่า มีสนามบินหลายแห่งของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่มีศักยภาพ เช่น สนามบินนครราชสีมา เป็นต้น  

“เรื่องนี้ คงต้องพูดคุยในรายละเอียดกับทั้งแอร์บัส โบอิ้ง เพิ่มเติมอีก หากแอร์บัส และโบอิ้ง ต้องการข้อมูล ของสนามบินต่างๆ ของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพในการจัดตั้งเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานได้ ไทยก็พร้อมให้ข้อมูล ส่วนการร่วมทุนนั้น ได้มอบหมายให้ ทอท.ไปศึกษาแล้ว” นายศักดิ์สยามกล่าว 

  

  




กำลังโหลดความคิดเห็น