xs
xsm
sm
md
lg

ปักธง! ประมูลสีแดงต่อขยาย 4 เส้นทาง มิ.ย.นี้ -เร่งสรุป PPP ดึงเอกชนลงทุน 2.2 แสนล้านรับเดินรถ 50 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม”เร่งเปิดประมูลก่อสร้างสายสีแดงต่อขยาย 4 เส้นทางกว่า 6.7 หมื่นล.มิ.ย.65 ตั้งเป้าทยอยตอกเข็มปลายปี 65 เปิดบริการปี 70-71 เตรียมสรุปศึกษา PPP มูลค่ากว่า 2 แสนล.สัมปทาน 50 ปี ประเมิน EIRR 7.7% รัฐลงโยธาและระบบดึงเอกชนเดินรถและซ่อมบำรุง คาดรายได้กว่า 5.8 แสนล.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง วงเงินรวม 67,575.37 ล้านบาทว่า ตามแผนงาน รฟท. จะเปิดประมูลก่อสร้าง 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. มี 4 สถานี เงินลงทุน 6,570.40 ล้านบาท , ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. มี 6 สถานี เงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มี 3 สถานี 6,645.03 ล้านบาท ได้ในเดือนมิ.ย.-ต.ค. 2565 และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลประมูลในเดือนต.ค. 2565 เริ่มก่อสร้างเดือนพ.ย.2565 - ต.ค. 2568

โดยช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน คาดเปิดให้บริการในเดือนม.ค. 2569 ส่วน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน คาดเปิดให้บริการในเดือนม.ค. 2570

ส่วน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานี เงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบ และปรับรูปแบบสัญญา และการย้ายสถานีราชวิถี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ และเร่งนำเสนอครม.ขออนุมัติโครงการ ไม่เกินเดือน พ.ย. 2565 โดยวงเงินลงทุนล่าสุดปรับเป็น 42,039 ล้านบาท ซึ่งตามแผนงาน ช่วง Missing Link จะเริ่มก่อสร้างล่าช้ากว่า 3 เส้นทางแรกเล็กน้อย โดยจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในช่วงเดือนธ.ค.2565-เม.ย. 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 54 เดือน ตั้งแต่ พ.ค. 2566- ต.ค. 2570 กำหนดเปิดให้บริการในเดือนม.ค. 2571 
สำหรับกรณีที่ ช่วงรังสิต-มธ.ยังไม่ผ่าน EIA นั้นขณะนี้ทางม.ธรรมศาสตร์ได้เซ็นยินยอมเรื่องการใช้พื้นที่แล้ว ดังนั้นจะเสนอหนังสือดังกล่าวไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป 


นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในส่วนของการให้เอกชนมาร่วมเดินรถไฟสายสีแดงนั้น อยู่ระหว่างการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) ซึ่งเมื่อโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายครบสมบูรณ์ทั้ง 4 เส้นทาง เชื่อว่า จะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นและมีความคุ้มค่าในการร่วมลงทุน PPP ในส่วนของการเดินรถและซ่อมบำรุง

สำหรับ บริษัท รถไฟฟ้าร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งเป็นผู้เดินรถไฟสายสีแดงในปัจจุบันนั้น ถือว่ามีความพร้อมทั้งคนขับ ขบวนรถ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้เสนอ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในการปรับเพิ่มบทบาทภารกิจของ รฟฟท. ให้สามารถเป็นผู้บริหารการเดินรถหรือ Operator รถไฟสายอื่นนอกเหนือจาก รถไฟฟ้าแอร์พอร์เรลลิงก์ และรถไฟสายสีแดง ตามมติครม. เนื่องจากในอนาคต จะมีระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าเกิดขึ้นอีกหลายสาย ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงในต่างจังหวัด ขณะที่ ปัจจุบันมีผู้ให้ริการรถไฟฟ้าเป็นเอกชน จำนวน 2 ราย และหน่วยงานรัฐ 1 ราย คือ รฟฟท. ดังนั้นหาก รฟฟท.สามารถยกระดับขึ้นเป็นผู้ให้บริการรายที่ 3 ได้ก็จะสามารถไปประมูลแข่งขันในการรับจ้างเดินรถสายอื่นๆ ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติม ให้คนร.เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขวัตถุประสงค์จัดตั้ง รฟฟท.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการให้บริการ รฟฟท.สามารถบริหารการเดินรถได้ดี มีความตรงต่อเวลา เป็นอันดับ 1 ซึ่งรถไฟสายสีแดงยังมีผู้โดยสารน้อย ซึ่งหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ 1 พ.ค. 2565 จะมีการประเมินผลจำนวนผู้โดยสารรถไฟสายสีแดงและประสิทธิภาพในภาพรวมอีกครั้ง ซึ่งตามมติ ครม. ให้เวลา 5 ปีในการพิจารณาประสิทธิภาพ รฟฟท.

@ เร่งสรุป PPP ถึงเอกชนเดินรถสายสีแดงกว่า 2แสนล้านบาท สัมปทาน 50 ปี เริ่มส่งมอบกลางปี 69

วันที่ 28 เม.ย. 2565 นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าฯรฟท. (กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน) เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อหาแนวทางในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการลงทุนรถไฟสายสีแดง และส่วนต่อขยายทั้ง 4 เส้น ทั้งการบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารสถานีกลางบางซื่อและสถานีในโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงตลอดแนวเส้นทาง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน

ซึ่งจะสรุปผลการศึกษา PPP ในเดือนพ.ค. 2565 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะเริ่มเข้ารับดำเนินการเดินรถ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชันได้ประมาณกลางปีใน 2569


โดยนายคณพศ วชิรกำธร ผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาโครงการ นำเสนอว่า โครงการรถไฟสายสีแดง จำนวน 6 เส้นทาง มูลค่าการลงทุนรวม 4.49 แสนล้านบาท ประกอบด้วย งานโยธางานระบบและจัดหาขบวนรถวงเงิน 1.88 แสนล้านบาท, การดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) วงเงิน 2.22 แสนล้านบาท และงานเพิ่มเติมวงเงิน 3.87 หมื่นล้านบาท

แบ่งเป็น เส้นทางที่เปิดบริการแล้ว 2 เส้นทาง วงเงินรวม 1.09 แสนล้านบาท ได้แก่ 1. ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กม. คาดการณ์ผู้โดยสาร 7.2 หมื่นคน/วัน และ 2.ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.3 กม ผู้โดยสาร 2.6 หมื่นคน/วัน

เส้นทางต่อขยาย 1.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท ทางวิ่งระดับดิน มี 4 สถานี ผู้โดยสาร 3 หมื่นคน/วัน, 2.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ 3. สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท มี 7 สถานี ผู้โดยสาร 3.8 หมื่นคน/วัน 4.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือ Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. คาดผู้โดยสาร 6.9หมื่นคน/วัน

พบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 30.96% อัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 7.7 % มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,594 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.05 ซึ่งมีความเหมาะสมในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ (PPP Net Cost) ระยะสัมปทาน 50 ปี (พ.ศ.2569-2619) โดยประเมินผลตอบแทนตลอดอายุสัมปทานมูลค่า 5.81 แสนล้านบาท

โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า ขณะที่เอกชนลงทุนจัดหาขบวนรถ บริการเดินรถ รวมทั้งการบำรุงรักษาและจัดเก็บรายได้ โดยเอกชนต้องชำระคืนค่าขบวนรถไฟสายสีแดงช่วงที่มีการเปิดให้บริการแล้วจำนวน 6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นรูปแบบ PPP Net Cost จะลดความเสี่ยงของภาครัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น