xs
xsm
sm
md
lg

ส่องกลยุทธ์ สู่การเติบโตในอนาคตของ ‘ไทยออยล์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปปรับตัวลดลง โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการเดินทางของประเทศต่างๆ ส่งผลให้เกิดการปรับลดจำนวนเที่ยวบิน รวมถึงความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานที่สะอาด ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความเข้มงวดมากขึ้น

และเหตุการณ์ล่าสุดที่ยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้ อย่างความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ก็เป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เพราะรัสเซียถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่มีสัดส่วนการส่งออกราว 5% ของอุปทานน้ำมันในตลาดโลก และมีกำลังการผลิตมากถึงเกือบ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบด้านบวกต่อธุรกิจกลุ่มโรงกลั่นที่จะได้ประโยชน์จากค่าการกลั่นที่มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปัญหาด้านอุปทานที่ขาดแคลนน้ำมันดิบจากประเทศในยุโรปและจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับสูงขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนของธุรกิจ

โดยผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นน้ำมันและจำหน่ายนํ้ามันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตกว่า 275,000 บาร์เรลต่อวัน และถือเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

แม้ว่าไทยออยล์จะเป็น Big Player และอยู่ในตลาดมากว่า 60 ปี แต่ไทยออยล์ยังมีความยืดหยุ่นสูงพร้อมปรับเปลี่ยนดำเนินธุรกิจไปตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง (Resillence) โดยการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมสู่ธุรกิจปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ การกระจายการเติบโตไปยังธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ธุรกิจที่มีรายได้มั่นคงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงการแสวงหาธุรกิจใหม่เชิงนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตในอนาคต (New S-Curve) รวมถึงการขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาคเพื่อเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น

ไทยออยล์ขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Empowering Human Life through Sustainable Energy and Chemicals’ การสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยอาศัยรากฐานที่แข็งแกร่งจากธุรกิจหลัก พร้อมขยายความเติบโตทางธุรกิจด้วยกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน (3V) ประกอบด้วย

• Value Maximization: Integrated Crude to Chemicals การบูรณาการสร้างคุณค่าสูงสุดให้แก่ทุกโมเลกุลที่ผลิต ตลอดห่วงโซ่คุณค่าปิโตรเลียมถึงปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

• Value Enhancement: Integrated Value Chain Management การเพิ่มคุณค่าให้ธุรกิจผ่านการบูรณาการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อขยายสู่ตลาดในภูมิภาคที่มีการเติบโตสูง

• Value Diversifications: Stable Earnings and New S - Curve การกระจายการเติบโตผ่านการสร้างรายได้ที่มั่นคง และการแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน ไทยออยล์จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 (AGM) เพื่อขอมติเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนรวมไม่เกิน 275,120,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 10 บาท ประกอบด้วย 1) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) จำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น ซึ่งรวมถึงการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของไทยออยล์ตามสัดส่วนการถือหุ้น ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดที่ออกและเสนอขายในครั้งนี้ โดยจะไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้หรืออาจเป็นผลให้ไทยออยล์มีภาระหรือหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ และ 2) ไทยออยล์อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) จำนวนไม่เกิน 35,885,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้ นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังเตรียมขอมติผู้ถือหุ้นเรื่องการจำหน่ายหุ้นสามัญของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) จำนวน 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC หรือ 304,098,630 หุ้น ให้แก่ ปตท. และ/หรือ บริษัท สยาม แมเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 100%

การปรับโครงสร้างทางการเงินครั้งนี้จะทำให้ไทยออยล์สามารถชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ CAP ที่ตัดสินใจลงทุนเมื่อไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2564 และมีอัตราส่วนระหว่างหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Debt-to-Equity Ratio: D/E) ลดลงอยู่ที่ระดับน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เท่า และยังรักษาอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit Rating) อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) ซึ่งจะช่วยให้ไทยออยล์สร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเลียมที่เป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน และโอกาสในการต่อยอดการดำเนินธุรกิจสู่ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจ New S-Curve

สำหรับการเติบโตในช่วง 4 ปีนี้ (ปี 2564-2567) ไทยออยล์คาดว่าจะลงทุนเป็นมูลค่ารวมกว่า 3,431 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการเข้าลงทุนใน 2 โครงการหลัก

โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ตามกลยุทธ์ Value Maximization โดยตั้งเป้าขยายกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และเพิ่มประสิทธิภาพการกลั่นให้สามารถรองรับการผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการใช้พลังงานจากรูปแบบเดิมสู่พลังงานรูปแบบใหม่ (Energy Transition)

โครงการลงทุนธุรกิจโอเลฟินใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ CAP ผู้ผลิตปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้ TOP เข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินได้อย่างรวดเร็ว ตามกลยุทธ์ Value Maximization : Integrated Crude to Chemical และยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนทันที นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการบุกเบิกตลาดในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูง ตามกลยุทธ์ Value Enhancement

การลงทุนในทั้งสองโครงการข้างต้นจะทำให้ไทยออยล์สามารถต่อยอด Value Chain ระหว่างโครงการ โดยไทยออยล์จะส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นของโครงการ CFP เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตปิโตรเคมีให้กับ CAP อีกทั้ง ยังได้ทำสัญญาเพื่อจำหน่ายพอลิเมอร์เรซิน (Polymer Resins) และผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวอื่นๆ ของ CAP อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งความสามารถทางการแข่งขัน การขยายสายการผลิต และเพิ่มอัตราการทำกำไรให้มีประสิทธิภาพ จากการกระจายการลงทุนในธุรกิจที่มีความหลากหลายและปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

หลังจากนี้เชื่อว่าไทยออยล์จะยังมุ่งมั่นในการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียม สู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง พร้อมแสวงหาโอกาสและช่องทางการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve ที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกัน ก็ยังคงให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์ Resilience ที่ต้องพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด สร้างผลตอบแทนทางการลงทุนในระดับชั้นนำ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจเติบโต พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปีอย่างยั่งยืนในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น