จับตาผลผลิตอ้อยไทยโค้งสุดท้ายยังมาแรงทะลุ 91 ล้านตันแล้ว มีลุ้นที่เหลือเพิ่มอีกอาจแตะ 92 ล้านตันหลังเหลือโรงงานหีบ 10 กว่าแห่ง สัญญาณชัดผลผลิตสูงสุดในรอบ 3 ปีเริ่มไต่ระดับสู่ภาวะปกติสมดุลกับอัตราการผลิตของโรงงาน ชาวไร่อ้อยโอดฤดูหีบปี 2565/66 ปุ๋ย สารเคมี น้ำมัน ค่าแรง ส่อดันต้นทุนพุ่งสุด
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อยฤดูผลิตปี 2564/65 ที่ดำเนินมาถึง 121 วันขณะนี้เหลือโรงงานหีบอ้อยเพียง 10 กว่าแห่งจากทั้งหมด 57 แห่งทั่วประเทศ โดยมีอัตราการหีบอ้อยรวม 91 กว่าล้านตันขณะที่อัตราการหีบอ้อยเหลือราว 100,000 ตันต่อวัน ดังนั้นคาดการณ์ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบเมื่อสิ้นสุดการหีบทั้งหมดได้ราว 91.50 -92 ล้านตัน ซึ่งนับเป็นปริมาณการผลิตอ้อยที่เริ่มกลับมาสู่ระดับสูงอีกครั้งในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2562/63
“ปี 2563/64 ปริมาณอ้อยอยู่ที่เพียง 66.67 ล้านตันซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปีเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562/63 แต่ฤดูหีบปีนี้ (ปี 64/65) ถือว่าการผลิตเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติที่ควรจะเป็น และคาดหวังว่าฤดูหีบปี 2565/66 ที่กำลังมาถึงจะนำไปสู่ผลผลิตระดับ 100 ล้านตันขึ้นไปได้เช่นอดีตที่เคยทำไว้ซึ่งจะสอดคล้องกับอัตรากำลังการผลิตของโรงงานที่มีอยู่” นายนราธิปกล่าว
ทั้งนี้ ผลผลิตอ้อยที่ไต่ระดับเพิ่มขึ้นสูงยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องและมีผลต่อน้ำหนักอ้อยที่เข้าหีบ และสิ่งเจือปนค่อนข้างสูงโดยเฉพาะใบอ้อย ประกอบกับระหว่างการหีบอากาศไม่ได้หนาวมากนักจึงมีผลต่อ ประสิทธิภาพการหีบน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ไม่ดีมากนัก ดังนั้นแม้จะมีปริมาณอ้อยที่เข้าหีบค่อนข้างมากแต่ปริมาณน้ำตาลทรายที่ได้คาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ราว 9.80-10 ล้านตัน
นายนราธิปกล่าวว่า สิ่งที่กังวลในฤดูหีบปี 2565/66 ที่กำลังเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกใหม่คือภาวะต้นทุนต่างๆ จะแพงขึ้นมากโดยเฉพาะราคาปุ๋ย สารเคมี ที่ปรับขึ้นสูงกว่าเดิมเท่าตัว และหากราคาปุ๋ยยังไม่มีแนวโน้มลดต่ำลงก็จะยิ่งกระทบหนักขึ้น และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวช่วงปลายปี 2565 ก็ยังต้องติดตามภาวะราคาน้ำมัน ค่าแรงต่างๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้เกษตรกรภาพรวมแม้ว่าระดับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกจะมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงเฉลี่ย 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ก็ตาม
“ต้นทุนการผลิตปี 2565/66 นี้ผมคิดว่าสูงสุดเท่าที่เคยเจอมาเลยเพราะไม่เคยเจอราคาปุ๋ยแพงเช่นนี้มาก่อนขึ้นมาเกินเท่าตัว ไม่รู้ว่าจะลดลงบ้างไหมในระยะต่อไปถ้าลงได้บ้างก็จะช่วยบรรเทาได้ระดับหนึ่ง ส่วนกรณีที่บอกให้ทำปุ๋ยชีวภาพนั้นในแง่ของอ้อยเป็นอุตสาหกรรมไม่คุ้ม ดังนั้นแม้ว่าราคาอ้อยขั้นต้นจะสูงเฉลี่ย 1,000 บาทต่อตันแต่เมื่อเทียบกับต้นทุนก็ไม่ได้หมายถึงเกษตรกรจะได้รับเงินที่สูงขึ้นแต่อย่างใด คงจะต้องติดตามราคาตลาดโลกใกล้ชิดเพราะแม้ว่าจะเกิดสงครามแต่ก็พบว่าหลายประเทศมีผลผลิตเพิ่มขึ้น” นายนราธิปกล่าว