xs
xsm
sm
md
lg

ยันรัฐไม่เสียเปรียบ!แก้สัญญา”ไฮสปีด”สกพอ.-รฟท.แจงปรับเงื่อนไข”สร้างไป-จ่ายไป”ประหยัดงบ1.7 หมื่นล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกพอ.-รฟท.เคลียร์ปมแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน รัฐไม่เสียเปรียบเอกชน เจรจาบนเงื่อนไขสัญญา และกฎหมาย ย้ำยังไม่โอนแอร์พอร์ตลิงก์ รายได้ยังเข้ารัฐ100% พร้อมเร่งสร้างช่วงทับซ้อนรถไฟไทย-จีน ช่วยรัฐประหยัดงบกว่า 1.7 หมื่นล.

รายงานข่าวจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยระบุว่าภาครัฐเสียเปรียบเอกชนคู่สัญญาในหลายประเด็นด้วยกัน ส่งผลให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลโครงการ และ รฟท.ในฐานะเจ้าของโครงการ ได้ร่วมกันชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ประเด็นการโอนและชำระค่าบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) ทางสกพอ. ชี้แจงว่า จากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และรุนแรง ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นภายหลังการลงนามสัญญาโครงการฯ ส่งผลให้รัฐต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ARL ลดลง จากเดิม 80,000 คนต่อวัน เหลือประมาณ 30,000 คนต่อวัน ส่งผลให้เกิดการขาดทุนค่าดำเนินการประมาณ 68 ล้านบาทต่อเดือน โดยยังคงไม่มีแนวโน้มว่าผู้โดยสารจะกลับมาใช้บริการเช่นเดิม

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถให้เงินทุนกว่า 10,000 ล้านบาทแก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อชำระค่าสิทธิค่า ARL ให้ รฟท.ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนตามไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้บริการของ ARL สะดุดหรือหยุดลง รฟท. และเอกชนคู่สัญญาตกลงกันให้เอกชนคู่สัญญาสนับสนุนการเดินรถ ARL เท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิบริหารจัดการและไม่ได้เป็นการส่งมอบ ARL ให้เอกชนคู่สัญญาแต่อย่างใด

โดย ปัจจุบันรายได้จากค่าโดยสาร ARL ยังเป็นของ รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยชำระค่าสิทธิให้รัฐไม่น้อยกว่า 1,183 ล้านบาทต่อปี เมื่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและผลกระทบต่อการดำเนินงานของเอกชนคู่สัญญาสิ้นสุดลง รฟท. ก็จะได้รับชำระเงินค่าสิทธิ ARL ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะส่งผลดีต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการ ARL ได้อย่างต่อเนื่อง และ รฟท. ไม่ต้องแบกภาระการขาดทุนของ ARL ทั้งยังได้รับค่าสิทธิ ARL ครบจำนวนอีกด้วย

สำหรับกรณีการแก้ไขปัญหาทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รฟท. ชี้แจงว่า ได้เจรจาให้เอกชนคู่สัญญา เริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง
ช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ก่อนกำหนดในสัญญา นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มงานก่อสร้างทางวิ่งของโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งจะต้องปรับเพิ่มความเร็วการเดินรถไฟและต้องเปลี่ยนการออกแบบและก่อสร้างจากมาตรฐานยุโรปเป็นมาตรฐานจีน ส่งผลให้มีงานและค่าก่อสร้างเพิ่มจากสัญญาเดิม 9,207 ล้านบาท ซึ่งเอกชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้างเพิ่มดังกล่าวโดยรัฐไม่ต้องเสียงบประมาณในส่วนนี้

ด้วยเหตุนี้ รฟท. จึงชดเชยงานและค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นของเอกชนคู่สัญญา ด้วยการปรับวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน จากเดิมที่รัฐเริ่มชำระหลังงานก่อสร้างทั้งโครงการแล้วเสร็จ เป็นทยอยชำระระหว่างการก่อสร้างและให้เอกชนคู่สัญญาวางหลักประกันสัญญาเพิ่ม ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงการกู้เงินของเอกชนคู่สัญญาลดลง ส่งผลให้เอกชนคู่สัญญาประหยัดค่าดอกเบี้ยลง ซึ่งจะถูกส่งคืนกลับสู่รัฐทั้งหมด ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณไม่น้อยกว่า 17,000 ล้านบาท จากการชำระเงินร่วมลงทุนที่น้อยลงและไม่ต้องจ่ายค่างานก่อสร้างส่วนที่เพิ่มขึ้นมา 9,207 ล้านบาท ที่สำคัญการแก้ปัญหาทับซ้อนช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง จะช่วยให้ทั้ง 2 โครงการสามารถเดินหน้าก่อสร้างและเปิดให้บริการได้ตามกำหนด ประชาชนได้ประโยชน์จากบริการสาธารณะ และช่วยให้รัฐสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ รฟท.ยังได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือถึงประเด็นต่างๆ ที่ได้มีการเจรจากับคู่สัญญาว่า เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาและถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมายหรือไม่อีกด้วย เพื่อให้เกิดความละเอียดรีอบคอบรัดกุม

รฟท. ยืนยันว่า การดำเนินการต่างๆ นี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนโดยรวม และ รฟท. มิได้เพิกเฉยต่อการบริหารงบประมาณ หรือข้อตกลงต่างๆ ที่ต้องเจรจากับเอกชนคู่สัญญา และพยายามดำเนินการในกระบวนการต่างๆ อย่างรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้าน สกพอ. ที่ผ่านมาก็พยายามกำกับดูแลให้โครงการสามารถขับเคลื่อนได้โดยเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ












กำลังโหลดความคิดเห็น