xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.เผย 6 เดือนแรกงบปี 65 ยอดขาย-เช่าที่นิคมฯ พุ่ง 31.70% แนวโน้มโตต่อ "อีอีซี" เนื้อหอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนอ.เผยยอดขาย-เช่าที่ดินพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกปีงบฯ 2565 โตขึ้น 31.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พื้นที่ใน "อีอีซี" ยังคงเป็นทำเลทองดึงดูดการลงทุน เผยแนวโน้มปัจจัยบวกเพียงมั่นใจยอดขาย-เช่านิคมฯ ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 1,770 ไร่

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 64 -มี.ค. 65) กนอ.มียอดขาย-เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจำนวน 785.33 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 31.70 โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นในโครงการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งทั้ง 4 โครงการมีความก้าวหน้าการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่โครงการต่อเนื่องชัดเจน รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ประเทศไทยทำได้เป็นอย่างดี

ขณะที่แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จึงทำให้นักลงทุนตัดสินใจจอง/ชื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน และนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง โดยยอดการขาย-เช่านิคมฯ ในพื้นที่อีอีซีมีจำนวน 669.73 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซีจำนวน 115.60 ไร่ มีการแจ้งเริ่มประกอบกิจการ และใบขออนุญาตส่วนขยาย 40 ราย เกิดการจ้างงาน 17,905 คน มูลค่าการลงทุนรวม 6 เดือน 59,872 ล้านบาท

“ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินหน้าได้ รวมถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง กนอ.เองมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปีนี้จะมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสูงถึง 177,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงตั้งเป้ายอดขาย-เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในปี 2565 ไว้ที่ประมาณ 1,770 ไร่ ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยพิจารณาการลงทุนปีนี้ที่คาดว่ามีปัจจัยบวกเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย หรือจากองค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ซึ่งพบว่านักลงทุนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มั่นใจการลงทุนในประเทศไทย โดยมีจำนวนถึงร้อยละ 40-50 ที่ตั้งใจขยายการลงทุนต่อในประเทศไทย และอีกร้อยละ 30 ยังคงมีแผนการลงทุนเดิม เนื่องจากมีความมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซีที่เดินหน้าอย่างชัดเจน” นายวีริศกล่าว


ปัจจุบัน กนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 180,082 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมดำเนินการเองประมาณ 37,724 ไร่ และเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานประมาณ 142,358 ไร่ มีพื้นที่ขายและให้เช่าประมาณ 118,667 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ขาย-ให้เช่าแล้วประมาณ 92,174 ไร่ และยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย-ให้เช่าอีกประมาณ 26,493 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสมประมาณ 5.51 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 5,098 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 907,172 คน

โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง ร้อยละ 11.40 2) อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ ร้อยละ 10.65 3) อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม ร้อยละ 9.58 4) อุตสาหกรรมปุ๋ย สี และเคมีภัณฑ์ ร้อยละ 8.84 และ 5) อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ ร้อยละ 8.52 ทั้งนี้ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึงร้อยละ 40 รองลงมาคือ นักลงทุนจากประเทศจีน ร้อยละ 20 และนักลงทุนจากอเมริกา อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 10

สำหรับภาพรวมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 66 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 46 แห่ง (โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ยังไม่เปิดดำเนินการ 6 แห่ง)
กำลังโหลดความคิดเห็น