การบินไทยผนึกกำลังตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย สร้างความเชื่อมั่น พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดการประชุม “THAI Networking : Discover Brand New Sky” อย่างต่อเนื่อง สำหรับครั้งนี้ได้เชิญตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารที่มีบทบาทสำคัญในตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย เข้าร่วมประชุม โดยมี Mastercard เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ร่วมกับผู้สนับสนุนอื่นๆ ได้แก่ โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ Jim Thompson สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และ ERB โดยมี นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทยฯ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารการบินไทย สายการบินไทยสมายล์ และผู้แทนจากองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ร่วมงาน ณ โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ
บริษัท การบินไทยฯ ได้นำเสนอความคืบหน้าของกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ที่สำคัญ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ เช่น ด้านการขาย การตลาด และการหารายได้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของการบินไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารและพันธมิตรในญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นตลาดที่สำคัญของการบินไทย ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจและประชาสัมพันธ์ความพร้อมของการบินไทยและประเทศไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ดังนี้
• Feasible Products and Improved Services การปรับแบบเครื่องบินและเส้นทางบินที่เหมาะสมสำหรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศ ให้สามารถสร้างรายได้และทำกำไรอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาเส้นทางบินผ่านความร่วมมือกับสายการบินไทยสมายล์และสายการบินพันธมิตร Star Alliance เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการบินไทยมีปริมาณการจองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนเมษายน 2565 มีปริมาณการจองถึง 80-90% ในเส้นทางยุโรป
• Revenue & inventory management การพัฒนาช่องทางการขาย ทั้งช่องทางผ่านตัวแทนจำหน่ายและช่องทางออนไลน์ (Online Travel Agent) เพื่อความสะดวกและสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยกำหนดราคาที่คุ้มค่าและยังสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งสร้างโอกาสทางการขายใหม่ๆ โดยกำหนดเงื่อนไขบัตรโดยสารต่างๆ ให้เรียบง่ายและมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
• Cargo Revenue Lead การเพิ่มส่วนแบ่งในธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศและพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตร ซึ่งคาร์โก้การบินไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคม 2565 สามารถสร้างรายได้สูงกว่าช่วงเวลาดียวกันในปีที่ผ่านมา
• Cost Efficiency Distribution Channels การเพิ่มประสิทธิภาพการขายและการหารายได้ โดยมุ่งเน้นเส้นทางบินที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มยอดขายและสร้างผลกำไรสูงสุด และวางกลยุทธ์ในการขาย นอกเหนือจากเส้นทางบินตรงสู่กรุงเทพฯ แล้ว ยังเน้นการขายกลุ่มผู้โดยสารเดินทางข้ามภูมิภาค โดยใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางในการต่อเครื่อง เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค เช่น จากออสเตรเลีย เอเชียตอนเหนือและตอนใต้ รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สายการบินไทยสมายล์) สู่ทวีปยุโรปและเอเชียตะวันตก สำหรับกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวและกลุ่มลูกค้าตลาดแรงงาน โดยในตารางการบินฤดูร้อน 2565 การบินไทยทำการบินสู่เส้นทางต่างๆ ถึง 34 เส้นทางบิน
• Customer & Marketing
- ความสอดคล้องของผลิตภัณฑ์กับการตลาด การปรับปรุงการให้บริการ โดยมุ่งเน้นแนวทางยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกจุดสัมผัสบน Customer Journey
- มุ่งเน้นการตลาดดิจิทัล เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของลูกค้าในการเข้าถึงบริการของการบินไทยผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่สะดวกขึ้น พัฒนา Content ให้มีความน่าสนใจ รวมถึงการนำฐานข้อมูลลูกค้าแต่ละกลุ่มมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอบริการในลักษณะ Personalize มากขึ้น ตลอดจนบริหารจัดการการใช้งาน Social Media แต่ละ Platform ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้แนะนำบริการใหม่ เช่น สิทธิประโยชน์ที่มากขึ้นของสมาชิกบัตร Royal Orchid Plus โปรแกรมท่องเที่ยว Royal Orchid Holidays การจองอาหารล่วงหน้า พร้อมระบบสารบันเทิงบนเครื่องบิน อีกทั้งร่วมมือกับโครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่พัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการรังสรรค์กาแฟ “Black Silk Blend” กาแฟสูตรพิเศษที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะตัว ซึ่งจะให้บริการผู้โดยสารในชั้นธุรกิจ อันเป็นการมีส่วนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สร้างงาน เสริมอาชีพ