xs
xsm
sm
md
lg

“ลีวายส์” ลุยไทยเอง เลิกระบบตัวแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - บริษัทแม่ลีวายส์ ปรับกลยุทธ์รุกตลาดในไทย เปิดศึกเข้ามาตั้งทีมบริหารลุยเองในไทย ไม่ใช้ระบบดิสทริบิวเตอร์แล้ว ตามกลยุทธ์ DTC พร้อมปรับโฉมสาขาเก่าต่อเนื่อง เปิดหน้าร้านคอนเซ็ปต์ใหม่แล้ว 8 แห่ง

นายซาเมียร์ กุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ลีวาย สเตราส์ แอนด์ โค ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางบริษัทแม่ของลีวายส์ได้ปรับนโยบายการทำธุรกิจในไทยใหม่ ด้วยการเข้ามาดำเนินการเอง 100% ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 หลังจากที่ดิสทริบิวเตอร์รายเดิมได้หมดสัญญาไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565

การเข้ามาทำตลาดเองในไทย เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ลีวายส์เริ่มทำตลาดเอง เช่น สิงคโปร์ ละตินอเมริกา เป็นต้น ส่วนในเซาท์อีสต์เอเชียหลายประเทศก็มีทีมบริหารของลีวายส์เข้าไปบริหาร

"ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจและเป็นตลาดที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งสำหรับลีวายส์"
 


สาเหตุหลักเนื่องจากลีวายส์ต้องการเข้ามาทำตลาดเองเป็นไปตามกลยุทธ์ ไดเรกต์ ทู คอนซูเมอร์ (Direct to Consumer) เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าและเข้าใจในพฤติกรรมลูกค้าอย่างแท้จริงโดยตรง จะได้ทำให้การทำตลาด การออกแบบสินค้า การทำกิจกรรมได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและความต้องการมากที่สุด และสามารจัดกิจกรรมที่เข้าถึงคนไทยได้มากขึ้นด้วย ซึ่งล่าสุดลีวายส์ประเทศไทยเตรียมพร้อมจัดกิจกรรมใหญ่พร้อมกันทั่วโลกเพื่อฉลอง ลีวายส์ครบรอบ 149 ปีด้วยกิจกรรม 501 Day และ the Levi’’s Music Project ที่จะจัดขึ้น

ทั้งนี้ ลีวายส์ได้เปิดชอปหรือหน้าร้านใหม่ๆในไทยแล้วจำนวน 8 แห่ง เช่นที่ เอ็มโพเรียม เซ็นทรัลลาดพร้าวซึ่งจะเป็นสาขาแรกที่มีบริการปรับเปลี่ยนแก้แบบสินค้าได้ด้วย สยามพารากอน เป็นต้น และจะมีการเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่องในปีหน้า รวมทั้งทยอยการปรับโฉมร้านสาขาเก่าให้เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ทั้งหมดด้วย อย่างไรก็ตาม ลีวายส์มีสินค้าในเครือหลายแบรนด์ แต่ยังไม่ได้มีการนำเข้ามาทำตลาดในไทยเต็มรูปแบบเท่าใดนัก ขณะนี้ยังคงมุ่งเน้นแบรนด์ ลีวายส์ เป็นหลัก


โดยกลยุทธ์หลักๆ จากนี้จะเน้นไปที่ 3 เรื่อง คือ 1. การขับเคลื่อนด้วยแบรนด์ลีวายส์ มุ่งไปที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก 2. การเข้าถึงลูกค้าโดยตรง ด้วยช่องทางของเราเอง นำเสนอประสบการณ์และสินค้า บริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า และ 3.  การขยายตลาด แม้ว่าเราจะมีแบรนด์ชั้นนำหลายแบรนด์ เราก็ยังมีโอกาสในการขยายตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งในทุกพื้นที่ทุกประเภท ทุกเพศ และทุกช่องทาง

กลุ่มเป้าหมายของลีวายส์นั้นมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-30 ปี และกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เป็นกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มที่เราได้เจาะตลาด ซึ่งเป็นผู้แสวงหาและผู้รักษาสไตล์ตัวแทนของกลุ่มเจน Z และเจน Y

ทั้งนี้ ลีวายส์จะขยายช่องทางจำหน่ายทุกประเภท ทั้งที่เป็นออฟไลน์สาขาหน้าร้าน และออนไลน์อีคอมเมิร์ซต่างๆ ซึ่งเราได้ปรับโฉมช่องทางโซเชียลมีเดียสำหรับประเทศไทย โดยมีการให้ข้อมูลที่น่าสนใจโดยตรงถึงกลุ่มเป้าหมายสายดิจิทัลของคนไทย ท้ั้งช่องทางไลน์โอเออินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก ลีวายส์ยังคงลงทุนในด้านอีคอมเมิร์ซต่อเนื่อง โดยสร้างผู้ช่วยส่วนตัวให้คำแนะนำสินค้าสำหรับลูกค้าที่ซื้อทางออนไลน์ มีโครงการจัดทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของลีวายส์ และโปรแกรมสิทธิประโยชน์สำหรับลูกค้าสมาชิกในประเทศไทย เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบออมนิแชนเนล ซึ่งยอดขายลีวายทั่วโลกในไตรมาสที่สี่ปี 2564 มียอดขายด้านอีคอมเมิร์ซเติบโตถึง 22%


สำหรับยอดขายของลีวายส์ทั่วโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 เท่ากับ 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ, ปี 2017 เท่ากับ 4.9 พันล้านเหรียญ, ปี 2018 เท่ากับ 5.6 พันล้านเหรียญ, ปี 2019 เท่ากับ 5.8 พันล้านเหรียญ, ปี 2020 เท่ากับ 4.5 พันล้านเหรียญ, ปี 2021 เท่ากับ 5.8 พันล้านเหรียญ สัดส่วนการขายนั้น

จากการที่พยายามขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้นถึงปัจจุบันนี้มีมากกว่า 3,100 สาขา ใน 110 ประเทศทั่วโลก ทำให้สัดส่วนการขายในตลาดต่างประเทศปี ค.ศ. 2021 รวมเป็น 55% จากเดิมในปี ค.ศ. 2016 มีเพียง 49%, สัดส่วนสินค้าที่ไม่ใช่ยีนส์เดนิมเพิ่มจาก 31% เป็น 36%, ยอดขายที่มาจากดิจิทัล จากเดิม 9% เป็น 22% สินค้าผู้หญิงเพิ่มจาก 22% เป็น 33%






กำลังโหลดความคิดเห็น