กรมเจ้าท่าเร่งศึกษาท่าเรือมารีนา "บางเสร่โมเดล" อำเภอสัตหีบ ชลบุรี รองรับเรือสำราญ เผยไทยมี 13 ท่าเรือที่เหมาะพัฒนาท่าเรือยอชต์/มารีนายอชต์คลับ ปี 66 ทำแผนแม่บทภาคใต้ฝั่งอันดามันเป็นฮับท่องเที่ยว
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาและบูรณาการแนวทางการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำ ครั้งที่ 2/2565 เพื่อดำเนินการศึกษาโครงการบางเสร่โมเดล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พิจารณาแนวทางการพัฒนาท่าเรือยอชต์/มารีนายอชต์คลับ และชายฝั่งทะเล ตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำให้เป็นรากฐานสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการการเดินทางด้วยเรือยอชต์ และมีกำลังการใช้จ่ายในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
กรมเจ้าท่า (จท.) มีแผนดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาท่าเรือส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณหาดบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี (โครงการบางเสร่โมเดล) ศึกษาคัดเลือกพื้นที่ในการพัฒนาท่าเรือมารีนา ให้สามารถรองรับเรือท่องเที่ยวเรือสำราญ (ยอชต์) ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) งานเสริมทรายชายหาดป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายหาดบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
โดยแบ่งการดำเนินงานศึกษาโครงการฯ ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 รวบรวมข้อมูลและศึกษาความต้องการของท่าเทียบเรือและชายหาดในพื้นที่โครงการ เพื่อกำหนดตำแหน่งทางเลือก รูปแบบการพัฒนาท่าเรือมารีนา และแนวทางการเสริมทรายชายหาด ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 120 วัน (แล้วเสร็จประมาณวันที่ 22 กรกฎาคม 2565)
ระยะที่ 2 ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ประกอบด้วยงานศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพื่อพัฒนาท่าเรือมารีนา ในช่วงเวลา 150 วัน (แล้วเสร็จประมาณวันที่ 22 สิงหาคม 2565)
และระยะที่ 3 งานออกแบบรายละเอียดการเสริมทรายชายหาดและศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งต้องรอสรุปผลการศึกษาในระยะที่ 2 ก่อนว่ามีความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการฯ หรือไม่
ทั้งนี้ จท.ได้รายงานข้อมูลท่าเรือยอชต์/มารีนายอชต์คลับในปัจจุบัน พบว่าประเทศไทยมีท่าเรือที่เข้าข่ายการเป็นท่าเรือมารีนาจำนวน 13 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 8 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต ยอชต์ เฮเว่น, รอยัล ภูเก็ต มารีน่า, ภูเก็ต โบ๊ท ลากูน, อ่าวปอ แกรนด์ มารีน่า, ท่าเรือสำราญกีฬาอ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต กระบี่ โบ๊ท ลากูน, กระบี่ ริเวอร์ มารีน่า และพอร์ตตะโกลา ยอชต์ มารีน่า แอนด์โบ๊ทยาร์ด จังหวัดกระบี่ ภาคตะวันออก 4 แห่ง ได้แก่ โอเชียน มารีน่า ยอชต์คลับ จังหวัดชลบุรี รอยัลเลคไซด์ มารีน่า จังหวัดฉะเชิงเทรา สยามรอยัลวิว เกาะช้าง และเกาะช้าง มารีน่า แอนด์รีสอร์ท จังหวัดตราด ภาคตะวันตก 1 แห่ง ได้แก่ เอเซอร์ มารีน่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สำหรับแผนงาน/โครงการที่ขอรับการสนับสนุนในปี 2566 เช่น โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) และการพัฒนาท่าเรือชุมชน โครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญกีฬา (Marina) บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย และการพัฒนาฟื้นฟูชายหาด (เสริมทราย)
ในการดำเนินการ ให้คำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชนเป็นสำคัญ ปรับปรุงข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ให้มีความทันสมัยและเป็นระดับสากล ร่วมบูรณาการการดำเนินโครงการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประสาน จท. รวบรวมข้อมูลจำนวนเรือยอชต์ระหว่างประเทศที่เข้า-ออกน่านน้ำไทย รวมถึงความคุ้มค่าของการลงทุนในการสร้างท่าเรือยอชต์/มารีนายอชต์เพิ่มเติม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการประชุมคราวต่อไป