xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.เตรียมพร้อมดันนิคมฯ สู่ “เมืองอุตฯ เชิงนิเวศ” ผ่าน “Green Logistic - Eco School”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดึงเอกชนร่วมสัมมนา Green Logistic และ Eco School ตั้งเป้ายกระดับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
เปิดเผยว่า กนอ.จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาระบบขนส่งสีเขียว (Green Logistic) และหัวข้อแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโค สคูล (Eco School)” เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) โดยในการสัมมนามีการให้ความรู้ผู้ประกอบการในการยกระดับการขนส่งสีเขียวด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ การสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร และการสร้างความน่าเชื่อถือต่อสาธารณะ โดยในส่วนของการจัดการด้านขนส่งสีเขียวสอดคล้องกับเกณฑ์ตัวชี้วัดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Champion ในมิติด้านการบริหารจัดการ และ Eco-Excellence ในมิติกายภาพ

ขณะที่การสัมมนาในหัวข้อ Eco School เป็นการส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมมีความร่วมมือกันส่งเสริมให้เกิดชุมชนเชิงนิเวศ สอดคล้องกับเกณฑ์ตัวชี้วัดระดับ Eco-World Class ในมิติด้านสังคม เพื่อการพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในระดับต่างๆ ประกอบด้วย ระดับ Eco-Champion, Eco-Excellence และ Eco-World Class ต่อไป


ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับให้นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรมและโรงงาน มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการหรือกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย Thailand 4.0 กนอ.มีการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 ท่าเรืออุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 และโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมสามารถสมัครเข้ารับการประเมินได้ที่กองพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ฝ่ายพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โทร. 0-2253-0561 ต่อ 7501 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

สำหรับหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 และโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วย 8 ด้าน ดังนี้ 1. ระบบการจัดการอัจฉริยะ (Smart Water) 2. ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 3. ระบบจัดการสิ่งปฏิกูลที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ (Smart Waste) 4. ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ (Smart Environment Surveillance) 5. ระบบป้องกันด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Safety/Emergency) 6. ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Logistic) 7. ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ (Smart IT) และ 8. อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) สำหรับนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม หรือกระบวนการผลิตอัจฉริยะ (Smart Resource/Process) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น