กรณีสนามบินดอนเมืองเกิดเหตุผนังของอาคารผู้โดยสารลานจอดรถรับนักท่องเที่ยว (ATTA) หรือ อาคารกรุ๊ปทัวร์ พังถล่มลงมาเมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 เมษายน 2565 ขณะเกิดฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรง ทั้งที่เป็นอาคารใหม่เอี่ยมที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 โดยอาคารนี้ตั้งอยู่ใกล้กับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 (Terminal1) ด้านทิศเหนือของสนามบินดอนเมือง โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ใช้งบประมาณ 207.11 ล้านบาทในการก่อสร้าง วัตถุประสงค์ต้องการพื้นที่รองรับผู้โดยสาร Group Tour ระหว่างรอตรวจบัตรโดยสาร (เช็กอิน) เพื่อแก้ปัญหาความแออัดคับคั่ง อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1
โดยกำหนดสเปกก่อสร้างเป็นอาคารสูง 4 ชั้น พื้นที่รวม 12,000 ตร.ม. ชั้นล่างเป็นโถงผู้โดยสารขาเข้าและพื้นที่รอขึ้นรถ รวมทั้งมีพื้นที่จอดรถบัส ส่วนชั้นบนเป็นโถงผู้โดยสารขาออกเพื่อพักรอก่อนการตรวจบัตรโดยสารที่อาคาร 1 โดย ทอท.คาดหวังว่าจะทำให้ระดับการให้บริการ (Level of Service) สนามบินดอนเมืองดีขึ้น
ซึ่งหลังเกิดเหตุ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม มีคำสั่งให้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เร่งตรวจสอบสาเหตุโดยด่วน และในวันถัดมา รมว.คมนาคมได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีกำแพงอาคาร Service Hall หรืออาคารกรุ๊ปทัวร์ ท่าอากาศยานดอนเมืองพังถล่ม มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ได้แก่ รองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิศิษฐ์ แสง-ชูโต กรรมการสภาวิศวกร, ผู้แทนสภาสถาปนิก, ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นกรรมการ และมีนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. เป็นเลขานุการ
โดยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง หาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับนำมาเป็นแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต
คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจ คือ
1. ตรวจสอบสัญญาจ้างที่เกี่ยวข้องและแบบรายละเอียด มาตรฐานการก่อสร้างอาคาร Senvice Hall ท่าอากาศยานดอนเมือง และวิเคราะห์ข้อเท็จจริง/สาเหตุของการถล่มของกำแพงอาคารดังกล่าวตามหลักวิศวกรรมและความรับผิดชอบตามมาตรฐานการบริหารงานก่อสร้าง
2. ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น และกำหนดแนวทาง แผนงาน และให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้ ทอท.นำไปกำกับดูแลให้ผู้รับจ้างแก้ไขอาคาร Service Hall ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และปลอดภัยตามมาตรฐานด้านวิศวกรรม โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาประกันผลงานของผู้รับจ้าง หรือในกรณีที่การแก้ไขมีความจำเป็นต้องแล้วเสร็จภายหลังจากระยะเวลาประกันผลงาน ทอท.ต้องมีกระบวนการผูกพันที่เป็นนิติกรรมสัญญาให้ผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขจนแล้วเสร็จ
3. นำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและผลการวิเคราะห์มาถอดบทเรียนและจัดทำคู่มือการก่อสร้าง การบำรุงรักษา การตรวจสอบ และการประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างกำแพงอาคารในลักษณะเดียวกันกับกำแพงของอาคาร Service Hall เพื่อให้ท่าอากาศยานทุกแห่งนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการป้องกันอุบัติเหตุในอนาคต ให้รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายใน 30 วัน
4. ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งให้มีอำนาจเชิญบุคคลมาให้ข้อมูลและเรียกเอกสารหลักฐานต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่
5. ให้รายงานผลการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบและพิจารณาสั่งการ โดยในส่วนของการดำเนินการตามข้อ 1-2 ให้รายงานผลภายใน 14 วัน นับจากวันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง
ด้าน ”นาวาโท รณกร เฉลิมแสนยากร” รักษาการแทน ผอ.สนามบินดอนเมือง ชี้แจงว่า เหตุที่ผนังอาคารบางส่วนพังลงมา เนื่องจากฝนตกหนัก ส่งผลให้รางระบายน้ำอาคารรับน้ำหนักไม่ไหว โดยยืนยันว่าไม่กระทบต่อโครงสร้างหลักของอาคาร ปัจจุบันอาคารยังไม่เปิดให้บริการ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารสนามบินดอนเมืองมีน้อยจากสถานการณ์โควิด-19
อาคารใหม่เอี่ยมแค่เพียงเกิดฝนตกหนัก มีลมพัดแรง ผนังอาคารก็ถล่มลงมาอย่างง่ายดาย...สภาพคานบิดตัวเพราะรับน้ำหนักน้ำฝน สู้แรงลมไม่ไหว คำถามคือ อาคารสนามบินก่อสร้างมาแบบไหนกันแน่...มีอะไรที่ปกปิดไว้หรือไม่
@รับเหมาร้องประมูลไม่โปร่งใส ยื่นสอบพฤติกรรม “บิ๊ก ทอท.” เล่นกลดึงรายที่ 2 ยื่นสูงกว่าราคากลาง เซ็นสัญญา
ทอท.เปิดประมูลโครงการจ้างก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอด ATTA ท่าอากาศยานดอนเมือง งบประมาณ 207.1 ล้านบาท เมื่อเดือน ส.ค. 2561 โดยใช้วิธีคัดเลือก แทนการประกาศเชิญชวนทั่วไป อ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องรีบก่อสร้าง โดยเชิญบริษัทที่ขึ้นทะเบียนผู้ค้ากลุ่มก่อสร้างไว้กับทอท.ให้เสนอราคา กำหนดราคากลาง 191.356 ล้านบาท มีผู้เสนอราคา 2 ราย โดยบริษัท ที เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 190.192 ล้านบาท และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE เสนอราคา 228.575 ล้านบาท
วันที่ 11 มี.ค. 2562 ทอท.ประกาศยกเลิกการจัดจ้าง บริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า บริษัทอันดันที่ 1 ไม่เข้ามาลงนามสัญญาตามกำหนด รวมทั้งจะทำการขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) เป็นผู้ทิ้งงาน และเชิญบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ยื่นราคาลำดับที่ 2 มาเจรจา โดยมีการปรับลดราคาลงมาเหลือ 199.9 ล้านบาท แม้ยังสูงกว่าราคากลาง แต่ก็มีการทำสัญญาจ้างเลขที่ 7C/11-631002 ลงวันที่ 18 พ.ย. 2562-15 เม.ย. 2563 ระยะเวลา 150 วัน
ประเด็นนี้ทำให้ นายทรรศิน จงอัศญากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่งฯ ได้ยื่นหนังสือถึงกองตรวจราชการสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และศูนย์ประสานงานเรื่องราวร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ร้องเรียนพฤติการณ์ของผู้บริหาร ทอท. กรณีใช้อำนาจโดยไม่ชอบเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย กรณี ทอท.มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังแจ้งเวียนให้บริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน โดยไม่ได้เข้าทำสัญญาก่อสร้างอาคารเช็กอินกรุ๊ป (ATTA) นั้น ไม่เป็นความจริง
วันที่ 9 ก.พ. 2564 คมนาคมได้ส่งเรื่องถึง ”นิตินัย ศิริสมรรถการ” ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบ แต่!!! ถึงวันนี้...ยังเงียบกริบ
@พนักงาน ทอท.แฉ "อาคารเอนก-ประสงค์" ผู้บริหารปั้นโครงการหาผลประโยชน์
แหล่งข่าวจาก ทอท.กล่าวว่า พนักงาน ทอท.ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารลานจอดรถ ATTA สนามบินดอนเมือง แต่โครงการนี้เป็นความต้องการของผู้บริหาร ทอท.ในขณะนั้นที่พยายามผลักดัน โดยอ้างว่าต้องเพิ่มพื้นที่บริการผู้โดยสาร เพราะอาคาร 1 แออัดคับคั่งมาก ซึ่งบอร์ดทอท.ที่อนุมัติโครงการ มีนายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และนายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย ในฐานะรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง เป็นผู้เสนอโครงการ
พนักงาน ทอท.จึงมักเรียกอาคารบริการผู้โดยสารลานจอดรถ ATTA หลังนี้ว่า “อาคารเอนก-ประสงค์” ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหมายถึง อาคารที่นายเอนกเป็นผู้ชง มีนายประสงค์เป็นคนอนุมัติ
@เปิดปมสงสัย! จริงหรือ? อาคารไม่มี "เสาเข็ม" อาศัยโครงสร้างเดิมลานจอดรถ วอนเร่งตรวจพิสูจน์ หวั่นอันตรายเสี่ยงเกิดเหตุซ้ำ
แหล่งข่าวจาก ทอท.กล่าวว่า จุดที่ก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสาร หรือขณะนี้ผู้บริหาร ทอท.เรียกว่า อาคาร Service Hall นั้น พื้นที่ดังกล่าวพื้นเป็นลานปูน ใช้สำหรับจอดรถบัส รถทัวร์ ส่วนด้านล่างเป็นที่จอดรถใต้ดินลึกลงไป 1 ชั้น แต่ด้วยเพราะว่ามีการก่อสร้างมานานกว่า 30 ปี โดยเปิดใช้พร้อมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทำให้ไม่มีการยืนยันว่าโครงสร้างของลานจอดรถ ATTA นี้สามารถรับน้ำหนักได้แค่ไหน อย่างไร
เมื่อลานจอดรถ ATTA ไม่มีแบบแปลนเดิม ไม่มีรายการที่ใช้คำนวณอ้างอิงได้ ทำให้วิศวกรผู้ออกแบบตัวอาคารใหม่ไม่มั่นใจเรื่องคำนวณการรับน้ำหนักที่ต้องคำนึงถึงหลักความปลอดภัย เพราะเกรงว่าหากมีผู้โดยสารจำนวนมากภายในอาคารจนเกินน้ำหนัก เสาอาคารใหม่จะเกิดการทรุดตัวได้ ... นี่เป็นข้อกังวลที่วิศวกรของ ทอท.เตือนไว้แล้ว แต่ผู้บริหารที่มีอำนาจในขณะนั้น..ไม่สนใจ
พนักงาน ทอท.รายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้บริหารทอท.ไม่สนใจคำท้วงติงของวิศวกร และเดินหน้าเปิดประมูลโครงการ โดยพบว่า อาคารเช็กอินกรุ๊ป หรือ Service Hall ไม่ได้มีการก่อสร้างฐานรากและเสาเข็มรองรับใดๆ ภาพที่เห็นในการก่อสร้าง ใช้วิธีตั้งเสาเหล็กบนพื้นคอนกรีตและขันนอตยึดเสาเหล็กให้ติดกับพื้นคอนกรีต แล้วเทปูนปิดทับอีกที เท่านั้น
พนักงาน ทอท.ตั้งคำถามว่า สร้างอาคารโดยไม่มีเสาเข็ม ทำได้หรือ แล้วอาคารนี้จะแข็งแรงอย่างไร ผู้โดยสารจะเสี่ยงอันตรายหรือไม่ ต้องเร่งตรงจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้โดยสารเกิดความมั่นใจ
นอกจากนี้ ผนังอาคารซึ่งสูงประมาณ 4 เมตร จากสภาพที่พังถล่มลงมา พบว่าอาจจะไม่มีคานทับหลังและเสาเอ็น ที่ช่วยทำให้เพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของผนัง แม้ผนังอาคารจะใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ผนังอาคารจะพังได้ตลอดเวลา โดยขณะเกิดเหตุมีฝนตกหนัก มีกระแสลม อาจทำให้เกิดแรงดันภายนอกและภายในอาคารไม่เท่ากัน ผนังรับแรงดันไม่ไหว จึงได้พังลง และแรงลมภายในอาคารอาจจะดึงเพดานถล่มตามลงมาด้วยก็ได้
@หลายข้อสงสัย ที่ควรเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและอธิบายต่อประชาชน ไม่ให้เกิดความกังวล
พนักงาน ทอท.กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ ประเด็นข้อสงสัย อยู่ที่ฐานรากของอาคารเช็คอินกรุ๊ป ออกแบบอย่างไร แต่ยังไม่มีการพูดถึง จึงอยากขอให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ รมว.คมนาคมแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิศวกร สภาสถาปนิก เร่งตรวจสอบแบบก่อสร้างอย่างละเอียดว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ รวมถึงสภาพโครงสร้างที่จอดรถใต้ดิน การวางตำแหน่งเสาของอาคารเช็คอินกรุ๊ป ที่ต่อเติมอยู่ด้านบนนั้น ตรงกับตำแหน่งเสาเข็มกับฐานรากของโครงสร้างของลานจอดรถใต้ดินเดิม และมีการยึดโยงกันถูกต้องตามหลักวิศวกรรมความปลอดภัยแค่ไหน อย่างไร
กรณีที่มีคำสั่งให้เร่งซ่อมแซม เพราะยังอยู่ในระยะเวลารับประกันของผู้รับเหมา เท่ากับว่ายังไงจะใช้อาคารนี้ต่อไป ดังนั้นหากไม่พิสูจน์ ไขข้อสงสัยให้เกิดความกระจ่าง จะกลายเป็นการเอาชีวิตประชาชน ชีวิตของผู้โดยสารมาเสี่ยงอันตรายกันหรือไม่ ? เรื่องนี้ควรตรวจสอบและพิสูจน์ให้ชัดเจนก่อน
ที่ผ่านมา ทอท.ใช้อาคารนี้เป็นสถานที่สำหรับฉีดวัคซีนให้พนักงาน และลูกจ้าง รวมถึงผู้ประกอบการที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งต้องบอกว่าถือเป็นโชคดีที่มีสถานการณ์โควิด-19 มาช่วยไว้ จึงทำให้ยังไม่มีการใช้งานอาคารนี้อย่างเป็นทางการ และไม่มีผู้โดยสารในอาคารขณะพังลงมา
เพราะหากเป็นช่วงสถานการณ์ปกติ อาคารนี้คงเต็มไปด้วยผู้โดยสารและทัวร์จีน และการที่มีผู้โดยสารเข้าไปในอาคารจำนวนมาก แล้วเสาเกิดรับน้ำหนักไม่ไหว เกิดการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันอาคารถล่มลงมา คงจะเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรง เป็นข่าวคงดังไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวประเทศไทยแน่นอน
ก่อนหน้านี้ สถาปนิก และวิศวกร ผู้สำรวจ และผู้ออกแบบ คณะกรรมการตรวจรับ ผู้ควบคุมงาน หลายคนได้รับรางวัล เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้อำนวยการท่าฯ รองผู้อำนวยการท่าฯ..ซึ่งคงต้องรอผลตรวจสอบจากคณะกรรมการที่กระทรวงคมนาคมตั้งขึ้นว่า สุดท้ายจะสรุปสาเหตุกำแพงอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอดรถรับนักท่องเที่ยว (ATTA) หรืออาคารกรุ๊ปทัวร์ เกิดถล่มลงมาอย่างไร ที่สำคัญ จะมีการปกปิดข้อมูล หรือไม่ เพราะงานนี้ มีระดับบิ๊ก ทอท.ทั้งอดีตและปัจจุบัน พัวพันหลายคน!!!